ตำรวจ ‘ตั้งด่าน’  กีดขวาง ‘พ.ร.บ.ทางหลวงไทย’ ไร้ความหมาย!

 

ตำรวจ ‘ตั้งด่าน’  กีดขวาง ‘พ.ร.บ.ทางหลวงไทย’ ไร้ความหมาย!

                                                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                ระยะนี้ได้มีประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนเรื่องตำรวจนายหนึ่งซึ่งเป็นลมเส้นโลหิตในสมองแตกขณะใช้เครื่องตรวจจับความเร็วรถบนถนนสายเอเชีย อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

โดยมีคนกลุ่มหนึ่ง ตกเป็นจำเลย เนื่องจากได้เข้าไปถ่ายคลิปเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนายนั้นว่าเป็นการกระทำโดยชอบตามกฎหมายหรือไม่

เนื่องจากมีการแต่งกายที่แปลกประหลาด?

ตำรวจผู้ใหญ่หลายนายกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงกดดันและความเครียดสะสมจนตำรวจต้องล้มป่วยลงอย่างฉับพลัน?

บ้างก็ว่าจะต้องพยายามดำเนินคดีอาญาข้อหาหนึ่งข้อหาใดเพื่อทำให้เกิดความเข็ดหลาบจงได้!

ขอเรียนว่า ถ้าการถ่ายภาพถ่ายคลิปการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานรัฐเป็นความผิดตามกฎหมาย

ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติคงยกกล้องขึ้นถ่ายภาพอะไรเกี่ยวกับเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ทุกคนไม่ได้ ไม่ว่าจะสังกัดกระทรวงทบวงกรมใดในทุกกรณี!              

เพราะล้วนแต่ทำให้เจ้าพนักงานผู้นั้นเกิดความเครียดและความกดดันให้ต้องปฏิบัติหน้าที่กันด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพตามกฎหมายและระเบียบราชการทั้งสิ้น

ใครที่บอกว่าทำไม่ได้และผิดกฎหมาย ก็ต้องถามต่อไปว่า เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาข้อหาใด ถ้าไม่ได้มีเจตนาเพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามมาตรา 138 ที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่า

การถ่ายภาพเช่นนั้น ถือเป็น “การขัดขวาง” ทำให้ทำงานไม่ได้อย่างแน่นอน?

รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ตำรวจไทยนิยมใช้กล่าวหาประชาชนกันตลอดมา

ตำรวจผู้ใหญ่ไม่ว่าระดับใดจึงไม่ควร “มั่ว” สั่ง หรือแม้แต่คิดให้พนักงานสอบสวนหาทางแจ้งข้อหานี้กับใครง่ายๆ เช่นที่ได้ใช้อำนาจกระทำกับประชาชนอย่างเมามันกันจนเป็นนิสัย!

พนักงานอัยการก็ต้องเป็นหลักในการพิจารณา โดยกล้า “สั่งไม่ฟ้องคดี” ที่ไม่มีมูลการกระทำผิดอาญาซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างไม่เป็นธรรมในลักษณะนี้และที่ตำรวจแจ้งมั่วๆ กันอีกนับร้อยนับพันคดี!

จนในปี 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องมีคำพิพากษายกฟ้องคดีหนึ่งซึ่งเกิดในจังหวัดเชียงราย โดยได้ถูกตำรวจกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมในลักษณะเดียวกันมาแล้ว

ไม่ใช่ตำรวจสอบสวนแต่งพยานหลักฐานส่งให้อ่านกันอย่างไร อัยการก็ก้มหน้าสั่งฟ้องคดีไปตาม “นิยายการสอบสวน” นั้น เช่นที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ปัญหาการตั้งด่านกีดขวางทางหลวงของตำรวจไทยในปัจจุบัน นับวันมีแต่จะหนักหนาสาหัสมากขึ้นทุกวัน

ประเทศไทยมีด่านตรวจอยู่ หลายพันจุดทั่วไทย แม้แต่ถนนสายใหญ่ที่เป็นเส้นโลหิตหลักในการสัญจรของผู้คนทุกภูมิภาค

เพราะทุกรัฐบาลได้ปล่อยปละละเลยให้กระทำกันตามใจ จนพวกเขาคิดว่าชอบตามกฎหมายไปแล้ว

ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 38 ได้บัญญัติไว้ว่า

 “ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง แขวน วาง หรือกองสิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ หรือในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือความไม่สะดวกแก่งานทาง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายในการอนุญาต”

และมาตรา 39 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุที่แหลมคมหรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล

ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 38 และ 39 มีโทษทางอาญา มาตรา 72 มีโทษจำคุกถึง 3 ปี     

ไม่ได้มีข้อยกเว้นให้เจ้าพนักงานรัฐไม่ว่ากระทรวงทบวงกรมใดสามารถทำได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงผู้รับผิดชอบความปลอดภัยบนทางหลวงตามกฎหมายแต่อย่างใด

ตำรวจผู้มีหน้าที่มีอำนาจจับผู้กระทำผิดกฎหมายไม่ว่า พ.ร.บ.จราจรทางบก หรือกฎหมายที่มีโทษทางอาญาซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า รวมทั้งการตรวจค้น ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 93 บัญญัติไว้เฉพาะในกรณีที่ “มีเหตุอันควรสงสัย” ว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำผิด หรือซึ่งมีไว้เป็นความผิดเท่านั้น

ตำรวจไม่ว่าระดับใดไม่มีอำนาจตรวจค้นใครมั่วๆ โดย “ไม่มีเหตุอันควรสงสัย” หรืออ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันอาชญากรรมตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะเป็นใครแต่อย่างใด

ที่สำคัญไม่มีอำนาจตั้งวางสิ่งกีดขวางบนทางหลวงในลักษณะอาจเกิดอันตรายแก่ยานพาหนะหรือบุคคลได้ในทุกกรณี

คิดง่ายๆ ว่า ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุรถชนเสียหาย มีคนเจ็บหรือตาย ใครต้องเป็นฝ่ายรับผิดทางอาญาข้อหากระทำประมาทและชดใช้ความเสียหาย

ระหว่างตำรวจ “คนสั่งและคนตั้งสิ่งกีดขวางผิดกฎหมาย” กับ “คนขับรถที่ปฏิบัติตามกฎหมาย”?

เพราะทางหลวงทุกสายที่ได้สร้างขึ้นด้วยเงินภาษีของประชาชน ก็เพื่อให้ผู้คนได้ใช้สัญจรด้วยความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย

จึงได้มีการตรา พ.ร.บ.ทางหลวงขึ้นคุ้มครองทางไม่ให้ใครมาปิดกั้นหรือกระทำการกีดขวางทางสัญจรของประชาชน โดยไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่งานทางเพื่อการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมที่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงรับผิดชอบ

ซึ่งการปิดกั้นถนนจากสี่ช่องทางเหลือสองหรือหนึ่งช่องทางเพื่อการตรวจค้นประชาชนของตำรวจที่กระทำกันทั่วไทยในปัจจุบัน

ไม่อยู่ในเงื่อนไขให้ผู้อำนวยการทางหลวงอนุญาตได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับงานทางใดๆ

นั่นหมายความว่า การตั้งด่านนำสิ่งต่างๆ มาขวางทางหลวงของตำรวจไทย แท้จริงล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น!

ประชาชนส่วนใหญ่จึงรู้สึกคับแค้นใจที่ขับรถไปไหนก็เจอแต่ด่านตำรวจ ขอตรวจค้น ตรวจฉี่ ถามโน่นถามนี่ที่เป็นเรื่องส่วนตัวของประชาชน

แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนกันเสียหาย มีคนเจ็บตาย กลับพากันรีบ “เก็บด่าน” แยกย้ายกันหลบหนีไป ช่วยกันทำลายพยานหลักฐาน!

ไม่มีใครต้องการปรากฏตัวเป็นพยาน ถูกสอบปากคำว่า สาเหตุของอุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดจากการกระทำผิดกฎหมายของบุคคลใด

เพื่อนำไปสู่การแจ้งข้อหาดำเนินคดีอาญา และการฟ้องทางแพ่งให้ชดใช้ความเสียหายทั้งหมด!.

     ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 24 มี.ค. 2568

About The Author