‘ยาดองมรณะ’ไม่กลัวกฎหมาย เพราะจ่าย ‘ส่วยตำรวจ’

ยาดองมรณะ’ไม่กลัวกฎหมาย เพราะจ่าย ‘ส่วยตำรวจ’

 

                          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ปัญหาประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนบาดเจ็บล้มตายเหมือนใบไม้ร่วงเพราะการดื่ม ยาดองมรณะ พื้นที่เขตมีนบุรี เป็นเรื่องที่ทำให้ผู้คนรู้สึกหวาดกลัวและรู้สึกสยดสยองอย่างยิ่ง

ประชาชนซื้อเหล้ายาดองกินแล้วเจ็บตายได้อย่างไร?

ใครคือผู้รับผิดชอบ ทั้งทางอาญาและชดใช้ความเสียหายทั้งหมด?

คำตอบคงไม่ใช่แค่การที่ นายพลตำรวจรีบกระวีกระวาดแจ้งข้อหาดำเนินคดี กับเจ๊ปูผู้ผสมเมทานอลในเหล้ายาดองจำหน่ายให้ลูกค้า ดื่มกินแล้วชักตาเหลือกถึงแก่ความตายไปถึง 7 คน

นอนโคม่าอยู่อีกนับสิบ!

ยาดองในรูปแบบต่างๆ ที่ขายกันริมทางหรือตลาดนัดสารพัดในปัจจุบันนั้น อันที่จริงคือ สุรา ซึ่งถือเป็นสินค้าควบคุมประเภทหนึ่ง

การผลิตและจำหน่ายทุกรายต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานรัฐ คือ “กรมสรรพสามิต” ทั้งสิ้น

เพราะคำว่า “สุรา” ตามกฎหมาย หมายถึงวัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุรา

เหล้ายาดองก็เช่นกัน เมื่อมีส่วนผสมของสุราและดื่มได้ ก็อยู่ในความหมายเป็นสุราประเภทหนึ่งด้วย

ผู้ทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 5 มีความผิดทางอาญากำหนดอัตราโทษจำคุกถึง 6 เดือน

และถ้าหากทำและจำหน่ายไปพร้อมกันด้วยมีโทษจำคุกถึง 1 ปี

ส่วนผู้ขายถือเป็นการจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษ ปรับ 5,000 บาท

แน่นอน เจ๊ปูคือผู้ต้องรับผิดทางอาญาทั้งข้อหาทำและจำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งหมด

คงไม่ใช่แค่รายละหนึ่งหมื่นบาทอย่างที่เธอบอกว่ายินดีจ่าย

เจ๊ปูบอกว่า ประกอบอาชีพ ขายเหล้ายาดองแบบนี้มากว่า 30 ปี ไม่เคยมีปัญหา

ฉะนั้น ในข้อเท็จจริงเธอจึงไม่น่าจะเคยถูกจับดำเนินคดีอาญาในข้อหาหรือฐานความผิดใด

แต่ครั้งนี้ เมื่อถึงขนาดมีคนบาดเจ็บล้มตายมากมาย จึงถูกตำรวจจับและดำเนินคดีอย่างกระวีกระวาดในข้อหาทำและจำหน่ายสุรา

รวมทั้งข้อหาประมาททำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย

ปัญหาสำคัญคือ เจ๊ปูทำและจำหน่ายสุราผิดกฎหมายอยู่ได้อย่างไรมานานกว่า 30 ปี?

นี่คือสิ่งที่เธอไม่ได้บอกต่อสังคมว่าทำและขายเหล้าเถื่อนอยู่นานขนาดนี้ได้อย่างไรโดยไม่ถูกกรมสรรพสามิตหรือตำรวจไม่ว่าท้องที่หรือหน่วยใดดำเนินคดี?

หน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบและจับกุมตามกฎหมายในเรื่องการผลิตและจำหน่ายสุราเถื่อน

แน่นอน เจ้าพนักงานสรรพสามิต ผู้รับผิดชอบพื้นที่คือผู้มีหน้าที่ตรวจตราเป็นหลัก

แต่เมื่อตรวจสอบพบจับกุมได้ ก็ต้องส่งให้ตำรวจเป็นผู้สอบสวนดำเนินคดีส่งให้อัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาลให้พิพากษาลงโทษตามกฎหมาย

ตำรวจทุกพื้นที่ทุกสถานีจึงมีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบจับกุมเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งร้าน เหล้าปั่น ซึ่งมีอยู่มากมายทั่วไทย

และที่สำคัญคือ การมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดี ที่เจ้าพนักงานสรรพสามิตไม่มี

การทำผิดกฎหมายใดที่ตำรวจไทยมี อำนาจจับกุมและผูก ขาดการสอบสวน ด้วย ในข้อเท็จจริง ทุกเรื่องจึงไม่พ้นเรื่อง “ส่วย”

จะมากหรือน้อย ก็ต้องจ่าย

มิฉะนั้น ไม่มีทางทำผิดกฎหมายอย่างเปิดเผยอยู่ได้!

เรื่องนี้ถ้าไม่มีปัญหาว่าเจ๊ปูได้ใช้วัตถุอันตรายบางชนิดผสมลงไปจนคนกินแล้วตาย เธอก็สามารถทำและจำหน่ายเหล้ายาดองผิดกฎหมายไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ถูกตำรวจหน่วยใดจับกุม ไม่ว่ากรมสรรพสามิต หรือตำรวจพื้นที่

ความเสียหายถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสและตายของประชาชนจากการซื้อเหล้ายาดองที่วางจำหน่ายเกลื่อนกลาดในตลาดหรือริมทางมาดื่มในครั้งนี้

จึงเป็นเรื่องที่เจ๊ปูผู้กระทำผิดฐานประมาท ต้องรับผิดทางอาญาและชดใช้ค่าสินไหมทั้งหมด

รวมไปถึงผู้เสียหาย ควรรวมตัวกัน “ฟ้องคดีแพ่ง” ต่อรัฐ ทั้ง “กรมสรรพสามิต” และ “ตำรวจแห่งชาติ”

ที่ปล่อยปละละเลยหรือบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมาย

ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องบกพร่องต่อหน้าที่

แต่เป็นเพราะ มีการทุจริต “รับส่วย” เช่นเดียวกับทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

โดยผู้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกจนใจ คิดว่าไม่สามารถแก้ไขอะไรได้นั่นเอง.

ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 2 ก.ย. 2567

About The Author