ความขัดแย้งจะไม่หมดไป หากไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ผู้คนเชื่อมั่น-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ความขัดแย้งจะไม่หมดไป
หากไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ผู้คนเชื่อมั่น
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ช่วงนี้คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับหัวหน้าสถานีผู้ทำหน้าที่ หัวหน้าพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของประเทศและระดับรองลงมาได้มีการแจกจ่ายออกมามากมายหลายพันตำแหน่ง
คนที่มีเส้นสายได้รับการแต่งตั้งตามหวังก็ตื่นเต้น ไม่เป็นอันหลับอันนอนกันไปทั้งครอบครัว ชุลมุนในการเก็บข้าวของพร้อมรถราเตรียมเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่
ส่วนคนที่ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์หรือไม่มีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจทางหนึ่งทางใด ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เลื่อนตำแหน่งอะไรกับเขา ไม่ว่าจะมีอาวุโสการครองตำแหน่งมานานเท่าใด หรือเวลาจะผ่านไปนานกี่ปีก็ตาม?
บางคน แม้แต่ตำแหน่งเดิม ก็ไปต่อไม่ได้
ซ้ำยังมีคนได้รับการแต่งตั้งข้ามหัว ข้ามอาวุโส โดยที่ตัวเองต้องถูกย้ายลดชั้นไปอย่างไร้จุดหมายไปหน่วยหรือจังหวัดอื่นแม้กระทั่งข้ามภูมิภาค หากตำรวจที่มีเส้นสายหรือ รุ่นนั้น รุ่นนี้ หมายปอง หรือต้องการ
ขวัญและกำลังใจตำรวจส่วนใหญ่จึงตกต่ำ ที่ท้อใจหลายคนยื่นใบลาออก และอยู่ระหว่างตัดสินใจในปีสองปีนี้อีกมากมาย
งานรักษากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะได้รับผลกระทบหรือเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด แทบไม่มีใครให้ความสนใจ
กฎหมายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวนที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะร่างเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการแก้ปัญหา
จนกระทั่งป่านนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า “ถูกนำไปซุกเอาไว้ที่ใด?”
สำหรับสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็น “โค้งสุดท้าย” ของการเลือกตั้งครั้งใหญ่
หลังจากคนไทย “โหยหา” “หิวการเลือกตั้ง” ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนจะได้มีสิทธิมีเสียงเลือกผู้นำมากำหนดทิศทางบริหารประเทศ รวมทั้งการปฏิรูปด้านต่างๆ มาเกือบห้าปี
ส่วนหย่อนบัตรไปแล้ว จะทำให้พรรคใดได้เสียงข้างมากมีอำนาจ เลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี? ดีหรือไม่ เป็นคนเก่าหรือคนใหม่ สามารถแก้ปัญหาปากท้องรวมทั้งความขัดแย้งในหมู่ประชาชนได้จริงหรือไม่ ไม่มีใครแน่ใจ?
หลายฝ่ายจับตาไปในวันเลือกตั้ง ทุ่มความหวังไปที่ กกต. ป้องกันไม่ให้โกงกันได้
ใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งบริหารและจัดการเลือกตั้ง รวมทั้งดูงานต่างประเทศ กว่า 5,000 ล้านบาท
ต่างจากเมื่อครั้งกรมการปกครองรับผิดชอบ ที่ใช้งบเพียงครั้งละ 500 ล้านเท่านั้น!
แต่ทุกครั้งก็ยังได้ยินเสียงพูดเรื่องการโกง หรือเอาเปรียบคู่แข่งขันกันอย่างหมิ่นเหม่ต่อกฎหมายไม่เลิกรามากว่าสิบปี โดยที่ กกต.ไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันอะไรได้อย่างแท้จริงเลย?
ส่วนใหญ่มัวแต่ให้ความสนใจเรื่องการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชน ไม่ใช่การโกงหรือการเอาเปรียบคู่แข่งขันที่มีนัยสำคัญต่อการแพ้ชนะแต่อย่างใด
สำหรับความร้อนแรงของแต่ละพรรค นาทีนี้ ก็ต้องยอมรับกันว่า อนาคตใหม่ กลายเป็นพรรคที่ผู้คนส่วนใหญ่จับตาทั้งที่พึ่งก่อตั้งมาเพียงปีเศษเท่านั้น
เนื่องจากหัวหน้าพรรคมีนโยบายในการปฏิรูปโครงสร้างสังคมและระบบราชการ รวมไปถึงองค์กรตำรวจและทหารอย่างเป็นรูปธรรม
ที่สำคัญได้รับการพูดถึงมากก็เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นการรับอาสาสมัครให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนยากจน และ ลดจำนวนนายพลทหารลงให้เหลือเพียงหนึ่งในสาม
ทบทวนกฎหมายที่สร้างเงื่อนไขให้มีการกลั่นแกล้งแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับประชาชนได้ง่ายและไม่ใช่เจตนาแท้จริง เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ พลโทพงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคโดนเข้ากับตัวเอง
รวมทั้งประกาศและคำสั่ง คสช.ต่างๆ ที่ออกมาในช่วงการยึดอำนาจอีกมากมาย แม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
โดยเฉพาะเรื่อง การกระจายอำนาจสู่จังหวัด นั้น ถือว่าได้มีการประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจนและจริงจัง
คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ต่างอยากทดลอง
ส่วนคนรุ่นเก่าแต่มีความคิดใหม่ ที่แรกก็สนใจ แต่สุดท้ายได้เกิดอาการ คาใจ
ในเรื่องจะนำนายทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้จำคุกและหนีประกัน มาพิจารณาคดีกันใหม่?
หลายคนจึงเกิดอาการชะงักงันไปตามๆ กัน!
มองเห็นความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากมีการดำเนินการไปตามที่พูดจริง
อย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างปฏิเสธไม่ได้ว่า ความคิดเช่นนั้น สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างร้ายแรงยิ่ง
โดยเฉพาะคนยากจนในประเทศไทยส่วนใหญ่ ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในชีวิตประจำวันกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
พวกเขาถูกตำรวจตั้งด่านตรวจค้นตามถนน ตรวจเมา และตรวจฉี่กันอย่างไม่มีเหตุสงสัยตามกฎหมายแทบทุกวี่ทุกวัน
เมื่อมีการกล่าวหาว่าทำผิดอาญา ก็ถูกออกหมายเรียกหรือเสนอศาลออกหมายจับกันง่ายๆ หากไม่มีเงินหรือทรัพย์ประกันตัว ก็เข้าคุกไป
ส่วนผลสุดท้าย อัยการจะสั่งไม่ฟ้องและศาลยกฟ้องหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องแน่ใจ หรือมีใครรับผิดชอบแต่อย่างใด?
ผู้ถูกกล่าวหาบางคนก็ถูกยิงตาย ตำรวจอ้างว่าเป็นวิสามัญฆาตกรรม แต่พยานหลักฐานมีเงื่อนงำให้ญาติพี่น้องข้องใจว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ในหลายพื้นที่?
และเมื่อปี 2547 ก็เกิดอาชญากรรม ฆาตกรรมอำพราง ตำรวจผู้ใหญ่ให้ข่าวต่อสื่อว่า ผู้ค้ายาเสพติดฆ่าตัดตอนพวกเดียวกันตายไปถึง 2,500 ศพ
ตำรวจสืบสอบแล้ว ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดแม้แต่คดีเดียว
แต่เมื่อเป็นผู้เสียหาย กลับแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจสอบสวนจับคนร้ายอย่างลำบากยากเย็น!
ความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ฝังตัวอยู่ในสังคมไทยมานานเช่นนี้
เมื่อมีใครพูดถึงปัญหาความอยุติธรรมขึ้นมา ก็สามารถจูงใจและปลุกให้คนยากจนเชื่อถือได้ไม่ยาก
แม้หลายคดีจะมีการสอบสวนและการพิจารณาอย่างเป็นธรรม คนก็ไม่เชื่อถือ
ทุกคนคิดกันแต่ ผู้มีอำนาจสามารถที่จะสั่งให้มีการสอบสวน ยัดข้อหา หรือทำลายพยานหลักฐานให้ ล้มคดี หรือ ดองคดี กันอย่างไรก็ได้!
ฉะนั้น แม้หลายกรณีจะมีเจตนาปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ประชาชนก็เข้าใจว่า เป็นการกลั่นแกล้งและไม่เป็นธรรม
มีแต่การแก้ไขกฎหมายทำให้งานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและการพิจารณาคดีมีความเป็นวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบได้อย่างแท้จริงดังนี้
1.การสอบปากคำบุคคลต้องบันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐาน รวมทั้งในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลอุทธรณ์เรียกดูได้
2.สร้างระบบตรวจสอบงานสอบสวน ฝ่ายปกครองและอัยการต้องได้รับแจ้งให้ร่วมตรวจที่เกิดเหตุคดีฆ่าคนตาย และมีอำนาจตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อได้รับการร้องเรียน
3.ทำลายการผูกขาดอำนาจสอบสวน กระทรวงและกรมที่เจ้าพนักงานตามกฎหมายใดให้มีอำนาจสอบสวนเริ่มคดีได้อีกทางหนึ่ง
4.อัยการจะสั่งฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อ “มั่นใจว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้ศาลพิพากษาลงโทษได้”
มีแต่ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ที่จะยุติความขัดแย้งแบ่งเป็นฝักฝ่ายได้ในระยะยาวอย่างแท้จริง.
ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, March 18 , 2019