‘ไฟใต้’ดับไม่ได้ เพราะรัฐ ‘ไร้ความยุติธรรม’
‘ไฟใต้’ดับไม่ได้เพราะรัฐ’ไร้ความยุติธรรม’
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
นับจากนี้อีกเพียง ๔ วัน “คดีตากใบ” เจ้าพนักงานรัฐหลายฝ่ายใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหากว่าหนึ่งพันคนขึ้นรถยนต์บรรทุกเพื่อไปคุมขังไว้ในค่ายทหารวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗
แต่เกิดเหตุการณ์ประชาชนผู้ถูกควบคุมตัว หลายคนต้องบาดเจ็บ พิการ
รวมทั้ง ขาดอากาศหายใจ จนถึงแก่ความตายระหว่างการเดินทางไปถึง ๗๘ ชีวิต
ถือเป็น ความตายของบุคคลภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงาน ที่ผิดปกติ และจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพโดยเจ้าพนักงาน ๔ ฝ่ายตามกฎหมาย คือ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง และแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ตามที่มาตรา ๑๔๘ และ ๑๕๐ บัญญัติไว้
รวมทั้งต้อง ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ระบุว่าผู้ตายแต่ละคนคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด
รวมทั้ง เหตุที่ตาย ซึ่งได้ระบุว่า ทุกคนขาดอากาศหายใจ!
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ พฤติการณ์ที่ตาย
ไม่ได้ถูกระบุว่าใครได้ทำอย่างไร ภายใต้การกำกับรับผิด ชอบของใคร เป็นผู้ทำให้ทุกคนขาดอากาศหายใจจนถึงแก่ความตาย?
ไม่ว่าจะเป็นการกระทำฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ มีโทษถึงประหารชีวิต
หรือว่าเป็นความผิดฐาน “การกระทำประมาทเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย” ตามมาตรา ๒๙๑ มีโทษจำคุกถึง ๑๐ ปีคดีความผิดฐานประมาทได้ขาดอายุความ ๑๕ ปีไปแล้ว รัฐไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดคนใดมาฟ้องลงโทษตามกฎหมายในฐานความผิดนี้ได้อีกต่อไป
เหลือแต่ ความผิดข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาแบบเล็งเห็นผล
ตำรวจไทยใช้เวลา สอบสวนคดีนานเกือบ ๒๐ ปี ผ่านผู้รับผิดชอบในหลายระดับ ตั้งแต่หัวหน้าสถานี ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการตำรวจ รวมทั้ง ผบ.ตร.หลายคนมาหลายยุคสมัย!
วันเวลาผ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครสนใจเรื่องการสอบสวนให้ความยุติธรรมตามกฎหมายกับทั้งผู้ตาย ผู้เสียหายและญาติพี่น้องแต่อย่างใด
ในที่สุดได้มีการส่งสำนวนให้อัยการสั่งคดีเมื่อเหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะขาดอายุความ ๒๐ ปี ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๗
การร้อนรนในการส่งสำนวนให้อัยการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
ก็ด้วยเหตุที่ผู้เสียหายได้ไปฟ้องคดีอาญาต่อจำเลยทั้ง ๗ ในข้อหาฆ่าคนตาย โดย ศาลได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีไว้
ทำให้ตำรวจต้องรีบส่งสำนวนที่ ดองเอาไว้เกือบ ๒๐ ปี ส่งให้อัยการสั่งคดี
เพื่อที่ตน จะได้พ้นผิดหากคดีที่ถืออยู่ในมือขาดอายุความ
ในที่สุดอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาล
แต่ไม่รู้ว่าผู้ต้องหาแต่ละคนอันตรธานหายไปไหน ตำรวจนักสืบมือปราบสารพัดหน่วยไม่สามารถสืบจับตัวมาส่งให้อัยการฟ้องคดีได้จนกระทั่งป่านนี้
หมายความว่า เมื่อถึงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๗ หากรัฐบาลยังไม่สามารถจับตัวจำเลยทุกคนตามหมายจับมาส่งให้อัยการฟ้องศาลได้
ความผิดที่ทำให้มีคนตายไม่ว่าการกระทำประมาท หรือเจตนาแบบเล็งเห็นผล ก็จะขาดอายุความทั้งหมด
ไม่มีใครสามารถนำตัวผู้กระทำผิดไม่ว่าข้อหาใดมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองได้อีกต่อไปชั่วนิจนิรันดร์
ทิ้งไว้แต่ความคับแค้นใจทั้งต่อพี่น้องชาวไทย-มุสลิมในภาคใต้และทุกคนในพื้นที่ แม้กระทั่งพี่น้องมุสลิมทั่วโลกที่ถือว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน
ปัญหาไฟใต้ที่รัฐบาลหวังจะดับได้ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาให้ญาติคนตายรายละ ๗ ล้าน
โดยไม่ต้องการให้ใครรื้อฟื้นพูดถึงความรับผิดทางอาญาไม่ว่าจะเป็นข้อหาประมาท หรือฆ่าคนตายโดยเจตนาแบบเล็งเห็นผลตามที่มีการฟ้องคดีอีกต่อไป
คงดับไฟแค้นที่สุมขอนมานานเกือบ ๒๐ ปีลงไม่ได้เพราะคดีฆาตกรรมที่ขาดอายุความได้กลายเป็น “หลักฐานความอยุติธรรม” ที่รัฐไทยได้กระทำต่อพี่น้องชาวมุสลิมอย่างป่าเถื่อนตลอดมา
คำพูดจาหลอกล่อหรือหวานหูให้ฟังดูดีของผู้มีอำนาจรัฐระดับต่างๆ
ไม่สามารถช่วยให้ไฟแค้นของผู้คนที่ “เกลียดความอยุติธรรม” ดับมอดลงได้แต่อย่างใด!.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 23 ต.ค. 2567