กระบวนการยุติธรรมวิปริต ได้รับหมายเรียก ‘เป็นพยาน’ แต่ ‘ถูกค้นบ้าน

 

กระบวนการยุติธรรมวิปริต ได้รับหมายเรียก ‘เป็นพยาน’ แต่ ‘ถูกค้นบ้าน’!

 

                                                                          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เวลานี้ผู้คนในสังคมรวมทั้งชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวหรือพักอาศัยได้ประสบปัญหาความไม่เชื่อถือไม่เชื่อมั่นต่อ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ในทุกขั้นตอนอย่างร้ายแรง

ตำรวจ ผู้มีอำนาจควบคุมงานสอบสวน ทุกระดับส่วนใหญ่ แม้กระทั่งชั้นนายพลที่เรียกกันว่าเป็น “นักสืบ” หรือ “มือปราบ” หลายคนไม่มีความรู้และความเข้าใจทางกฎหมายเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่

ไม่มีจิตสำนึกเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน

บางคนมีพฤติกรรมไม่ต่างจาก โจรร้ายในเครื่องแบบผู้รักษากฎหมาย

ใช้อำนาจกันตามอำเภอใจ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนสารพัด

ตั้งแต่ การสั่งให้ตำรวจผู้น้อย “ตั้งด่าน” คอยดักตรวจค้นสร้างความหวาดหวั่นให้ประชาชนโดยไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำผิดกฎหมายในเรื่องใด พูดตอบอธิบายไม่ได้!

ตำรวจผู้ใหญ่ สามารถใช้อำนาจสอบสวนทำลายพยานหลักฐาน”ล้มคดี” ช่วยผู้กระทำผิดไม่ให้ได้รับโทษอาญา

หรือมี การสอบสวนยัดข้อหาสารพัด ให้ประชาชน เพื่อให้วิ่งเต้นและส่งส่วยหรือสินบนตามที่ตกลง

ทำกันมานาจจนทำให้นายพลตำรวจหลายคนมีฐานะร่ำรวยเข้าขั้นเศรษฐี ตัวเองและลูกเมียมีชีวิตหรูหราต่างไปจากข้าราชการผู้สุจริตทั่วไป

คดีแตงโม จนกระทั่งป่านนี้ ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าเธอประสบอุบัติเหตุตกเรือจมน้ำตาย หรือว่ามีใครทำร้ายหรือถูกฆ่าตายตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังพยายามสืบหาพยานหลักฐานใหม่กันแน่!

แม้แต่ วุฒิสมาชิกผู้ทรงเกียรติกว่าหกสิบคน ก็ยังถูกรายงานว่าเป็น แก๊งอั้งยี่ ซ่องโจร

เนื่องจากได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา

กำลังจะถูกดำเนินคดีโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งผู้รับผิดชอบ ส่วนใหญ่หลายระดับเคยเป็นตำรวจมาก่อน เช่นเดียวกัน!

เพื่อให้กลุ่ม วุฒิสมาชิกตัวสำรองอีกพวกหนึ่งซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องได้เลื่อนขึ้นไปเป็นแทน

ถ้าหากเรื่องนี้ได้มีการกระทำตามข้อกล่าวหาจริง ก็ไม่รู้ว่าแก๊งอั้งยี่ได้ผ่านกฎหมายของประเทศไปแล้วกี่ฉบับ!

เมื่อสามสี่วันก่อน ได้มีกรณีนายพลตำรวจกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี ได้ ยกกำลังตำรวจทั้งแต่งและไม่แต่งเครื่องแบบนับสิบคน

ไปส่ง หมายเรียกพยาน ให้นักข่าวสาวเพจสถาบันทิศทางไทย (The critic) คนหนึ่งถึงบ้าน

แม้ตำรวจจะบอกว่าเป็นการทำตามหน้าที่ แต่คงหนีไม่พ้นที่จะถูกผู้คนมองว่าแฝงเจตนาใช้อำนาจตามกฎหมายทำให้สื่อและประชาชนเกิดความหวาดหวั่นในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมทั้งผู้คนที่เป็นพวกเดียวกัน

เพราะ ข้อเท็จจริงยังมีการกระทำผิดอาญาอีกมากมายที่ประชาชนไปแจ้งความร้องทุกข์แล้วตำรวจไม่ยอมสอบสวนรับเลขคดีเข้าสารบบตามกฎหมาย

หรือไม่ได้กระตือรือร้นในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำผิดให้ผู้เสียหายผู้ไปร้องทุกข์ด้วยความรวดเร็วเช่นการดำเนินการคดีนี้แต่อย่างใด

ตำรวจส่งหมายเรียกพยาน ให้นักข่าวสาวเสร็จ

ก็ตามมาด้วยการแสดง หมายค้นบ้าน ไปพร้อมกัน!

ท่ามกลางความงงงันทั้งตัวเธอและผู้คนว่า พยานคือพลเมืองดี ที่รู้เห็นการกระทำผิดทางอาญาตามที่มีการกล่าวหาอย่างหนึ่งอย่างใดมิใช่หรือ?

แต่ทำไมจึงถูกค้นบ้านเหมือนเป็นคนร้ายผู้กระทำผิดกฎหมายในเวลาเดียวกันไปได้?

ซ้ำยังถูกนำตัวไปที่ทำการของพนักงานสอบสวน โดยอ้างว่าเป็นการ เชิญไปด้วยความสมัครใจ

เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ หรือแท้จริงเป็นการไปด้วยความจำใจ?

เรื่องการเชิญบุคคลให้ไปสถานีหรือที่ทำการตำรวจไม่ว่าหน่วยใด เป็นเรื่องที่มีปัญหาประชาชนคาใจมานานว่า ทุกคนต้องทำตาม การเชิญแบบวิปริต นั้นด้วยหรือ

และถ้าบอกว่าไม่รับเชิญจะได้หรือไม่?

เพราะพฤติกรรมทั้งการค้นบ้านและการเชิญ ล้วนแต่ทำให้ผู้คนที่พบเห็นเข้าใจผิดว่าบุคคลนั้นถูกควบคุมตัวไปเนื่องจากได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญาอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น

ตำรวจประเทศไทยออกหมายเรียกบุคคลเป็นพยาน หรือ แม้กระทั่งเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา กันแสนง่าย ไร้การตรวจสอบควบคุมให้มีมาตรฐานการปฏิบัติอย่างแท้จริง

อย่างหมายเรียกนักข่าวสาวเป็นพยาน แต่ในเอกสารกลับระบุว่าเธอ ได้ถูกกล่าวหา

และไม่ทราบว่า เธอถูกตำรวจใช้อำนาจตรวจค้นบ้านในฐานะอะไร

ถ้าส่งหมายเรียกให้เป็นพยาน ก็ต้องรอเวลาให้ไปตามนัดหมายและได้รับเกียรติได้รับความสะดวก

ทุกคนที่ได้รับหมายก็ไม่จำเป็นต้องไปตามนัดเสมอไปจนเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายต่อชีวิตเช่นที่กระทำกันทุกวันนี้แต่อย่างใด

แม้แต่ หมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา

ก็ต้องได้รับการปฏิรูปด้วยการแก้ไขกฎหมาย ให้ออกได้โดยอำนาจหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีเป็นผู้ลงลายมือชื่อเท่านั้น

ทั้งต้องมีข้อความชัดเจนว่า เขาได้กระทำผิดข้อหาตามกฎหมายอะไร มาตราใด วันเวลาและสถานที่ใด มีพฤติการณ์การกระทำผิดที่อธิบายให้เข้าใจได้อย่างไร

เพื่อที่บุคคลผู้ถูกกล่าวหาตามหมาย จะได้เตรียมพยานหลักฐานนำไปประกอบคำให้การในวันที่ไปรับทราบข้อหาตามหมายเรียกได้อย่างถูกต้อง.

ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 24 ก.พ. 2568

 

About The Author