กรรมาธิการสภาฯ ‘ขนมจีน’ รอ ‘น้ำยา’

ยุติธรรมวิวัฒน์

กรรมาธิการสภาฯ’ขนมจีน’รอ’น้ำยา’                                                                                                                                                                                                                     

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น หลักการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐทุกระดับนับเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

อาจกล่าวได้ว่า “อำนาจใดที่ไร้การตรวจสอบ ล้วนเกิดการทุจริตประพฤติมิชอบทั้งสิ้น”

และ ระบบการตรวจสอบจากภายนอกสำคัญที่สุด ก็คือ “การตรวจสอบโดยประชาชน” ผ่านการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาทั้งผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก

รัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมทั้งฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 129 ได้บัญญัติอำนาจตรวจสอบของรัฐสภาไว้ ให้สามารถตั้งสมาชิกเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ รวมทั้งให้บุคคลภายนอกร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลาที่กำหนดได้

โดยให้มี อำนาจเรียก เอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกใครมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่กำลังพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นด้วย

ในวรรคห้า ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกิจการที่คณะกรรมาธิการสอบหาข้อเท็จจริง จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือกำกับ ให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก

แต่ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และไม่ได้บัญญัติโทษอย่างหนึ่งอย่างใดไว้ ทำให้ข้าราชการในหน่วยงานที่มีปัญหาและถูกเรียกมาหลายหน่วย โดยเฉพาะองค์กรตำรวจ ทหาร มักไม่ให้ความร่วมมือในการส่งเอกสารหรือชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้องจำเป็นต่อคณะกรรมาธิการอย่างครบถ้วนตามที่ต้องการ

โดยมักส่งเอกสารเพียงบางส่วนและข้าราชการระดับล่างที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไรเป็นตัวแทนมานั่ง ตอบไม่ตรงคำถามหรือปัญหา เพื่อให้หมดเวลาการประชุมพ้นไปคราวหนึ่งๆ

ซึ่งส่งผลทำให้กรรมาธิการทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา 36 คณะ ไม่ได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่จำเป็นเพียงพอต่อการตัดสินใจในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตลอดมา

คณะกรรมาธิการสภาฯ จึงเป็น “ขนมจีน” ที่ “ไร้น้ำยา” ข้าราชการและเจ้าพนักงานรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจและการบริหารบ้านเมืองอะไร

บ้านเมืองมีปัญหาประชาชนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสแค่ไหน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้พวกเขาได้

ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2554 จึงได้มีการตรา พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ขึ้น

มีมาตราสำคัญคือ บุคคลผู้ที่ถูกคณะกรรมาธิการใช้อำนาจเรียกให้ส่งเอกสารหรือให้มาชี้แจงให้ข้อมูลตามมาตรา 8 แล้วไม่ยอมมา มีความผิดทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 มีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ส่งผลทำให้กรรมาธิการทุกคณะของทั้งสองสภาได้รับความร่วมมือจากหัวหน้าหน่วยงานราชการและเจ้าพนักงานรัฐทุกหน่วย แม้กระทั่งองค์กรเอกชนเป็นอย่างดี

แม้แต่ ผบ.ทบ. ก็ให้ความร่วมมือในการมาชี้แจงให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการตามที่เรียกอย่างดียิ่ง

ถือเป็นสิ่งที่ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความภูมิใจและมั่นใจในอำนาจตรวจสอบเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนกรณีต่างๆ และสามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้อย่างมาก

แต่ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 17/2563 ตาม คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นหนังสือให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในอำนาจและบทลงโทษ

คำวินิจฉัยสรุปได้ว่า พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ดังกล่าว มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 มีปัญหาความชอบตามรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุผลว่า การกำหนดให้มีโทษทางอาญา เป็นภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 129

หลังการวินิจฉัย ได้ส่งผลทำให้หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าพนักงานของรัฐทุกกระทรวงทบวงกรม รวมทั้งรัฐมนตรียินดีปรีดาไปตามๆ กัน!

เพราะการไม่ยอมไปพบคณะกรรมาธิการตามหนังสือเชิญหรือแม้แต่คำสั่งเรียก ไม่มีผลทำให้ใครถูกดำเนินคดีอาญาหรือแม้แต่ถูกลงโทษทางวินัยอะไรเช่นเดิมอีกต่อไป

เรื่องใดได้ประโยชน์อยากไป ก็ไป เรื่องใดตอบไม่ได้และไม่อยากไป ก็อ้างว่าติดภารกิจ และแม้แต่การประชุมโน่นนี่

ทำให้ เกือบสี่ปี ในการทำงานของกรรมาธิการสภาเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง

ซึ่งในที่สุดทำให้กรรมาธิการทั้ง 36 คณะ เห็นตรงกันว่าจะต้องรีบแก้ปัญหา

เป็นที่มาของการจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ…..” ขึ้น

ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ และได้มีมติ รับหลักการ ในคราวประชุมปีที่ 2 ครั้งที่ 7 เมื่อวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567

และได้มีมติตั้งบุคคลทั้งผู้แทนราษฎรและบุคคลภายนอกจำนวน 31 คน เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณาทั้งในชั้นการแปรญัตติและการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเตรียมบรรจุให้สภาฯ พิจารณาในวาระสองและสามต่อไป

สาระสำคัญของร่างทั้งสามฉบับที่ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณา มีเนื้อหาสำคัญตรงกันคือ ข้าราชการและเจ้าพนักงานของรัฐทุกระดับที่ไม่ยอมมาชี้แจง ไม่ให้ข้อเท็จจริง หรือไม่ส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องตามการเรียก ถือเป็นความผิดทางวินัย

เพราะหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ทำให้สามารถกำหนดโทษได้เพียงเท่านี้ ไม่มีทางบัญญัติให้มีโทษอาญาเช่นเดิมได้

สำหรับใน ร่างฉบับของ สส.รังสิมันต์ โรม ให้มีอำนาจเรียกรัฐมนตรีด้วย และถ้าไม่มาถือเป็นความผิดทางจริยธรรม ที่จะต้องส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมาย

เชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ว่าจะมีการปรับเนื้อหาบางส่วนให้ออกมารูปแบบใด จะผ่านความเห็นชอบของสภาทั้งในวาระสองและสามในเวลาอีกไม่นาน

จะทำให้การทำงานของกรรมาธิการทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้รับความร่วมมือจากหัวหน้าหน่วยราชการและเจ้าพนักงานของรัฐทุกระดับมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เป็นการทำให้ “ขนมจีน” มี “น้ำยา” มาประกอบให้สมบูรณ์

ปัญหาความเดือดร้อนสารพัดของประชาชนจะได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะโดยความรับผิดชอบและหน้าที่อำนาจของข้าราชการเองในการเร่งทำงานตามกฎหมาย

เพราะไม่ต้องการให้ “ถูกเรียก” ไปชี้แจงให้ข้อมูล หรือนั่งตอบคำถามของกรรมาธิการทั้ง 36 คณะ

โดยมีประชาชนรับรู้ หรือแม้กระทั่งนั่งดูการถ่ายทอดสดการชี้แจงของข้าราชการในกรรมาธิการบางคณะ

          ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:ฉบับวันที่ 5 ส.ค. 2567

About The Author