ประเด็นทางกฎหมาย กรณี ‘อาต่าย’ กับ ‘หลานพีช’

ประเด็นทางกฎหมาย กรณี ‘อาต่าย’ กับ ‘หลานพีช’
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัจจุบันผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในความสับสนต่อปัญหาสารพัดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หลักความยุติธรรม” ที่สั่นคลอนและกำลังเดินไปสู่ความพินาศอยู่ทุกขณะ!
ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติไม่เชื่อถือเชื่อมั่นว่า ความยุติธรรมมีอยู่จริงในประเทศไทย ที่บอกว่าเป็นรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมานานเกือบร้อยปี
คนจำนวนมากเชื่อว่า ถ้ามีเงินและมีอำนาจ จะละเมิดกฎหมายไทย ทำให้ตนและครอบครัวแม้กระทั่งบริวารมีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่นอย่างไรก็ได้
ไม่จำเป็นต้องเคารพกฎหมายให้เสียเวลาเหมือนคนทั่วไป
คนที่ศาลชี้ว่ากระทำความผิดทางอาญา พิพากษาลงโทษให้จำคุกถึงแปดปี
แต่ไม่ต้องติดคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียวเช่นนักโทษทั่วไปก็ยังมีให้เห็นได้อย่างแสนประหลาด
ไม่มีชาติใดในโลกสามารถทำได้เหมือนประเทศไทย!
เรื่อง อาต่าย กับ หลานพีช ที่กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในสังคมขณะนี้ กรณีขับรถชนรถลุงกับป้าบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเขตอำเภอลำลูกกา
เพราะว่าหลานพีชต้องการให้ลุงหยุดรถลงมาพูดคุยกันเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลังขับออกจากด่านเก็บเงิน
ประเด็นในเรื่องนี้คือ ใครทำผิดกฎหมายอะไรมาตราใดบ้าง?
ต้องยอมรับว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากออกแบบเครื่อง หมายจราจรที่บกพร่อง!
โดยหลักวิศวกรรมจราจร ช่องทางตรงของรถลุงหลังจากออกจากด่านเก็บเงิน จะต้องแล่นไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยตามเส้นประสีขาวที่กำหนดไว้
เปรียบเสมือนเกราะคุ้มครองสิทธิการใช้ทางของรถทุกคัน
ไม่ใช่รถทางหลักแล่นมาดีๆ แต่ปรากฏว่าช่องทางของตนได้หายไป!
ทำให้ต้องตัดสินใจเปลี่ยนเลนไปทางใดทางหนึ่งอย่างกะทันหันและอันตรายทั้งสองด้านเช่นนี้
ช่องทางที่มีกลายเป็นสิทธิของรถจากด้านข้างที่วิ่งไขว้มา ก่อให้เกิดปัญหาอุบัติเหตุได้ง่าย
อย่างไรก็ดี เมื่อมีกรณีรถชนกันเกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ตามกฎหมายในการ หยุดรถ และแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน รวมทั้งให้การช่วยเหลือกันและกันตามสมควร
เป็นไปตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 ที่บัญญัติไว้ว่า
ผู้ใดขับรถหรือควบคุมสัตว์ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถหรือสัตว์ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อตำรวจที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ควบคุมสัตว์หลบหนีไปหรือไม่แสดงตัวต่อตำรวจ ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิดและให้ตำรวจมีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่ จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อตำรวจภายในหกเดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้จากการกระทำผิดหรือเกี่ยวกับการกระทำผิด และให้ตกเป็นของรัฐ
ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 78 มีโทษตามมาตรา 160 มีโทษจำคุกถึงสามเดือน
ถ้าการไม่ปฏิบัติตามนั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย มีโทษจำคุกถึงหกเดือน
กรณีดังกล่าวเป็นที่เข้าใจและรู้กันในหมู่ประชาชนว่าเป็น การชนแล้วหนี นั่นเอง
จากภาพที่ปรากฏ ต้องยอมรับว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุในครั้งแรก ไม่ว่ารถจะโดนกันและลุงทราบเหตุหรือไม่
แต่ลุงไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายในการหยุดรถแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานทันที
ส่วนกรณีที่อาจอ้างว่าไม่ทราบ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?
ส่วนในกรณีที่ “หลานพีช” ขับรถตามไปไล่ดักหน้าดักหลังหวังให้ลุงหยุดรถ และสุดท้ายได้หักรถเข้าไปชนรถลุงจนเสียหายและเสียหลัก ทำให้ทั้งลุงกับป้าได้รับบาดเจ็บสาหัส
เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้ทำเช่นนั้น แม้อาจจะอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิในทรัพย์สินของตนก็ตาม
ทำให้หลานพีชมีความผิดฐาน “ทำร้ายร่างกาย”
แม้ไม่ได้เจตนา แต่ก็ถือว่า “เล็งเห็นผล” อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือแม้กระทั่งตายได้
ตามหลักกฎหมายอาญา มาตรา 59
มีโทษตามมาตรา 297 จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี
สรุปว่าลุงกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ข้อหาขับรถประมาท เป็นเหตุให้โดนรถอื่นเสียหาย เพราะขับรถทับเส้นแนวแบ่งช่องเดินรถ ซึ่งเป็นข้อห้ามตามมาตรา 43 (6) เพราะช่องทางนั้นได้กำหนดไว้ให้รถที่มาจากด้านข้างแล่นได้อย่างปลอดภัย?
โดย อำนาจของเครื่องหมาย ลุงจะเปลี่ยนช่องทางไม่ได้ตราบที่ยังมีรถอื่นแล่นมาในช่องทางนั้นและไม่ปลอดภัย
ส่วนประเด็น อาต่าย ไปงานบวช หลานพีช ทำให้เขามั่นใจในการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย
แต่พอเกิดเหตุ อาต่ายก็บอกว่าไม่ได้รู้จักมักคุ้นหรือนับญาติด้วยแต่อย่างใด!
ทั้งหลานพีช คุณพ่อ คงบ่นให้ใครฟังดังๆ หรือไปต่อว่าอะไรไม่ได้
สะท้อนว่า ประเทศไทยเป็น สังคมหน้ากาก
คนจำนวนมากไปงานวันเกิด งานบวช งานแต่ง แม้กระทั่งงานศพ โดยไม่รู้จักเจ้าภาพหรือแม้กระทั่งคนตายเลยก็มี
เพราะเจตนาที่แท้จริงก็เพื่อจะได้ไปใกล้ชิดคนมีอำนาจหรือมีเงิน หวังพึ่งพาอาศัยประสานประโยชน์กันในอนาคตต่อไป
การที่ ผบ.ตร.บอกว่า ได้สั่งให้ตำรวจดำเนินคดีนี้อย่างเต็มที่ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพูดเช่นนี้ เหมือนหลายๆ กรณีที่นายพลตำรวจประเทศไทยชอบพูดกันให้ฟังน่ารำคาญ
เพราะกฎหมายทุกฉบับต้องทำงานโดยเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเป็นอัตโนมัติ
ไม่ต้องมีใครสั่งหรือย้ำ ให้ทำอย่างจริงจังหรือไม่จริงจังแต่อย่างใด!
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 21 เม.ย. 2568