ปัญหา ‘วันและฤดูกาลแห่งความรัก’ ของตำรวจไทย

ยุติธรรมวิวัฒน์

ปัญหา ‘วันและฤดูกาลแห่งความรัก’ ของตำรวจไทย

 

             พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ปัญหาตำรวจไทยกลายเป็นโจร แม้กระทั่งชั้นนายพล ก็เป็นตัวการกระทำผิดกฎหมายร้ายแรงเสียเอง

ที่อยู่เบื้องหลังนั่งรอ รับส่วยสินบน จากผู้กระทำผิดสารพัดก็มีอยู่แทบทุกหน่วยทุกพื้นที่เป็นที่รู้กันดีในหมู่ตำรวจและประชาชนทั่วไป

มีมากจนผู้คนทุกวงการรู้สึกชินชา และไม่คิดว่าจะมีรัฐบาลชุดใดสามารถแก้ปัญหาตำรวจได้ แม้กระทั่ง “พรรคก้าวไกล”ที่แกนนำหลายคนได้พูดและเขียนเป็นนโยบายพรรคไว้ชัดเจนกว่าพรรคใด

ยิ่งถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาล หัวหน้าพรรคคือ คุณพิธา ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจควบคุมสั่งงานตำรวจ ในแนวทางของตัวเอง

ไม่ต้องสั่งผ่านหรืออาศัยใคร

ประชาชนก็ต้องทนความเจ็บปวดจากปัญหาตำรวจสารพัดรูปแบบกันไปอีกนานหลายปี!

เนื่องจากยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดที่อาจได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลใส่ใจหรือเคยพูดจาเรื่องปัญหาตำรวจเช่นพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด

ในช่วงนี้ มี วลีเด็ด ของตำรวจชั้นนายพลที่ประชาชนนำไปพูดกันติดปากดังสนั่นก็คือ

“เป้รักผู้การเท่าไหร่ ก็ให้เขียนมา”

เรียก เสียงฮา จากประชาชนปะปนกับความรู้สึกเจ็บปวดไปพร้อมกัน

ปัญหาความรักในวงการตำรวจไทยแบบนี้อันที่จริงได้เกิดขึ้นมานานแล้ว

เป็นที่รู้กันดีว่า ผู้กระทำผิดกฎหมายและตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชา รู้สึกรักเท่าไหร่ ก็ นำความรักใส่ซอง ไปส่งให้ ตร.ผู้ใหญ่ ที่มีอำนาจหรือ คาดว่าจะมีอำนาจ ปกครองหรือเลื่อนตำแหน่งแต่งตั้งโยกย้ายตามจำนวนความรักนั้น

เป็นการแสดงความรักตามลำดับชั้นทั้งสมัครใจของตำรวจส่วนน้อย และ จำใจของตำรวจส่วนใหญ่ ใน วันประชุมประจำเดือน ที่ไร้สาระ ของตำรวจทุกหน่วยทุกระดับ

ส่วนใครจะสะดวกวันอื่น ไม่ต้องไปรอเข้าคิวปะปนคนอื่นให้เสียเวลา ก็แล้วแต่อัธยาศัย

ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นหัวหน้าสถานีหรือจังหวัดที่มีการกระทำผิดกฎหมายและแหล่งอบายมุขชุกชุม

ก็มักจะไปร่วมกินข้าวกลางวันหรือนัดพบปะกันนอกสถานที่ตามจังหวะและเวลา

เงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดการแสดง ความรักแบบวิปริต ในวงการตำรวจไทยเช่นนี้ มีสองเรื่องคือ

การอยู่ใต้การปกครองตามชั้นยศและวินัยแบบทหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานในฐานะเจ้าพนักงานยุติธรรมตามกฎหมายอาญา

ผู้บังคับบัญชาสามารถจับผิดได้ตั้งหัวจรดเท้า ผมยาว รองเท้าไม่มัน ฟันไม่ขาว ฯลฯ

และ การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งและโยกย้ายที่ไร้หลักเกณฑ์ชัดเจนและเป็นธรรม

ทำให้หัวหน้าหน่วยหรือผู้ที่หวังจะเป็นหัวหน้าหน่วยตำรวจทุกระดับต้อง “แสดงความรักเป็นรายเดือน” ในวันประชุมประจำเดือน

รวมทั้ง รักตามวาระการแต่งตั้งโยกย้าย

ความรักรายเดือนของตำรวจนั้น ถือเป็นเพียงหน้าที่ แค่มีผลไม่ให้ไปจับผิดเรื่องทรงผมและเครื่องแบบเครื่องหมาย ไม่ทำความสะอาดห้องน้ำ ฯลฯ

ยังไม่ทำให้ได้เลื่อนตำแหน่งหรือโยกย้ายไปที่ดีที่แต่ละคนคาดหวังแต่อย่างใด

ใครอยากได้ตำแหน่งสูงขึ้นหรือโยกย้ายไปที่ต้องการ ก็ต้อง “แสดงความรักล่วงหน้า” ว่ากัน “เป็นกิโล” ตามระดับตำแหน่งและสถานี ผ่านคนกลางที่เชื่อถือได้

โดยมีข้อตกลงล่วงหน้าว่า หากเกิดผิดพลาด คำสั่งไม่ออกตามหวัง ก็พร้อมจะ “คืนความรัก” นั้นให้ไป

การแสดงความรักที่วิปริตในวงการตำรวจแบบนี้ สามารถเริ่มแก้ไขได้ด้วยการ เลิกลด การมียศและวินัยแบบทหาร ในหน่วยงานที่ไม่จำเป็น

เช่นงานสอบสวน และโอนตำรวจเฉพาะทาง 13 หน่วยไปให้กระทรวงกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย เช่น ตำรวจจราจร ตรวจคนเข้าเมือง ทางหลวง ตำรวจน้ำ  ตำรวจเศรษฐกิจ คุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจป้องกันการค้ามนุษย์ ตำรวจป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฯลฯ

          ตำรวจเหล่านี้ก็จะใช้วินัยแบบข้าราชการพลเรือนทันที

          โดยให้มี “อำนาจสอบสวนคู่ขนาน” ไปกับตำรวจแห่งชาติ

          รวมทั้งออกกฎ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์แต่งตั้งที่ชัดเจนและเป็นธรรมสำหรับตำรวจส่วนใหญ่ที่ไร้เส้นสาย

          โดย ใช้อาวุโสเป็นหลักนำ ในการพิจารณา

          รวมทั้งสร้างหลักประกันว่า ตำรวจทุกคนจะไม่ถูกกลั่นแกล้งย้ายข้ามจังหวัดข้ามภูมิภาคโดยไม่สมัครใจไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น

          ปัญหาการแสดงความรักที่วิปริตในวงการตำรวจไทยจะหายไปทันทีกว่า 70 เปอร์เซ็นต์.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 26 มิ.ย. 2566

About The Author