‘ไฟใต้’ ดับได้ด้วย ‘ยุติธรรม’ และ ‘ความจริงใจ’ไม่ ‘จิงโจ้’ ของรัฐบาล
‘ไฟใต้’ ดับได้ด้วย ‘ยุติธรรม’ และ ‘ความจริงใจ’ ไม่ ‘จิงโจ้’ ของรัฐบาล
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เป็นอันว่า คดีตากใบ เจ้าพนักงานรัฐทั้งพลเรือน ตำรวจและทหารรวม 14 คน ถูกทั้งผู้เสียหายและอัยการฟ้องคดีอาญาข้อหา ฆ่าคนตายโดยเจตนา แบบ เล็งเห็นผล เพราะขนย้ายบุคคลผู้ถูกจับควบคุมตัวขึ้นรถไปแล้วถึงแก่ความตายถึง 78 ชีวิต
เป็นอันขาดอายุความ 20 ปีไปในเที่ยงคืนวันที่ 25 ตุลาคม 2567
เนื่องจากไม่มี ตำรวจ แม้แต่ผู้ที่เรียกกันว่าปรมาจารย์นักสืบหรือมือปราบคนใด สามารถสืบจับตัวใครตามหมายศาลมาส่งให้อัยการได้ฟ้องตามข้อกล่าวหาแม้แต่คนเดียว!
ในทางกฎหมาย คดีนี้จึงไม่มีใครสามารถดำเนินการอะไรไม่ว่าในทางอาญาและแพ่งกับผู้กระทำผิดทุกคนได้อีกต่อไป ชั่วนิรันดร์!
คำถามสำคัญก็คือ คดีที่มีผู้ถูกกระทำให้ตายระหว่างอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงานรัฐจำนวนมากมายขนาดนี้ มีตัวเจ้าพนักงานผู้กระทำและผู้รับผิดชอบตามกฎหมายชัดเจน
กลายเป็นคดีที่ขาดอายุความไปได้อย่างไร?
สาเหตุเป็นเพราะตำรวจไทยใช้เวลา “ไม่สอบสวน” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ดองคดี” ไว้อย่างยาวนานเกือบ 20 ปี
จึงเพิ่งมีการส่งสำนวนให้อัยการสั่งคดีเมื่อเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน ทำให้ไม่สามารถจับตัวใครมาฟ้องให้ทันได้ภายในอายุความ
ทั้ง น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรี และผู้มีอำนาจรัฐหลายคนได้ พร่ำพูดกันแต่ว่ารู้สึกผิดหวังและเสียใจ?
ซ้ำแสดงออกให้ผู้คนเข้าใจว่า รัฐบาลได้ใช้ความพยายามในทุกวิถีทางแล้ว แม้แต่ความคิดในการออกพระราชกำหนดขยายอายุความคดีนี้ออกไป แต่ติดขัดปัญหาทางกฎหมายที่ไม่สามารถทำได้จริงๆ
เป็นความ จริงใจ หรือ จิงโจ้ กันแน่!
ผู้คนทั้งประเทศโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่โง่เขาล้วนมองออกว่า รัฐบาลจริงใจในการดำเนินคดีตามจับตัวผู้กระทำผิดทุกคนมารับโทษตามกฎหมายบ้านเมืองจริงหรือไม่?
การออกข่าวว่าตำรวจได้เข้าตรวจค้นบ้านคนนั้นคนนี้แล้ว ไม่ได้มีความหมายว่าจริงใจแต่อย่างใด
ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีไฟแค้นสุมขอนมาจากการกระทำของตำรวจตั้งแต่ยุค “เผ่า ศรียานนท์” เป็นอธิบดีกรมตำรวจ
บุคคลที่องค์กรตำรวจทุกยุคสมัยได้ยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลตลอดมา ถึงขนาดมีการสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้ตำรวจรุ่นหลังได้กราบไหว้กันอยู่หลายที่?
ทุกคนก็ทราบดีในกรณีที่ หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ผู้นำทางศาสนาและการเมืองคนสำคัญของพี่น้องชาวมุสลิมภาคใต้
ได้ถูกตำรวจจับกุมคุมตัวหายออกจากบ้านไปอย่างไร้ร่องรอยหาศพไม่พบจนกระทั่งบัดนี้ นับแต่วันที่ 13 ส.ค.2497 ที่ถูกคุมตัวไป
ยังคงเป็นไฟแค้นอยู่ในใจลึกๆ ของพี่น้องชาวมุสลิม ทั้งชาวไทยและชาวโลก ผู้เกลียดความยุติธรรมทุกคนตลอดมา
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป คนส่วนใหญ่ก็ได้ลืมเลือนการกระทำของรัฐที่ป่าเถื่อนของรัฐบาลยุคนั้นไป
ไม่ได้ถึงขนาดมีความเคลื่อนไหวในการก่อความรุนแรงสำคัญอะไรจนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้เช่นปัจจุบัน
ปัญหาความรุนแรงแท้จริงนั้น ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
เพราะรัฐบาลมีนโยบายในการ ลอบฆ่า บุคคลที่ตนคิดว่าเป็นแกนนำในการก่อความไม่สงบ เดือนละ 10 ศพ!
บอกว่าใช้เวลาแค่ 3-4 เดือนก็จะหมดไป ไฟใต้คงสงบลง
ได้มีการระดม ตำรวจฆาตกร จำนวนหนึ่งจากหลายพื้นที่ให้ไป ก่ออาชญากรรมชั่ว ตามนโยบายนี้!
มีบุคคลผู้ถูกสงสัยว่าเป็นแกนนำแม้กระทั่งผู้นำทางศาสนาถูก ลอบฆ่า ไปในช่วงเวลานั้นมากมาย
เป็นชนวนให้ไฟใต้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง
จนกระทั่งได้เกิดเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงของประชาชนที่หน้า สภ.อ.ตากใบ ในกรณีที่มีบุคคลที่เป็นชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน ถูกจับด้วยข้อหาแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ คืออาวุธปืนของทางราชการ
การปราบปรามจับกุมหน้า สภ.อ. ได้ทำให้มีผู้ถูกยิงตายไป รวม 7 คน
ซ้ำเมื่อขนประชาชนผู้ถูกจับประมาณ 1,300 คนขึ้นรถเพื่อไปคุมตัวไว้ในค่ายทหาร ก็กลับพบว่ากลายเป็นศพเพราะขาดอากาศหายใจตายอีกถึง 78 ชีวิต!
การทำสำนวนชันสูตรพลิกศพของตำรวจ ไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ทำให้พวกเขาขาดอากาศหายใจจนถึงแก่ความตาย หรือที่ตามกฎหมายเรียกว่า พฤติการณ์แห่งการตายได้
สำนวนการสอบสวนคดีนี้ได้ถูกผู้นำตำรวจผู้รับผิดชอบทุกระดับ ตั้งแต่ผู้กำกับ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ ไปจนกระทั่ง ผบ.ตร.หลายยุคสมัยช่วยกันหมกดองเอาไว้เกือบ 20 ปี!
หวังให้คดีขาดอายุความหายไปจากความทรงจำของผู้เสียหายภายใต้นโยบาย จ่ายเงินชดเชยศพละ 7.5 ล้านบาท
แต่เรื่องกลับไม่จบลงดังคาด
เพราะญาติพี่น้องที่เป็นผู้เสียหายได้รวมตัวกันไปฟ้องคดีบุคคลที่เกี่ยวข้อง ข้อหา ฆ่าคนตายโดยเจตนา ต่อศาลอาญาจังหวัดนราธิวาส เมื่อใกล้ถึงเวลาขาดอายุความอีกเพียง 6-7 เดือน
ซึ่งศาลก็ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง
ทำให้ตำรวจผู้รับผิดชอบการสอบสวนถือสำนวนชันสูตรพลิกศพอยู่ในมือจะไม่ทำอะไรเช่นที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยไม่ได้อีกต่อไป
เพราะจะกลายเป็นว่า คดีอาญาสำคัญที่มีคนถูกทำให้ตายมากมายขาดอายุความในความรับผิดชอบของตน
ส่งผลทำให้ต้องจำใจสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องคดีไปตามกฎหมาย
แต่ตำรวจไม่สามารถตามจับตัวใครมาส่งให้อัยการสั่งฟ้องได้ เพราะขาดอายุความไป
การที่ตำรวจไทยใช้เวลาสอบสวนนานเกือบ 20 ปี จนคดีใกล้ขาดอายุความแล้วค่อยส่งสำนวนให้อัยการสั่งฟ้อง
ต้องถูกตรวจสอบว่า ในแต่ละช่วงเวลาที่ผู้บังคับบัญชาตำรวจผู้รับผิดชอบทุกระดับตั้งแต่สถานีไปจนถึง ผบ.ตร.ทุกยุคสมัย
ใครได้มีการดำเนินการหรือสั่งการอะไรตามหน้าที่บ้างหรือไม่ อย่างไร?
ใครมีอำนาจหน้าที่แล้วไม่ทำอะไร ก็มีความผิดตามกฎหมาย และยังอยู่ในอายุความดำเนินคดีข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
ไฟใต้นั้นสามารถดับได้ด้วย “ความยุติธรรม” และ “ความจริงใจ” ไม่ “จิงโจ้” ของรัฐบาลเท่านั้น.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 28 ต.ค. 2567