วินจยย.โอด!ถูกรีดไถทำร้ายคุกคามวอนส่วนกลางช่วย‘วิรุตม์’ข้องใจตร.ไม่รักษากฎหมาย นักวิชาการจวกรัฐไร้น้ำยาจัดการปัญหา
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน2562 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) (IJR) ร่วมกับ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) และ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง”วินจยย.ยกพวกตลุมบอนยิงกันตาย! ปัญหาเกิดจากอะไร?” วิทยากรประกอบด้วย นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย , ผศ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบันฑิต ม.บูรพา ,นายปริญญา ใจปาน นิสิตปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ม.บูรพา ผู้ทำวิจัยเรื่อง “รัฐ เจ้าหน้าที่ ผู้มีอิทธิพล กรณีศึกษาเศรษฐกิจนอกระบบ มอเตอร์ไซด์รับจ้างเมืองพัทยา” ,พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอลัมนิสต์ “เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ” โดยมีนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ผู้ดำเนินรายการ
โดย นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน กล่าวถึงวินจยย.อุดมสุข ถนนสุขุมวิท ที่ยกพวกตะลุมบอนยิงกันจนมีผู้เสียชีวิต2 ราย ว่า วินจยย.อุดมสุข ซอย 1 ซึ่งมีวินอยู่แล้ว แล้วต่อมามีการแยกตัวออกมาจากไม่กี่คัน และขยายเป็น 100 คัน จนมีหลายวินมีเจ้าของเดียวกันวันก่อนเหตุมีการทำร้ายร่างกายที่วินหน้าธนาคาร จนมีการรวมตัวกันทำร้ายกัน ไล่กันเข้าไปในซอย จนน้องที่เป็น Kerry ใส่เสื้อแดง เห็นเหตุการณ์แล้วเข้าไปเปลี่ยนเสื้อ
“ได้มีการถามไถ่ไปยังหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ว่าทำไมจึงปล่อยให้มีวินเถื่อน เป็นวินไม่มีทะเบียนถูกต้อง แต่พวกผมทำทุกอย่างถูกต้อง เมื่อเกิดเหตุที่อุดมสุขคนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ ส่วนวินอื่นๆก็ได้รับผลกระทบในเรื่องภาพพจน์ไปด้วยเราร้องไปยังเขต ขนส่ง และทหาร ต่อมาทหารลงไป แต่พวกเขาสลายตัวหมด อำนาจการจับกุมอยู่ที่เจ้าหน้าที่เมื่อมีปัญหากัน ตามกฎระเบียบตาม พรบ.คุ้มครอง ฯ พูดถึงการห้ามผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องมารับผลประโยชน์ และห้ามไม่ให้มีการตั้งวินทับซ้อนกัน
ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุแบบนี้ แล้วมีตำรวจยืนดู ซึ่งทุกคนก็เห็นตำรวจยืนอยู่ ผบ.ตร. ก็พูดว่าวินทั้งสองวินเป็นวินเถื่อน เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันได้ว่า Udomsuk Effect ทั้งสองฝ่ายยกพวกตีกันใจกลางเมือง แบบนี้ใครจะให้หลักประกันว่าจะไม่เกิดที่อื่น บางคันเจ้าของไม่ได้ขี่เองมีการศึกษาวินมอเตอร์ไซค์ ที่ต้องถามคุณเฉลิม เสื้อวินมีมูลค่า วินที่อยู่บริเวณรถไฟฟ้า เสื้อวินมีมูลค่าหลักแสน ใน กทม. มีประมาณแสนคัน มีเงินหมุนเวียนหลายล้าน เป็นเศรษฐกิจนอกระบบ ที่มีการจ่ายวันละเท่าไหร่ ถ้าสมมุติจ่ายเดือนละ 1,000 บาทต่อคัน ก็จะเท่ากับ 100 ล้าน ถ้าไม่มีกรมการขนส่งทางบกดูแล มีเสื้อปักที่หน้าอก คนที่ดูแลเรื่องใบอนุญาตคือ ตำรวจ ส่วนทหารก็ดูแลด้วย รวมเป็นสี่หน่วยงานหลัก และมีการจ่ายนักเลง
อาชญากรรมแบบจัดตั้ง รัฐไร้น้ำยาจัดการปัญหา
“ถ้าทุกฝ่ายทำถูกต้องก็ไม่ต้องจ่าย นายกฯได้ให้นโยบายเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งแต่มาจนปีนี้ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ปัญหากลับมาเหมือนเดิม น่าเป็นห่วงมากแล้วเราจะทำให้ เศรษฐกิจนอกระบบเข้าเป็นในระบบ กันอย่างไร จำนวนที่วิ่งจริงๆ กับจำนวนที่ลงทะเบียนไม่เท่ากัน บางคนเป็นเจ้าของแต่ไม่ได้ขี่เอง คนที่ทำผิดกลับมาตั้งวินได้ แล้วมีปัญหากับวินที่ถูกกฎหมาย แบบนี้ต่อไปจะไปทำผิดอย่างอื่นก็ได้ หรือคนทำผิดก็จะมาขับรถวินนี้ได้ เราเรียกว่าจะเป็น organized crime หรือการก่ออาชญากรรมแบบจัดตั้ง มันเป็นองค์กรรัฐซ้อนรัฐ แล้วรัฐไร้น้ำยาในการจัดการปัญหานี้”ดร.วิเชียร กล่าว
นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน กล่าวอีกว่า ความจริงจำนวนวินนอกระบบมีอยู่มากกว่าที่ปรากฏเป็นตัวเลข สมัยนายกฯทักษิณมีการปราบวินเถื่อน ซึ่งเดิมวินต้องจ่ายเจ้าหน้าที่ขั้นต่ำ 3,500 – 4,500 บาทต่อเดือน ทางจังหวัดนนทบุรี นอกจากจ่ายค่าเสื้อแล้วยังต้องจ่ายหัวหน้าวินอีก ส่วนทาง กทม.มีปัญหานี้น้อยลง แต่บางคนมีเสื้อวิน แล้วขายต่อให้ญาติพี่น้อง หัวหน้าวินที่ถูกต้องก็จะตักเตือนคนที่ผิดกฎหมาย แต่คนที่เดือดร้อนแล้วมาทำงานก็มีการขอร้องให้ช่วยเหลือกัน เรื่องนี้ควรจะเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก ป้ายเหลืองมี 130,000 คัน แต่มาตอนนี้ลดลงเรื่อยๆ จนป้ายเหลืองค่อยๆหายไป แต่เรื่องนี้คนขับวิน กับคนดูแล มีการสมยอมกัน ทางสมาคมฯพยายามแก้ไข เพื่อให้ win-win กันทุกฝ่าย
“ทั้งสี่กลุ่มเริ่มจากที่ประธาน ที่ขนส่งได้ให้ผ่าน ส่วนเขตจะเป็นผู้รับเรื่องลงทะเบียนใหม่ ตำรวจจะเป็นผู้รับรองว่าลงทะเบียนได้มั้ย ส่วนอำนาจหน้าที่ในเรื่องกลุ่มอิทธิพลก็เป็นหน้าที่หน่วยงานส่วนกลาง ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย เขาให้อำนาจพวกผมมีตัวแทนวินเข้าไปนั่งในกรรมการเขต สมัยก่อนเขาให้พวกผมไปที่บ้านพิษณุโลกซึ่งจะทำให้วินกล้าพูดความจริง แล้วรัฐบาลจะให้กองปราบลงไปดูแลปราบปราม ต่อมามีการถอดพวกเราออกจึงไม่มีการเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความเห็น” นายเฉลิม กล่าว
นายปริญญา ใจปาน กล่าวว่า อดีตที่มีวินมาตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ที่ต้องการให้ขนส่งมวลชนเข้าถึงประชาชนมากขึ้น ขณะที่มีรถสองแถวแต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ การขยายตัวของเมืองก็ไม่มีแบบแผน จุดแรกที่มีวินก็คือที่งามดูพลี ซึ่งมีซอยเข้าไปลึก เมื่อรถสองแถวเลิกวิ่ง คนก็จะเดินทางเข้าไปพื้นที่ยาก จึงให้มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างเริ่มเก็บค่าโดยสารจากสองถึงสามบาท นับแต่นั้นมาก็มีวินกระจายไปทั่ว กทม. แล้วให้ขนส่งทางบกดูแล สมัยนั้นขนส่งฯควบคุมค่าบริการ และควบคุมพฤติกรรมวิน ปี 2548 มีการแบ่งแยกชัดเจนในเรื่องรับส่งผู้โดยสาร และไม่รับส่งผู้โดยสาร พัทยาเป็นเมืองใหญ่ที่ใหญ่พอๆกับ กทม. แต่วินเป็นหลักพันหลักหมื่น ไม่ใช่หลักแสน จึงดูแลง่ายกว่า ฝั่งพัทยาเองก็รอประกาศจากขนส่งที่ดูว่าแต่ละปีจะประกาศให้ขอใบอนุญาตได้เมื่อไหร่
ข้องใจถูกทำร้ายแต่ตร.ไม่บังคับใช้กฎหมาย
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร กล่าวว่า จริงๆ แล้ว รถจักรยานยนต์รับจ้างไม่ใช่เป็นพาหนะที่เหมาะสมปลอ่ดภัย แต่ได้เริ่มมีการนำมาใช้อย่างผิดกฎหมายงแต่ปี 2526 เนื่องจากรัฐไม่พัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ดีและมีมาตรฐาน นำไปสู่การเก็บส่วยของตำรวจ และขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นวิถีชีวิตของประชาชน เลิกได้ยาก ต่อมาก็กลับทำให้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย มีการจดทะเบียน ยังมีเรื่อง จยย.เถื่อนวินเถื่อนเกิดขึ้นอีก
ที่ซอยอุดมสุขมีปัญหาระหว่างวินถูกกฎหมายกับวินเถื่อนมาสองปีแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่า ในซอยนั้นก็เป็นที่ตั้งบ่อนการพนันใหญ่ หัวหน้าวินคนหนึ่งก็เป็นลูกนายบ่อน ไม่เกรงกลัวตำรวจ เพราะรู้ดีว่ามีพฤติกรรมอย่างไร คนขับรถ จยย.แต่ละวินจากหลายที่ที่มาเสวนาวันนี้ล้วนมีบาดแผลจากการถูกทำร้ายทั้งนั้น เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก บางคนถูกตี บางคนถูกแทง ถูกฟันหน้าเป็นรอย ไปแจ้งความคดีก็ไม่คืบหน้า ปัญหาไม่ได้ถูกยับยั้งโดยผู้บังคับใช้กฎหมาย จนเป็นที่มาของการตะลุมบอนกันในที่สุด เมื่อเกิดเหตุชุลมุนแล้ว ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องยับยั้งตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุชุลมุน ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ปัญหาจะไม่บานปลาย
“นายกรัฐมนตรีก็ออกมาพูดว่า จะต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ต้องบังคับใช้กฎหมาย แต่การปฏิบัติมันตรงกันข้าม ใน กทม.มีวินอยู่5,000 วิน มีรถ จยย. แสนกว่าคัน ทั่วประเทศมีสามสี่แสน ประเทศไทยมีปัญหาอาชญากรรมสูงมาก ประชาชนดำรงชีวิตกันด้วยความหวาดกลัว วันนี้เราเชิญผู้เสียหายที่วินรถจักรยานอุดมสุข แต่ก็ไม่กล้ามาเพราะกลัว ซึ่งเป็นเรื่องแปลก ตำรวจส่วนใหญ่เข้าใจ ถ้าใครไม่มาแจ้งความก็ทำอะไรไม่ได้ ทั้งที่การทำร้ายกันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ตำรวจมีหน้าที่ต้องสอบสวนดำเนินคดีทุกราย ประเทศไทยคนทำผิดกฎหมายกินดีอยู่ดี หัวหน้าวินก็มีบ้านหลังใหญ่อยู่อย่างร่ำรวย”
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวอีกว่า อย่างเรื่องคุณป้าทุบรถ ปัญหาก็ไม่ต่างกัน ก็เพราะตำรวจไม่เร่งดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน คุณป้าหมดความอดทนต้องไปจัดการเอง ในที่สุดก็กลายเป็นผู้ร้ายถูกศาลลงโทษจำคุก ๒ เดือนฐานทำให้เสียทรัพย์ ถ้ารัฐทำหน้าที่ คุณป้าก็ไม่ถูกดำเนินคดีถูกศาลลงโทษเช่นนี้
ขณะที่ นายสันติ เลขาสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนตร์ฯ กล่าวว่า ที่เราไม่เอ่ยชื่อตำรวจในวันนี้เพราะกลัวถูกกลั่นแกล้ง เราพูดถึงผู้มีอิทธิพล แต่ยังไม่ได้พูดถึงบริษัท Grab ที่ถือว่ายังผิดกฎหมายอยู่มีสมาชิกสองพันคนป้ายเหลือง และป้ายดำ 4 หมื่นคน ที่ผ่านมาวินเจอตำรวจ ก็แย่แล้ว แต่วันนี้เราเจอทุนข้ามชาติทั้งในและนอกระบบมันยิ่งใหญ่มาก เขามีทุนมหาศาล เขามีเงิน มีสื่อ พวกเราไม่มีอะไร กฎหมายก็ไม่ได้คุ้มครอง ถ้าเราเอากฎหมายมาใช้ ทุกอย่างก็ถูกต้อง บางวินมีหัวหน้ามีอิทธิพลเข้ามา เราก็ต้องเข้าร่วมกับเขา เราไม่มีทุน เราเป็นแรงงานนอกระบบ ถ้าไปกู้ก็ต้องจ่ายดอกร้อยละ 20 ถ้าเรามีปัญหาก็จะไม่เป็นข่าวมากนัก แต่ถ้ามีปัญหากับ Grab เขาก็จะเป็นข่าวทันที
จ่ายรายเดือน ถูกยิง ขอส่วนกลางช่วย
ผู้ร่วมเสวนา ตัวแทนวิน จยย. กล่าวว่า ช่วยผมดูหน่อยว่ารายได้ที่ได้ ต้องจ่ายเงิน แล้วเหลือเท่าไหร่ ผมเคยโดนยิง บางคนก็ไม่อยากคุยกับผม เราร้องเรียนตำรวจ แต่เขาขอหลักฐานว่าผมทำงานวินถูกกฏหมายหรือไม่ และต้องจ่าย 1,700 บาทต่อเดือนต่อคัน ถ้าจ่ายช้าเขาก็ตำหนิผม ผมขอให้สื่อช่วยเปิดโปง หาหลักฐานให้ แต่ก็ไม่ได้เรื่องเท่าไหร่ ผมหาหลักฐานไม่เจอ วินอื่นๆ เช่นบางบัวทอง จ่าย 2,000 บาทจากเดิมสี่พัน เมื่อทหารลงไป เลยมีการลดเหลือสองพันบาท ทั้งหมด 300 คันก็เท่ากับเท่าไหร่ผมพยายามหาแนวร่วมเพื่อให้ทุกอย่างถูกกฎหมาย แต่ในที่สุดก็ไม่กล้า เลยต้องจ่ายไป
“เมื่อทหารหรือตำรวจคอยก่อกวน วินหลายคนก็เลิกงานนี้ไปขายเสื้อ หรือหนีไปทำอย่างอื่น ผมกลัวตายลูกผมยังเรียนอยู่ ผมไม่เอาเจ้าหน้าที่ในพื้นที ขอให้ส่วนกลางช่วยลงไปดูแล เคยร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม ไปสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องโยนไปมา ทุกวันนี้ผมเข้าวินไม่ได้ ไปขับ Grab แต่ก็ทำอะไรไม่ได้”วิน จยย. กล่าว
ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล กล่าวอีกว่า เราต้องยอมรับว่าวินเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนเมืองไปแล้ว ถ้าไม่มีวินคนไทยก็จะเดือดร้อน เรื่องวิน จยย.กับ Grab แท็กซี่ที่ฮ่องกงก็เคยตีกันมาแล้ว แต่แปลกครั้งนี้ผู้ว่า กทม.ไม่ได้ออกมาพูดอะไรเลย ใครที่อยากจะลงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาคุยกัน เสื้อวินแพงเพราะมันทำให้มีรายได้ มันจึงมีมูลค่า ราคาเสื้อบางที่แพงกว่าที่อื่นๆ จึงถามว่าจุดสมดุลอยู่ที่ตรงไหน จำนวนคนกับจำนวนรถของวินสมดุลหรือไม่ และพวกเขาต้องเจอกับนักเลงในวินและนอกวิน ทั้งนักเลงในกฎหมายและนอกกฎหมาย แล้วยังมีทุนระดับโลกเข้ามาแข่งอีกดังที่กล่าวกันว่าเมื่อทหารหรือตำรวจลงมาตรวจ วินเถื่อนก็หายหมด
“เขารู้ไม่ใช่ไม่รู้ ประชาชนต้องแบกรับต้นทุน ถ้าตัดเงินที่ต้องจ่ายผู้ทรงอิทธิพลออกไปได้ ค่าโดยสารก็จะถูกลง หรือการบริการก็จะดีขึ้น มันเป็นเรื่องคนไม่ทำตามกฎหมายไม่กี่คน วินทุกวินจะมีเจ้าของเสื้อขี่เองและไม่ขี่เอง แต่มีการกล่าวว่าตำรวจเป็นเจ้าของวินด้วย เมื่อย้ายที่ทำงานก็ขายเสื้อไป ตำรวจไม่ได้ขับรถวินเอง แต่ได้ค่าเช่า จริงหรือไม่ ท่านพูดว่าพึ่งโรงพักไม่ได้ต้องให้ส่วนกลางมาจัดการ แล้วชาวบ้านทำอะไรได้ล่ะ” ดร.วิเชียร กล่าว
เงินหมุนเวียน7หมื่นล้านบาทต่อปี
นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน กล่าวว่า เงินที่ได้มาโดยไม่ถูกต้องถ้าไม่มีคนที่อยู่ในกฎหมายถือให้ก็อยู่ไม่ได้ มีการทำวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดบอกว่าขนส่งที่ใหญ่สุดคือวินมอเตอร์ไซค์ ให้บริการประชาชนสิบล้านคน คนที่วิงวันนึง 50 เที่ยว หาเงินให้ครอบครัวเป็นเงินหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์ ปีหนึ่งหมุนเวียน 7 หมื่นกว่าล้านบาท รัฐไม่ทำอะไรให้อะไรดีขึ้น วินที่ดีทำประโยชน์ให้สังคมมากมาย ไฟไหม้ งูเข้าบ้าน ก็ถูกเรียกให้ไปช่วยเหลือประชาชน เราต้องมองมุมดีๆของพวกเขากันบ้าง และให้คนทราบด้วยว่าวินเป็นขนส่งที่รัฐไม่เหลียวแล
นายปริญญา ใจปาน กล่าวว่า เห็นด้วยว่าวินได้ช่วยเหลือเศรษฐกิจ แต่ผมสนใจการบังคับใช้กฎหมาย ตร.โยนให้ ขนส่ง โยนให้ศาลปกครอง จะเห็นว่ากฎหมายเราเติบโตตามสถานการณ์ไม่ทัน ไม่พัฒนาตามเมืองที่ขยายขึ้น
ผู้เข้าร่วมเสวนา นายสามารถ กล่าวว่า ผมดูแลวินบางกรวย ผมเผชิญกับนักเลงหัวไม้ เป็นวินผีตัดเสื้อมาใส่เอง ผมเคยถ่ายรูปให้ตำรวจ ปากทางมีการจอดของวินผี จะมีผลเมื่อตำรวจตั้งด่าน ผมทำงานออกตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้เพราะมีข้อมูลอยู่ในมือ ตอนนี้ไม่มีการจัดเก็บค่าคุ้มครอง มีผู้การคนหนึ่งทำเป็นชมรมเก็บคนละร้อย สมัยก่อนการให้ข้อมูลข่าวสารไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีมือถือ
ผู้เข้าร่วมเสวนา อีกคน กล่าวว่า ผมถูกคุกคามตลอดเวลา ถูกถีบรถบ้าง แกล้งเบรกให้รถชนบ้าง เคยโดนระเบิด หรือรุมตี โดนฟัน และบางครั้งเขาไม่สนใจผู้โดยสารที่นั่งมาด้วยว่าจะเป็นอะไรหรือไม่ เราพยายามเป็นวินที่ดี ไม่ด่าผู้โดยสาร แต่วินเถื่อนก็มีมากขึ้น เราไม่อยากมีปัญหา สิ่งที่เจ็บปวดมากสุดคือพอไปโรงพัก ตำรวจก็ไม่ชอบหน้าเรา ไม่อยากรับแจ้งความ เขาตั้งชื่อเป็นวินเรา MRT เพชรบุรี 1 และต้องถามว่าตำรวจเขารู้กันหรือไม่ ทำไมเราไปแจ้งความที่โรงพักทีไรเราก็จะถูกคุกคามทุกที
ขนส่ง ตร. เขต ปกครอง ทหาร ต้องร่วมกันแก้
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ผมรู้สึกหดหู่มาก ทุกคนมีบาดแผลถูกฟันถูกตี ตำรวจไม่ยอมเอาคู่กรณีมาแจ้งความ จนวินต้องจ้างทนายมาสู้ เรื่องนี้ตำรวจและศาลเองก็มักจะไกล่เกลี่ย จนวินต้องยอมความกันไป ศาลก็มักจะขอให้ขอโทษกันไป เรื่องนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ตำรวจควรจะจัดการได้ พวกวินเถื่อนที่ให้การดูแลตำรวจได้เอาเขามาเป็นพวกมีเงินมากหน่อยก็อยู่ได้ วินที่อุดมสุขเขาพึ่งตำรวจไม่ได้ เลยยิงกัน ตำรวจไม่ระงับเหตุแต่แรกเลยบานปลาย วินบางคนมีมีดมีไม้พกไว้ในตัวเพราะต้องป้องกันตัว และยังมีอีกหลายกรณีที่คอยการประทุกันอยู่ จึงไม่แปลกที่ตัวแทนที่อุดมสุขไม่กล้ามาพูดที่สมาคมนักข่าวฯ
ผู้เข้าร่วมเสวนารายหนึ่ง กล่าวว่า พวกวินเห็นด้วยว่าต้องแก้กฎหมาย แต่ต้องไม่ได้แก้กฎหมายไปเอื้อให้นายทุน บางทีเราไปประชุมที่ค่ายทหารเขาพยายามบังคับใช้กฎหมาย แต่มันเปิดเผยไม่ได้ ใครที่อยู่ฝ่ายเขาก็ปลอดภัย แต่ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามก็จะเล่นงาน
นายเฉลิม กล่าวว่า เราจะเห็นว่าประเทศไทยมันอยู่ยาก ประชาชนกับวินเคยอยู่กันอย่างพี่น้อง การจะให้เราอยู่กันอย่างสงบสุขก็ต้องให้ความเป็นธรรม
ดร.วิเชียร เสนอว่า ควรหาทางออกที่ดีกว่าเดิม ไม่ใช่อยู่กับระบบอุปถัมภ์ที่ไม่คำนึงถึงประชาชน เราไม่ควรมองวินแยกจากประชาชน ขนส่ง ตำรวจ เขต ปกครอง ทหาร ต้องทำงานร่วมกัน เราต้องอยู่กับมันต่อไป
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราไม่เคยมีตำรวจมาฟังความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อแก้ปัญหา การนิ่งเงียบของตำรวจจะไม่ทำให้อะไรดีขึ้น