‘จริยธรรม’ คำแสลงของนักการเมืองและข้าราชการไทย
ยุติธรรมวิวัฒน์
ยุติธรรมวิวัฒน์

‘จริยธรรม’ คำแสลงของนักการเมืองและข้าราชการไทย         

                                                                                       พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

หลังจากที่นักการเมืองทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านรวมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้เกิดอาการ ช็อก จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี เป็น คนไม่มีจริยธรรม ด้วย ข้อเท็จจริงและหลักฐานในการเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน ผู้ที่ถูกศาลสั่งจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล มีพฤติการณ์ที่สังคมไม่เชื่อถือหรือไม่ไว้ใจให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมีคำสั่งจากใครให้กระทำหรือคิดและตัดสินใจด้วยตัวเองก็ตาม

ส่งผลทำให้นายเศรษฐาไม่มีคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารกิจการบ้านเมืองต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) บัญญัติไว้

ถือ เป็นคำวินิจฉัยที่ส่งผลสะเทือนต่อวงการเมืองและราชการประจำครั้งใหญ่ เพราะเป็นการวางบรรทัดฐานทางจริยธรรมในสังคมไทยขึ้นใหม่

ต่อไปทั้งนักการเมืองและข้าราชการเจ้าพนักงานของรัฐทุกกระทรวงทบวงกรม ไม่จำเป็นต้องกระทำความผิดอาญาจนถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือทุจริตมีพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมายอาญาในข้อหาใด

เพียงใคร มีพฤติกรรมและหลักฐานการกระทำชัด ที่ ขัดต่อจริยธรรมของสังคม ทุกคนก็สามารถถูกสั่งลงโทษทางวินัยราชการหรือให้พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองได้

ส่งผลทำให้ขณะนี้ การเลือกเฟ้นหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ของ พรรคเพื่อไทย ประสบปัญหา

จะหาใครที่ไม่เคยฝ่าฝืนจริยธรรม ซึ่งหมายถึง การกระทำที่ไม่ควรประพฤติ มาก่อนเลยนั้น ช่างยากเย็นแสนเข็ญ! คำว่า จริยธรรม เดิมพูดกันอยู่แต่ในวงการการศึกษาและวิชาการเป็นส่วนใหญ่

แต่ถือเป็น คำใหม่ สำหรับนักการเมืองและข้าราชการประจำตามที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 มาตรา 279 บัญญัติไว้ด้วยประโยคว่า

มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น

การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270

การพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลใดเข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษบุคคลนั้น จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 จึงเป็นที่มาสำคัญของการบัญญัติเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งราชการทั้งนักการเมืองและข้าราชประจำ

แต่ในข้อเท็จจริง หลังจากรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ ในทางปฏิบัติการทำผิดจริยธรรมก็แทบไม่มีผลใดๆ ในการลงโทษต่อข้าราชการการเมืองหรือข้าราชการประจำคนใดแม้แต่คนเดียว

โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐกลุ่มตำรวจทหาร ล้วนแต่ยังงงๆ กับคำว่า จริยธรรม กันอยู่ว่า มันคืออะไร?

อย่างไรก็ตาม ในการร่าง รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ก็ได้นำประเด็น “จริยธรรม” มาบัญญัติไว้ในหลายมาตรา

โดยเฉพาะ มาตรา 76 วรรคท้าย ได้บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว

เป็นที่มาของการบังคับให้รัฐบาลต้องร่าง “พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562” ขึ้น ถือเป็น “มาตรฐานทางจริยธรรมกลาง” ทั้งของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ประกอบด้วย 7 ข้อที่สำคัญ ดังนี้

1.ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.ซื่อสัตย์สุจริต มีสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่

3.กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

4.คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ

5.มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน6.ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ7.ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทาง ราชการ

ในส่วนของข้าราชการการเมือง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการออกประกาศ ประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง รวม 42 ข้อ

ใครได้อ่านแล้วอาจกล่าวได้ว่า ในความเป็นจริงแทบไม่มีนักการเมืองคนใดมีคุณสมบัติที่ไม่ขัดต่อประมวลจริยธรรมฯ ดังกล่าวเลย หรือนับคนได้!

เอาง่ายๆ “นำคำสอนทางศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิต” “เป็นแบบอย่างในการเป็นพลเมืองดีด้วยการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”  “ไม่รับของขวัญ ของกำนัล ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่น และจะต้องดูแลให้คู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคลในครอบครัวของตนปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย”

หรือ “ไม่คบหาสมาคมหรือให้การสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน”

ตัวอย่างเช่น นักการเมืองฝ่ายค้านคนหนึ่งซึ่งมีหลักฐานการยอมรับของตนเองว่า ได้เคยไปพบปะคารวะเจรจากับผู้กระทำผิดกฎหมายหนีคดีที่ฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว

เข้าข่าย “การคบหาสมาคมกับผู้กระทำผิดกฎหมาย” ถือว่าเป็น “คนไม่มีจริยธรรม” ขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีที่ “เจ้าของพรรคเพื่อไทย” กำลังพิจารณารายชื่ออยู่หรือไม่?

ในส่วนของข้าราชการพลเรือน ได้มีการจัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนขึ้น

ลงนามโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.พ. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ที่สำคัญก็เช่น “ซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมายและทำนองคลองธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ มีความพร้อมรับการตรวจสอบและรับผิด มีจิตสำนึกที่ดี โดยคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” “กล้าตัดสินในและยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม กล้าคัดค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กล้าเปิดเผยหรือรายงานการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ และไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมเพียงเพื่อรักษาประโยชน์หรือสถานภาพของตนเอง” ฯลฯ

สำหรับตำรวจก็ได้มีการบัญญัติ ประมวลจริยธรรมตำรวจ ขึ้น เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2564 ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร.

ที่สำคัญก็เช่น “ซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย รับผิดชอบต่อหน้าที่พร้อมรับการตรวจสอบและรับผิด”  กล้าตัดสินใจและยืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม กล้าคัดค้านและแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ ไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพียงเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ฯลฯ

ไม่แน่ใจว่า ถ้าตรวจสอบเรื่องจริยธรรมตำรวจกันจริงๆ แล้ว ประเทศนี้จะมี “ตำรวจผู้ใหญ่” ที่ไม่มีพฤติกรรม “ฝ่าฝืนจริยธรรม” ยังมีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งทำหน้าที่

          เหลืออยู่กี่นาย?

          ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 26 ส.ค. 2567

 

 

About The Author