ให้ตำรวจเลือกประธาน ก.ตร.ตัดอำนาจรัฐบาล ‘ปฏิลวง’ ต้าน ‘การปฏิรูป’
ให้ตำรวจเลือกประธาน ก.ตร.ตัดอำนาจรัฐบาล “ปฏิลวง” ต้าน “การปฏิรูป”
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ระยะนี้ปัญหาตำรวจกลายเป็นผู้ร้ายในหลายระดับได้ปะทุขึ้นมากมาย ได้ทำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขในลักษณะของ การปฏิรูปครั้งใหญ่ อย่างจริงจัง
หลังจากผิดหวังในตัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ที่ใช้อาวุธและกำลังทหารประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศแล้ว
กลับไม่ได้ทำอะไรที่เรียกว่าเป็นการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง!
เพราะตก “หลุมพราง” ของตำรวจผู้ใหญ่ที่ “มั่วนิ่ม” จัดทำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจขึ้นใหม่
โดยไม่ใช้ฉบับที่คณะทำงานชุดที่นายมีชัยเป็นประธานร่างเสนอต่อนายกรัฐมนตรีตามที่มีคำสั่งให้จัดทำ ซึ่งมีเนื้อหาในหลายมาตราเป็นการปฏิรูปตำรวจประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนจึงยังได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากปัญหาอาชญากรรมและตำรวจเองทำผิดอาญากันสารพัด
ซ้ำพนักงานสอบสวน ไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ออกเลขคดี เพื่อที่จะได้ดำเนินการสอบสวนนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ทุกคนไม่ได้ฝากความหวังว่า นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี จะมีความคิดในการปฏิรูปหรือแม้แต่สังคายนาเพื่อแก้ปัญหาตำรวจอะไร
เพราะเขาไม่เห็นและตระหนักว่าองค์กรตำรวจไทยมีปัญหาร้ายแรงอย่างไร!
ประชาชนจึงทำได้แค่รอเวลาให้ถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าน่าจะได้เห็นบางพรรคการเมืองเสนอนโยบายปฏิรูปตำรวจเพื่อให้ประชาชนเลือก สส.เข้าไปอย่างถล่มทลายในเวลาอีกไม่นาน!
ปัญหาตำรวจไทยไม่ใช่เรื่องการเมืองแทรกหรือนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งใครเป็น ผบ.ตร.ข้ามหัวใครอย่างที่บางคนโดยเฉพาะตำรวจผู้ใหญ่ชอบพูดกันแต่อย่างใด
เพราะไม่ว่าจะได้ใครมาเป็น ผบ.ตร. ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ ท่ามกลางโครงสร้างองค์กรที่วิปริตผิดธรรมชาติของการทำงานในฐานะเจ้าพนักงานยุติธรรมอย่างแท้จริง
ยิ่งถ้ายุคใดได้ ผบ.ตร.ที่มีพฤติกรรมชั่วช้าเลวทราม มีพฤติ กรรมทุจริต ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังธุรกิจตู้ม้า หรือชอบคบหาสมาคมกับนายบ่อน เจ้าของอบายมุขผิดกฎหมาย ขายตำแหน่ง ฯลฯ
ปัญหาตำรวจในช่วงเวลานั้นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ
ตัวชี้วัดงานตำรวจที่แท้จริงก็คือ สถิติอาชญากรรมต้องลดลง บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนรู้สึกปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย อบายมุขผิดกฎหมาย ยาเสพติด หรือแม้แต่อุบัติเหตุ
ไม่ใช่การ “ป้องกันตัวเลข” ด้วยการสั่งไม่ให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์จากประชาชนง่ายๆ ให้ใช้วิธีออก “เลขรับแจ้งความ” หลอกผู้เสียหายลงบันทึกประจำวันไว้ให้ถือกลับบ้านกันไปเช่นที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
แต่แท้จริงไม่ได้มีการสอบสวนตามกฎหมายสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการตรวจสอบแต่อย่างใด
เป็นเหตุให้ประชาชนผู้เสียหายทั่วประเทศต้องดิ้นรนไปหา กัน จอมพลัง สายไหมต้องรอด หรือ ทนาย พาไปออกรายการโทรทัศน์เพื่อให้ตำรวจรีบดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายกันมากมาย!
ไม่มีรัฐใดในโลกที่ผู้เสียหายจากการกระทำผิดอาญาไม่สามารถพึ่งพาตำรวจหรือพนักงานอัยการ และแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดำเนินการสอบสวนนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายได้
ต้องไปออกทีวีร้องไห้กันกระจองอแงเหมือนประเทศไทย!
เป็นเหตุให้สังคมเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในความเป็นจริงทั้งจากปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดสารพัด
ขัดแย้งกับสถิติคดีที่ตำรวจแห่งชาติบันทึกไว้และรายงานให้รัฐบาลรวมทั้งรัฐสภาในแต่ละช่วงเวลา
ปัญหาตำรวจขณะนี้ได้มีความเคลื่อนไหวจากสมาชิกสภาผู้แทนฝ่ายค้าน โดย ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคง กิจการชายแดน และการปฏิรูปประเทศ ได้ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นศึกษาว่าจะปฏิรูประบบตำรวจและการสอบสวนครั้งใหญ่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างไร
จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องมาตราใดบ้าง
ในเวลาอีกไม่นาน ประชาชนก็คงเห็นแนวทางการปฏิรูปตำรวจและระบบงานสอบสวนของชาติที่แท้จริง ในบทบาทของสมาชิกรัฐสภากลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้า
ขณะเดียวกัน เมื่อสามสี่วันที่ผ่านมา ก็ได้มีข่าวว่าสมาคมตำรวจได้เสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติต่อประธานรัฐสภาในฐานะที่เป็นประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอได้
นัยสำคัญของร่างกฎหมายก็เช่น ตัดอำนาจนายกรัฐมนตรีไม่ให้เป็นประธาน ก.ตร. ต่อไป!
โดยให้มาจากอดีต รอง ผบ.ตร.ขึ้นไป ผ่านการเลือกตั้งของตำรวจระดับ รอง ผกก. และสูงกว่านั้นทั่วประเทศ
ไม่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งและควบคุมตำรวจผ่านการบริหารงานบุคคลได้ เป็นองค์กรอิสระจากรัฐบาลคล้ายศาลและอัยการ
รวมไปถึงการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งตำรวจตั้งแต่ระดับสารวัตรขึ้นไปให้ใช้เกณฑ์คำนึงถึงอาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์
แทนของเดิมที่ คำนึงถึงแค่ 33 เปอร์เซ็นต์?
มีตำรวจผู้ใหญ่หลายคนบอกว่านี่เป็นการปฏิรูปตำรวจอย่างสำคัญที่จะทำให้ปัญหาตำรวจไทยลดลง สามารถทำงานกันด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่แท้จริง เป็นการ ปฏิลวง ถ่วงเวลาการปฏิรูปตำรวจแท้จริงที่รัฐสภาโดยคณะกรรมาธิการความมั่นคงและการปฏิรูปกำลังดำเนินการตามแนวทางที่สำคัญ นั่นคือ
1.เลิกลดระบบการปกครองตามชั้นยศและวินัยแบบทหาร เริ่มจากหน่วยตำรวจที่ไม่จำเป็น เช่น งานนิติเวชและพิสูจน์หลักฐาน งานสายการแพทย์พยาบาล การศึกษา ตำรวจฝ่ายอำนวยการ และงานสอบสวน
2.ตำรวจสังกัดจังหวัด ผู้ว่าฯ มีอำนาจควบคุมสั่งงานและแต่งตั้งโยกย้ายให้คุณให้โทษตำรวจในจังหวัดได้ ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการตำรวจจังหวัด
3.โอนตำรวจเฉพาะทางให้กระทรวงทบวงกรมที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายไปรับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวนความผิดส่งให้อัยการฟ้องศาลได้ โดยไม่ตัดอำนาจตำรวจในการสอบสวนไปตามอำนาจหน้าที่ของตน ได้แก่ ตำรวจทางหลวง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจน้ำ ตำรวจเศรษฐกิจ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจจราจร ตำรวจป้องกันการค้ามนุษย์ ตำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ตำรวจปราบอาชญากรรมเทคโนโลยี
4.อัยการมีอำนาจตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญ ตั้งแต่เกิดเหตุ เช่น คดีฆ่า คดีสำคัญหรือมีปัญหา คดีที่ประชาชนร้องเรียนว่าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนไม่ได้ หรือสอบสวนไม่ชอบตามกฎหมายไม่ยุติธรรม
แนวทางดังกล่าวจะทำได้แค่ไหน เพียงใด อยู่ที่คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งต่อไป จะเลือก สส.สังกัดพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายปฏิรูปตำรวจสี่ประเด็นสำคัญนี้ ให้มีเสียงมากพอต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่หรือไม่?.
ที่มา : คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 15 ก.ค. 2567