สัมมนานาชาติ’ปฏิรูปตำรวจหลังเลือกตั้ง’ประเทศเพื่อนบ้านระบุอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนมานานแล้ว แต่ระบบสอบสวนไทยยังล้าหลังสุดกู่!


สัมมนานานาชาติ “ปฏิรูปตำรวจหลังเลือกตั้ง” ประเทศเพื่อนบ้าน เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียตนาม ระบุอัยการมีอำนาจและบทบาทในการตรวจสอบควบคุมการสอบสวนมานานแล้วทั้งสิ้น ขณะที่ระบบสอบสวนไทยสุดล้าหลัง! จัดองค์กรให้มีการปกครองและวัฒนธรรมการทำงานแบบทหาร ไม่ใช่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริงไม่สอดคล้องกับระบบสากล
เมื่อวันที่ 16พ.ค.2562 ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา มีการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การปฏิรูปตำรวจหลังการเลือกตั้งในประเทศไทย จัดโดยมูลนิธิ Hanns Seidel Foundation, Asian Governance Foundation (AGF) ,The German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยบูรพา
ช่วงเช้า พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประเทศไทยได้จัดการสัมมนาปฏิรูปครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง อยากให้ไทยเรามีมาตรฐานเหมือนตำรวจนิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ที่มีความโปร่งใส มีการประเมินอาชีพตำรวจในประเทศเหล่านี้ว่าเป็นอาชีพที่โปร่งใสที่สุดในโลก ส่วนทหารโปร่งใสเป็นอันดับสอง เราอยากให้ตำรวจเป็นที่รักของประชาชนเหมือนเป็นตำรวจประชาชน และตำรวจไทยเองก็ต้องรักประชาชนแล้วประชาชนก็จะรักตำรวจ
บ้านเดิมผมอยู่ไม่ไกลจากบ้านตำรวจ ชาวบ้านอุ่นใจเพราะตำรวจเป็นเหมือนมือปราบของตำบล เป็นที่พึ่งได้และเป็นความฝันของประชาชนได้ หากเราพยายามทำความเข้าใจ ดูตัวอย่างดีๆ ดูหลักการ ระดมความคิดที่ดีแล้ว ก็จะทำให้เราได้คำตอบที่ใกล้เคียงกันที่สุด โดยอยากฝากว่าเรื่องของตำรวจแต่ละประเทศอาจจะเอาอย่างกันไม่ได้ แต่เรียนรู้กันได้ มาถกคิดกันแล้วใช้เป็นแบบอย่างที่จะใช้ในการปฏิรูปได้
เราต้องหมั่นทำความเข้าใจกับประชาชน มีคำถามว่าทำไมเราไม่เหมือนประเทศอื่น ก็ต้องบอกว่าเรามีวัฒนธรรมที่ยังแตกต่างกัน ทหารและตำรวจอาจจะคล้ายกัน อาชีพตำรวจก็มีเครื่องแบบและอาวุธเช่นกัน เราต้องหมั่นชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ อย่าไปอ้างประเทศอื่นๆว่าทำไมเขาทำได้ เรื่องนี้มันไม่เหมือนกัน ส่วนผู้นำก็ต้องฟังประชาชนให้มาก การปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องใหญ่ ที่ทุกคนอยากทำให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เราต้องดำเนินการอันเป็นพื้นฐาน เราต้องทำให้มันพัฒนาไปได้

Mr. Henning Glaser ผอ. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล เยอรมัน อุษาคเนย์ (CPG) กล่าวว่า ตำรวจมีผลประทบต่อการพัฒนา ความทันสมัย เราทำงานกับมูลนิธิที่ทำงานเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ยินดีที่ทำงานกับ ตำรวจไทย และร่วมงานกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSIX และกองกำลังพิเศษ ตำรวจไทยได้ทำงานกับทีมของเราอย่างเป็นมิตรตลอดมา
Karl Peter Schonfisch ผู้อำนวยการมูลนิธิฮันส์ ไซเดล ประเทศไทย แสดงความดีใจที่เห็นทุกท่านมาร่วมงานวันนี้ ท่านบุญสร้างพูดถึงแคนาดา ผมอยากพูดถึงตำรวจเยอรมันเช่นกันที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน ประสบความสำเร็จในการประสานงานกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะการดำเนินงานตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ตำรวจและประชาชนได้ร่วมมือกันปรับปรุงการทำงานประจำวัน เราเห็นว่า DSI และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ให้ความสนใจ หวังว่าการสัมมนานี้จะสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี
ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต ม.บูรพา ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า เราต้องมาพูดเรื่องการทำงานของตำรวจที่ดี เพราะตำรวจเป็นพื้นฐานของรัฐ ที่ต้องทำให้ประชาชนได้รับความสุข ความปลอดภัย ทุกประเทศต้องการปกป้องสิทธิของประชาชนและสิทธิมนุษยชน เราอยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำให้ได้เช่นกัน เรามาดูกันว่าประเทศไทยจะนำประสบการณ์ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นมาพัฒนาให้ไทยดียิ่งขึ้นได้อย่างไร
Prof. Dr. Lee Sang Won คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ กรุงโซล อดีตผู้พิพากษาศาลฏีกา และศาลรัฐธรรมนูญ ของเกาหลีใต้ กล่าวถึงการจะทำอย่างไรที่จะสามารถลงโทษผู้มีความผิดอย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลและการป้องกัน เมื่อตำรวจเริ่มสืบคดี นำพยานหลักฐานไปยื่นให้อัยการ แล้วส่งศาลพิจารณา และกระทรวงยุติธรรมจะนำไปสู่การปฏิบัติ ในเกาหลีใต้มีระบบนิติธรรมและระบบตุลาการ ตำรวจและอัยการอยู่ในกระบวนการรัฐที่มีความสัมพันธ์กัน
ตั้งแต่ปี 1910 ที่ญี่ปุ่นเข้าไปปกครองเกาหลีใต้ แล้วปี 1948 เกาหลีใต้ได้เป็นอิสรภาพ ตอนที่อยู่ภายใต้ญี่ปุ่น คนเกาหลีต้องอยู่ภายใต้กฎหมายญี่ปุ่นด้วย ตำรวจตอนนั้นมีอำนาจสูงมาก แม้มีอัยการก็จริง แต่ในยุคนั้นตำรวจเป็นศูนย์กลางในการตัดสินคดีอาญา พอมาครั้งที่เกาหลีมีรัฐบาลชั่วคราว ได้มีความพยายามเปลี่ยนให้ตำรวจมีบทบาทน้อยลง ในยุคที่อยู่กับญี่ปุ่นมันแปลกที่เขาให้ตำรวจตัดสินคดีต่างๆได้เลย เมื่อมีรัฐบาลชั่วคราวเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบของสหรัฐที่ให้อำนาจตำรวจน้อยลงแล้วให้อำนาจอัยการมากขึ้น แต่ก็ยังใช้ไม่ได้ดีในเกาะเกาหลีใต้ เมื่อตอนที่ตำรวจมีอำนาจมากๆคนจะกลัวตำรวจมาก แต่คนเกาหลีก็ต้องการให้อัยการเข้ามาควบคุมตำรวจด้วย ต่อมาอัยการทำหน้าที่สืบสวนเองได้ โดยตำรวจต้องขอหมายค้นจากอัยการก่อนค้นคนอื่น เพราะอัยการมีอำนาจออกหมายค้น
ในปี 1949 เริ่มมีสำนักงานอัยการ และอัยการมีอำนาจเหนือตำรวจในการสืบสวนคดี ประเด็นแรกคือออกหมายค้น แต่ก็มีการเถียงกันว่าใครควรมีอำนาจออกหมายค้นจากตุลาการ และต่อมาอัยการก็พยายามให้มี พรบ.อัยการในปี 1961 แล้วให้เขียนใน รธน.ในปี 1962
ในการสืบสวนคดี เริ่มจากการเปิดคดี ออกหมายจับ สอบพยาน และสุดท้ายตัดสินคดี ซึ่งอัยการมีอำนาจระหว่างเริ่มต้นจนถึงตัดสินคดี นับว่าเป็นระบบที่ให้อำนาจแก่อัยการมาก จนรู้สึกว่าให้มากเกินไป สามารถสืบสวนสอบสวนเอง ออกหมายค้นเอง สั่งการตำรวจเอง และอัยการในยุดนั้นก็ส่งเรื่องไปยังศาลเอง แต่เมื่อมีการปฏิรูปตำรวจก็ปฏิรูปอัยการไปด้วย เพราะอัยการถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ซึ่งเป็นไปได้ที่มีการตัดสินเอนเอียงได้จึงปฏิรูปอัยการไปด้วย
ในปี 1995 จึงปฏิรูปให้ออกหมายศาลด้วยการสอบปากคำ ให้ใช้วิจารณญาณมากขึ้น ในปี 2011 เมื่อมีการปฏิรูปสำเร็จก็ลดอำนาจอัยการ และให้ตำรวจเป็นผู้ช่วยในการเปิดคดี และสอบปากคำ แต่ไม่สามารถปิดคดีได้ด้วยตัวเอง เขาต้องส่งเอกสารทั้งหมดให้อัยการเป็นผู้ปิดคดี
ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังต้องการแก้ไขให้ทันสมัยมากขึ้นอีก ตำรวจอาจจะไม่ชอบอำนาจอัยการเดิมแล้วให้อำนาจกับสำนักงานสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ระดับสูง High Ranking Officials Investigation Bureau เพื่อสืบสวนตัวเองได้ด้วย
ส่วน NIS Investigation ก็จะมอบอำนาจให้ตำรวจ และให้มีตำรวจพื้นที่ที่ทำงานอย่างอิสระ เมื่อลดอำนาจอัยการ ตำรวจจึงพึงพอใจมากขึ้น พรรคการเมืองปัจจุบันพยายามทำระบบให้ดีขึ้น แต่ก็อาจจะมีคนที่คิดคดกับระบบ ซึ่งผมเองก็ไม่ชอบการปฏิรูปนี้มันทำให้อัยการมีอำนาจลดลงมากเกินไป ผมอยากให้นำประเด็นให้พิจารณาบางประเด็น
- ประเด็นสิทธิมนุษยชน ที่ต้องมีระบบที่คุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกดำเนินการโดยมิชอบ
- ความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ถูกครอบงำ
- การใช้อำนาจโดยมิชอบ
- การสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ

Professor De. Le Huynh Tan Duy, Ho Chi Minh City University of Law, Viet Nam กล่าวว่า ที่เวียดนามเป็นรูปแบบที่ใช้เหมือนสหภาพโซเวียต มีสภาแห่งรัฐที่จะใช้ควบคุมการทำงานทั่วประเทศ มีระบบตัวแทนของรัฐบาล มีระบบตัวแทนสูงสุด แล้วย่อยตัวแทนประชาชนในระดับจังหวัด ระบบตัวแทนทหารในภูมิภาค ที่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน มีประมวลกฎหมายอาญา ที่มีกระทรวงมั่นคงสาธารณะ ที่มีฝ่ายดูแลบุคคลที่เป็นตัวแทนจะดูแลการทำงานของอัยการ และการใช้อำนาจ สำนักงานตัวแทนจะยื่นคำร้องให้สอบสวนใครบางคน ซึ่งอำนาจอยู่ที่อัยการว่าจะอนุมัติหรือไม่ ก็ต้องดูว่าฝ่ายสืบสวนสอบสวนนั้นดำเนินไปอย่างถูกต้องก่อนที่จะยื่นเรื่องไปศาล ในหลายกรณีอัยการสืบสวนสอบสวนได้โดยตรง ตรวจสอบหลักฐานที่เจ้าหน้าที่สืบสวนว่าถูกต้องหรือไม่ ส่วนอำนาจของหน่วยงานตัวแทนจะถ่วงดุลกับอัยการเพื่อให้การดำเนินคดีความอาญาสอดคล้องกัน
ในศาลเวียดนามเจ้าหน้าที่สืบสวนต้องยื่นสำนวนให้อัยการภายใน 15 วันซึ่งต้องระวังไม่ให้มีคนสอดไส้สำนวนเข้าไป ถ้ามีความผิดพลาดก็จะให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนแก้ไข หรือเปลี่ยนตัวคนสืบสวนได้ ดังนั้นหน่วยงานตัวแทนต้องทำให้เป็นไปตามตามมาตรา 165 ของกฎหมายสำนักงานตัวแทนอัยการในเวียดนามต้องทำงานทั้งหมดดังที่กล่าว คือในทางปฏิบัติต้องทำตาม และสำนักงานตัวแทน แต่ปัญหายังเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่สืบสวนและอัยการที่ยังร่วมมือกันไม่ดีในบางครั้ง ทางเวียดนามต้องการเลือกผู้ที่จะเป็นตัวแทน (State Representative) มากกว่าอัยการ ปัจจุบันเวียดนามอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง และต้องปรับปรุงคุณภาพของตำรวจ เช่นเดียวกับไทย ปัญหามันอยู่ที่ตำรวจไม่ใช้กฎหมาย
อัยการและฝ่ายสืบสวนจะทำงานร่วมกันเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ได้ใช้ระบบควบคุมอาญากรรมที่สำคัญที่สุด อัยการเป็นเสมือนผู้เฝ้าประตูที่จะให้คดีผ่านหรือไม่ผ่านในขั้นต้น การดำเนินคดีและการใช้อำนาจ เรากำหนดให้อัยการและฝ่ายสอบสวน เวียดนามพิจารณาความอาญามีหลายขั้นตอน เริ่มจากการสืบสวนสอบสวน ที่มีอัยการคอยควบคุม
- Narendra Jatna อัยการประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ประเทศอินโดเคยถูกครอบครองโดยหลายมหาอำนาจ โดยเนเธอแลนด์มีการนำระบบแบ่งแยกผิว มีชนชั้นประชาชนจากยุโรป มีคนเอเชีย ที่เป็นคนอินเดีย จีน และชนชั้นต่ำสุดคือชนพื้นเมือง ถือเป็นความโชคร้ายของอินโดนีเซีย มีการสร้างระบบเชื้อชาติที่ไม่เหมาสมกับระบบปัจจุบัน มีการใช้ระบบ customary law และมีหัวหน้าเผ่าในการใช้ในการสืบสวนสอบสวนด้วย ส่วนอัยการที่เป็นการใช้ระบบของยุโรปจะมีอำนาจมาก มีอัยการหลายประเภท มีสัญลักษณ์คือตัวยักษาหรือประเจ้าของความยุติธรรม คือมีระบบยักษา และระบบปัจจุบันที่ใช้ไปด้วยกัน อินโดนีเซียในยุคเจ้าอาณานิคมเนเธอแลนด์มีการแบ่งหน้าที่การงานให้อยู่ในอำนาจของมหาดไทย กลาโหม และต่อมาในยุคญี่ปุ่นครอบครอง ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติอีกต่อไป ใช้ศาลเดียวกัน ตำรวจมีอำนาจสูงมาก หยิบยกกฎหมายยักษามาใช้มากขึ้น เป็นกฎหมายใช้ทั้งประเทศที่นับว่าดีขึ้น
ในปี 1945 -1949 ยังมีการแบ่งแยกเป็นสองส่วน คือ สาธารณรัฐ และสหพันธรัฐสาธารณรัฐนั้น ตำรวจยังมีอำนาจสูงอยู่ ตำรวจที่มีอาวุธได้เข้าร่วมสงครามด้วย ผู้ที่ผ่านสงครามถือเป็นตำรวจทหารผ่านศึก ต่อมาในปี 1950 ตำรวจเข้าไปยุ่งกับการเลือกตั้ง และชนะเก้าอี้มี สส.ด้วย คือยังมีตำแหน่ง มีพรรคการเมืองตำรวจ และเข้าสู่สภา ในปี 1955-1956 ทหารประกาศอัยการศึก ทำให้ตำรวจอยู่ในอำนาจของอัยการแล้วปี 1959-1968 อินโดนีเซียอยู่ในสถานะที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่เข้าข้างโซเวียต หรือ อเมริกา แต่ประเทศก็มีประธานาธิบดีเป็นผู้ชี้นำประชาธิปไตย เช่นประธานาธิบดีซูฮาโต้ ก็ได้มอบให้อัยการตัดสินคดีได้เลย มีการตั้งกรมอัยการ มีกระทรวงตำรวจ ที่อยู่ภายใต้อำนาจประธานาธิบดี และยังใช้ระบบกฎหมายของเนเธอแลนด์อยู่ โดยตำรวจมีสิทธิพิเศษพอๆกับทหาร
ในยุค New Order 1968-1998 ใช้ระบบกึ่งๆทหาร มีระบบประชาธิปไตยชี้นำ ที่อัยการและตำรวจอยู่ภายใต้ประธานาธิบดี ไม่ต้องการที่จะให้อยู่ภายใต้กฎหมายทั่วไป มีการเปลี่ยนความสำพันธ์ระหว่างตำรวจและอัยการ คนที่เริ่มต้นคดีความ มาถึงยุคที่เรียกว่ายุคปฏิรูป 1998- ปัจจุบัน ประเทศมีประชาธิปไตยมากขึ้น ผู้พิพากษาไม่ได้อยู่ในอำนาจของประธานาธิบดี แต่อัยการ และตำรวจยังอยู่เหมือนเดิม ในฐานะที่ผมอยู่ในตำแหน่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าคนอินโดนีเซียอยากมีอำนาจเหมือนปี 1961 อัยการอยากมีอำนาจสอบสวนอยู่ ตำรวจไม่ต้องการมีหมายค้น ผมต้องการให้มีศาลชั่วคราวแต่ไม่สำเร็จ แต่ก็มีศาลรัฐธรรมนูญเกิดขั้น สามารถยื่นคดีต่างๆไปศาลรัฐธรรมนูญได้ว่าคดีนั้นๆละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ให้มีกระบวนการพิธีพิจารณาความอาญา Due Process of Law
Salim Bashir Bhaskaran, Co-Deputy Chairperson, Criminal Law Committee Council Member of the Bar Council Malaysia กล่าวว่า มาเลเซียมีอธิปดีคนใหม่ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของตำรวจ ลดบทบาทตำรวจ ให้สิทธิของประชาชนและสิทธิของตำรวจคในลักษณะที่สมดุลกันมากขึ้น ส่วนเรื่องคอร์รัปชันเป็นปัญหามากตั้งแต่อดีตนายกนาจิบ ราซัค และคดีก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป เราต้องการให้การบริหารกระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปอย่างยุติธรรม เดิมตำรวจถูกขอร้องให้ดำเนินการตามกระบวนการอาญา ผู้ต้องสงสัยสามารถถูกกักขังได้ 14 วันทุกคดี แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น 7 วันสำหรับคดีเล็กและกักขัง 14 วันสำหรับคดีสำคัญ บางคดีกักขังเป็นเดือนๆ
และต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของตำรวจในการทำงานก่อนส่งสำนวนให้อัยการ ต้องการความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ให้มีการสืบสวนก่อนให้มีการจับกุม ไม่ใช่จับก่อนสืบสวน เพราะจะทำให้เกิดการละเมิดขึ้นได้ง่าย ประเทศใช้รูปแบบของอินเดียกับอังกฤษ การเข้ามาครอบครองของอังกฤษทำให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายอาญาให้ดีขึ้น ต่อมาปรับปรุงมากขึ้นเช่นผู้ต้องหา นักโทษสามารถใช้โทรศัพท์หาญาติ พูดคุยกับทนายความ สิทธิของผู้ถูกกักขังดีขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ตำรวจก็ยังมีสิทธิที่มากสมควรแก้ไขอีกหลายประการ เพราะวิธีการทำงานของตำรวจยังพยายามบีบคั้นให้รับสารภาพ โดยการชักนำ ทรมาน ข่มขู่ ให้คำมั่นสัญญา ส่วนเรื่องการเสียชีวิตระหว่างการถูกกักขัง จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่าเสียชีวิตอย่างไร เป็นการขอให้ดำเนินการจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เราจะยกเลิกกฎหมายบางอย่าง เช่น พรบ.ผู้ทรยศต่อชาติ และ พรบ.แบ่งแยกดินแดน หรือกบฏต่อชาติ และ พรบ.ความมั่นคงภายในประเทศ รัฐบาลใหม่สัญญาว่าจะยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวที่ใช้ในการกลั่นแกล้งกัน และยกเลิกกฎหมายที่รุนแรงทั้งหลาย นอกจากนั้นจะส่งเสริมกฎหมายที่ให้สิทธิประชาชนในการแสดงออก มีการชุมนุมได้ โดยแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวก ตาม พรบ.ชุมนุม และยังต้องปฏิรูปกฎหมายอื่นๆอีกมากมาย เพื่อไม่ให้อาชญากรหนีรอดพ้นไปได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของบุคคลด้วย ที่อยู่ภายใต้พิจารญาณของศาล
ผมเคยมีประสบการณ์ในการยื่นคดีเรียกร้องให้ตำรวจจ่ายค่าเสียหาย ที่ทุบตีผู้ถูกจับกุม ผมก็เคยเป็นทนายให้คดีที่เด็ก 15 ปีที่ถูกตำรวจไล่จับ และยิงไปที่รถทำให้เด็กที่ขับรถเสียชีวิต เป็นประเด็นระดับชาติ แบบนี้ก็โทษตำรวจได้ยาก ซึ่งหมายถึงว่าสิทธิของทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง บทบาทของตำรวจและอัยการ ตอนนี้รัฐบาลพยายามแยกอัยการระดับชาติออกไป
ในวงสัมมนาแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่าที่เกาหลีใต้ ในระยะหลังมีการอบรมศึกษาจากโรงเรียนตำรวจ ที่ทำให้รู้สึกว่าตำรวจฉลาดได้เท่าเทียมกับอัยการ ส่วนที่อินโดนีเซีย คนที่เข้ามาเรียนโรงเรียนตำรวจ ตำรวจที่จะทำหน้าที่สืบสวนจะยังอยู่ในความดูแลของอัยการ ในอดีตทหารก็สามารถจะเป็นตำรวจด้วย แต่ปัจจุบันตำรวจก็สามารถเป็นทหารได้ด้วย และตำรวจก็ยินดีที่จะเป็นพลเรือนด้วยเช่นกัน
ในอาเจะห์ทางเหนือสุดของประเทศ อัยการและตำรวจจะใช้ กฎหมายชารีอะ ซึ่งต้องมีความสามารถพิเศษในการใช้กฎหมายหรือมีประกาศนียบัตร
ในมาเลเซีย ตำรวจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีคณะกรรมการตำรวจให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียม เคยมีการแย่งชิงอำนาจระหว่างอัยการและตำรวจ ขณะเดียวกันมาเลเซียมีมูลนิธิให้คำแนะนำทางกฎหมายแก่ประชาชน ยกเว้นชาวต่างชาติ แต่ถ้าเป็นคนท้องถิ่นจะได้รับบริการฟรี มีรายชื่อทนายความมาเลเซีย เรียกว่า ทนายความที่ได้รับมอบหมาย (Assigned Lawyers) เช่นกันกับที่เวียดนามผู้ถูกกล่าวหาสามารถขอคำปรึกษาจากสภาทนายความ ขอทนายความเข้าร่วมการสืบสวนสอบสวนด้วย
ที่เกาหลีใต้ การสืบสวนจากตำรวจ คนที่ถูกจับสามารถขอใช้บริการ รัฐบาลจะจ่ายค่าทนายให้ โดยจะพิจารณาว่าจะจ้างทนายให้หรือไม่ เกาหลีใต้มีสภาที่จะให้คำแนะนำกับเหยื่อว่าจ้างโดยรัฐบาล และมีสภาทนายความสาธารณะที่จะช่วยได้
ส่วนของอินโดนีเซีย มีการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้น และมีการสืบสวนจริง เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งอัยการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวนเสมอ ไม่มีจำกัดเวลา หรือสืบสวนแล้วมาแจ้งที่หลังก็ได้ อินโดมีทนายความให้จำเลย โดยรัฐอาจจะประเมินให้เงินสนับสนุนด้วย
หมายเหตุ:มีต่อภาคสอง ช่วงบ่าย
ขอบคุณภาพประกอบ : The German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG)