ยกเลิกคำสั่ง คสช.115 ‘คืนอำนาจ’ ให้ผู้ว่าฯ พิจารณาคดีแทน ผบช.ตร.ภาค

ยกเลิกคำสั่ง คสช.115 ‘คืนอำนาจ’ ให้ผู้ว่าฯ พิจารณาคดีแทน ผบช.ตร.ภาค

 

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ปัญหาตำรวจไทยโดยเฉพาะในเรื่อง การสอบสวนที่ถือเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ประชาชนคนยากจนส่วนใหญ่ต้องทนทุกข์กันอย่างแสนสาหัสในปัจจุบันนี้

ไม่ว่าจะเป็นกรณีพนักงานสอบสวน ไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมายที่ป.วิ อาญา มาตรา 130 บัญญัตติไว้ ส่งให้ พนักงานอัยการตรวจสอบสั่งคดี

อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันประชาชนผู้เสียหายที่ไปร้องทุกข์กับตำรวจให้ดำเนินคดี จะมี การสอบสวนจริงตามกฎหมายกันไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต เท่านั้น!

สังคมไทยจึงได้เกิดปรากฏการณ์ กัน จอมพลัง,สายไหมต้องรอดและทนายอีกมากมาย ที่ประชาชนผู้เสียหายทั่วประเทศต้องหาทางไปพึ่งพานำไปออกทีวีกันแทบทุกวัน

ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ไม่คิดหวังไปแจ้งความแม้กระทั่งตำรวจกองปราบ ร้องเรียนต่อจเรตำรวจและตำรวจระดับบังคับบัญชาสารพัดหน่วยที่มีอยู่มากมาย

รวมทั้ง “คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ” ที่ตั้งขึ้นใหม่ ก็ไม่ต่างกัน!

เพราะรู้ดีว่า การ แจ้งหน่วยตำรวจหรือไม่ว่าหน่วยงานใดไปตามลำพังโดยไม่เป็นข่าวออกสื่อ จะไม่ได้ผลอะไร

ซ้ำยังทำให้เสียเงิน เสียเวลา และอารมณ์เพิ่มมากขึ้นไปอีก

นอกจากปัญหาพนักงานสอบสวนไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ สร้างความทุกข์ใจให้ประชาชนผู้เสียหายเพิ่มมากขึ้นทุกวันแล้ว

ยังมีเรื่องที่ตำรวจกลายเป็นผู้ร้ายกันมากมายหลายรูปแบบ ผู้คนระแวดระวังกันไม่หวาดไหว!

เพราะไม่รู้ว่าที่แต่งเครื่องแบบและไม่แต่งเครื่องแบบกันนั้น “ใครเป็นตำรวจ ใครเป็นผู้ร้าย” กันแน่!

ปัญหาตำรวจที่หนักหนาสาหัสทุกวันนี้ ประชาชนยังไม่เห็น นายกรัฐมนตรีคนใด ไม่ว่าในอดีตหรือคนปัจจุบันพูดกันว่าจะแก้ปัญหา สังคายนาหรือปฏิรูปอย่างไร?

กรรมาธิการตำรวจ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ประชาชนก็พึ่งพาอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีใครสนใจปัญหาตำรวจและความยุติธรรมอย่างแท้จริง

ระหว่างนี้ประชาชนสามารถทำได้เพียงแค่ดูแลตัวเองและลูกหลานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอันธพาลและคนร้ายไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเครื่องแบบก็ตาม!

ทุกคนต้องพยายามหลีกเลี่ยงทุกวิถีทางในการที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ ไม่ว่าจะในฐานะผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีความเคลื่อนไหวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่น่าสนใจในเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

นำโดย สส.วิทยา แก้วภราดัย และคณะ ให้ ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 115/2557

เป็นคำสั่งของรัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งได้มาจากการยึดอำนาจ ที่ส่งผลทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของชาติอยู่ในสภาพวิบัติป่นปี้เช่นทุกวันนี้!

เป็นกรณีที่ ป.วิ อาญา มาตรา 145 บัญญัติไว้ช้านานว่า หากอัยการจังหวัดสั่งไม่ฟ้องคดีใด ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการทำความเห็นแย้งส่งให้อัยการสูงสุดวินิจฉัย

แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในยุคเผด็จการ ต้องการได้อำนาจนี้ไปเป็นของผู้บัญชาการตำรวจภาค

โดยมุ่งหวังเพื่อทำให้องค์กรตำรวจไทยยิ่งใหญ่อลังการยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีใครสามารถตรวจสอบหรือควบคุมได้

ทำให้มีการ “ลักไก่” เสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ลงนามในคำสั่งที่ 115/57 ยกเลิกอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องนี้

เปลี่ยนเป็นผู้บัญชาการตำรวจภาคแทนทันที

ทำให้คดีที่อัยการจังหวัดเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานการกระทำผิดแม้แต่ พอฟ้อง จึงได้สั่งไม่ฟ้อง ต้องส่งไปให้ผู้บัญชาการตำรวจภาคตรวจ ทุกคดี

รวมไปถึงกรณีที่อัยการจังหวัดไม่อุทธรณ์หรือฎีกาด้วย

โดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้ผู้บัญชาการตำรวจภาคได้มีอำนาจและบทบาทเกี่ยวกับคดีอาญาขึ้นมาบ้าง

หลังจากที่ เป็นองค์กรอ้างว้าง ไม่มีอำนาจสอบสวนและสั่งคดีตามกฎหมายไม่ว่าเรื่องใดกันมานาน

การได้ทำความเห็นแย้งอัยการ จึงเป็นงานที่ดูเหมือนเป็นหน้าเป็นตาของผู้บัญชาการตำรวจภาค

จะมีเหตุผลจำเป็นต้องแย้งอะไรหรือไม่ ก็ไม่สนใจ

ออกคำสั่งให้ ผู้กำกับสอบสวนจำนวนมาก มาช่วยกันนั่งตรวจสำนวน พยายามเขียนความเห็นแย้งอัยการจังหวัดเป็นผลงานสำคัญให้ได้

แม้ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนอะไร ก็ให้เสนอมั่วๆ ไปว่า ขอแย้งหรือแม้แต่ขอให้อัยการสูงสุด สั่งสอบสวนเพิ่มเติม ก็มี

อสส.บางคนที่ไม่ตระหนักในหลักกฎหมายและเกรงใจตำรวจผู้ใหญ่ ก็ยอมสั่งให้ไปตามนั้น!

คดีที่ควรจะจบได้ เพราะสอบสวนครบถ้วนแล้วไม่พบพยานหลักฐานการกระทำผิดอะไรที่สามารถสั่งฟ้องคดีต่อศาลให้พิพากษาลงได้

ก็ไม่จบง่ายๆ เพราะผู้บัญชาการตำรวจภาคทำความเห็นแย้งเสนออัยการสูงสุดไว้ ใช้เวลารอการวินิจฉัยนานนับปี

ปัญหาขยายตัวไปจนกระทั่งมีการพูดกันว่า ถ้าใครไม่มาวิ่ง ก็ให้เขียนแย้งไป!

การเสนอร่างกฎหมายแก้ไข ป.วิ อาญา ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 115/57 จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

กลับมาสู่กฎหมายเดิมที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจทำความเห็นแย้ง

เพราะส่วนใหญ่ หากไม่มีข้อมูลการร้องเรียนหรือพยานหลักฐานอะไรที่จะทำให้ผู้ว่าฯ พิจารณาว่า การสั่งไม่ฟ้องคดีอาญานั้นผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับพยานหลักฐานทั้งที่ปรากฏในการสอบสวน หรืออาจอยู่นอกสำนวนที่มีผู้นำมามอบให้

ผู้ว่าฯ ก็จะไม่มีความเห็นแย้งอัยการจังหวัดให้เสียเวลาประชาชนคนที่ตกเป็นผู้ต้องหา ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากการถูกตำรวจดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีพยานหลักฐานการกระทำผิดแม้แต่พอฟ้องตามข้อกล่าวหา

ปัญหาการทำความเห็นแย้งอัยการมั่วๆ ของตำรวจไม่ว่าระดับใด ควรแก้ไขยกเลิกทั้งกรณีที่เป็นคดีเกิดในเขตกรุงเทพมหานครที่เป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้วย

โดยต้องแก้ไขเป็นอำนาจของ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” ในการพิจารณาเพื่อความยุติธรรมอย่างแท้จริง.

 ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 16 ก.ย. 2567

About The Author