‘เบนซ์ เรซซิ่ง’ ศาลยกฟ้อง ชีวิตเสียหายย่อยยับ ใครต้องรับผิดชอบ
‘เบนซ์ เรซซิ่ง’ ศาลยกฟ้อง ชีวิตเสียหายย่อยยับ ใครต้องรับผิดชอบ
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ในช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการทวงถามความยุติธรรมของ เบนซ์ เรซซิ่ง กรณีที่ได้ไปพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ถามความคืบหน้าเรื่องที่เคยยื่นคำขอเงินเยียวยา ค่าติดคุกล่วงหน้า เป็นเวลา นานกว่า 4 ปี
จากคดีที่ถูกตำรวจแจ้งข้อหาว่า สมคบค้ายาเสพติด
คือ การตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดจน ทำให้ชีวิตครอบครัวของเบนซ์เสียหายป่นปี้นับแต่ถูกดำเนินคดีมาจนกระทั่งบัดนี้
สุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2566 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ยกฟ้อง
เวลาผ่านมาเกือบครบปี จนกระทั่งป่านนี้เบนซ์ก็ยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามที่ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยคดีอาญา พ.ศ.2544 บัญญัติไว้ และได้ยื่นคำร้องไป
จึงไป สอบถามรัฐมนตรี ว่า จะได้เมื่อใด?
รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องควรแยกผู้ถูกคุมขังคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาไม่ว่าชั้นสอบสวนหรือศาล ออกจาก ผู้ต้องขังคดีถึงที่สุด ไม่ให้ปะปนกันเช่นปัจจุบัน
เรื่องเงินเยียวยา รัฐมนตรีก็บอกว่า จะ ต้องแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อให้จ่ายเงินได้ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่า “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยไป” ด้วยเสียก่อน
เพราะตามกฎหมาย มีเงื่อนไขเรื่องศาลจะต้องพิพากษาว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิด จึงจะมีสิทธิได้
แต่ ข้อเท็จจริง ไม่ว่าศาลชั้นใดไม่เคยมีคำพิพากษาเช่นนั้น รวมทั้งคดีเบนซ์ด้วย
สรุปว่า ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมยังไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยาให้เบนซ์ได้ เพราะศาลไม่ได้มีคำพิพากษาว่าไม่ได้กระทำผิด
มีแต่คำว่า “ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยไป” ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 บัญญัติไว้
เบนซ์ ให้สัมภาษณ์สื่อแบบมีความหวังว่าจะได้เงินเยียวยาตามที่รัฐมนตรีบอกว่าจะต้อง รอการแก้ไขกฎกระทรวงให้ครอบคลุมเสียก่อน
แต่แท้จริง เป็นได้ยาก!
เพราะหากแก้ได้ ก็ เกิดปัญหาว่าจะสามารถให้มีผลย้อนหลังกับคดีเบนซ์ได้หรือไม่?
และ ถ้าตีความว่าให้มีผลย้อนหลังได้ จำเลยคดีต่างๆ ที่ศาลพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยซึ่งเคยยื่นคำขอไปในอดีตแล้วถูกกระทรวงยุติธรรมปฏิเสธมากมาย
ก็ต้องกลับมามีสิทธิได้ด้วยเช่นกัน!
ปัญหาสารพัดก็จะเกิดขึ้นตามมา
นอกจากนั้นในอนาคต จำเลยทุกคนที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาแล้วศาลพิพากษายกฟ้อง ก็ต้องได้รับสิทธินี้ด้วยทุกคน รัฐหาเงินมาจ่ายกันไม่หวาดไม่ไหว!
ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกตำรวจกลั่นแกล้งแจ้งข้อหา หรือว่าได้ กระทำผิดอาญาจริงแต่พยานหลักฐานจากการสอบสวนและอัยการที่นำไปใช้ในการพิสูจน์ชั้นศาลยังมีข้อสงสัย!
จะเกิดปรากฏการณ์เรื่องผู้กระทำผิดอาญาหรือที่ตำรวจชอบเรียกกันว่า “คนร้าย”นอกจากรัฐจะไม่สามารถลงโทษตามกฎหมายได้แล้ว
ยังได้เงินจากรัฐมาใช้อีกด้วย!
เป็น ความป่วยไข้ขั้นโคม่า ของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่จะ เพิ่มความคับแค้นใจให้กับผู้เสียหายและประชาชนจากเดิมมากขึ้นไปอีก
ปัญหาผู้ต้องหาหรือจำเลย ถูกคุมขังล่วงหน้า ระหว่างดำเนินคดี แล้วสุดท้ายอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลพิพากษายกฟ้อง ชีวิตของบุคคลผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนที่เสียหายย่อยยับนั้น
ควรต้องมีคนรับผิดชอบ “โดยเฉพาะการฟ้องให้ชดใช้ความเสียหายทางแพ่ง”
ไม่ใช่คิดกันว่า ถ้าศาลพิพากษายกฟ้อง ทุกคนสามารถไปยื่นคำร้องขอเงินเยียวยา ค่าติดคุก คิดตามจำนวนวันได้
และแท้จริงเป็น เรื่องลวงโลก เพราะ ส่วนใหญ่ได้แต่ยื่นคำร้อง ไม่ได้เงินกันจริง
เพราะไม่มีศาลใดพิพากษาว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิด ที่จะทำให้มีสิทธิได้รับเงินตามที่กระทรวงยุติธรรมโฆษณาไว้
ทางแก้ไขเรื่องผู้ต้องหาและจำเลย ถูกรัฐคุมขังล่วงหน้า แล้วศาลพิพากษายกฟ้อง
ต้องไม่คิดเรื่องการจ่ายเงินเยียวยา หรือว่าแก้กฎกระทรวงให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่า ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยไป
ทางแก้ที่แท้จริงคือ ทั้งหัวหน้าพนักงานสอบสวนและศาลต้องใช้มาตรการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลักไม่ว่าข้อหาใด หากผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือจะมีภัยอันตรายกับผู้อื่นจากการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น
และควบคุมมิให้ ตำรวจแจ้งข้อหาต่อประชาชนกันง่ายๆ รวมทั้งการเสนอศาลออกหมายจับ
โดยเฉพาะความผิด ข้อหาสมคบกระทำความผิด ที่เลื่อนลอยและสุดอันตราย!
ต้องให้อัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดี มีอำนาจในการตรวจพยานหลักฐานและเห็นชอบให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา หรือว่าเสนอศาลออกหมายจับ
อัยการผู้รับผิดชอบก็ต้องตรวจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วมั่นใจว่า เมื่อได้แจ้งข้อหาหรือจับตัวใครมาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้
ปัญหาศาลยกฟ้อง และจำเลยต้องไปยื่นคำร้องขอเงิน “ค่าติดคุกล่วงหน้า” ก็จะน้อยลงหรือแม้กระทั่งหมดไป
เช่นเดียวกับกระบวนการยุติธรรมในนานาอารยประเทศทั่วโลก.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 23 ก.ย. 2567