ตำรวจคุมตัวประชาชนไป ‘ตรวจฉี่’ แล้ว ‘ตกรถตาย’ ใครต้องรับผิดชอบทางอาญาและชดใช้ความเสียหายทั้งหมด
ตำรวจคุมตัวประชาชนไป‘ตรวจฉี่’แล้ว’ตกรถตาย’ ใครต้องรับผิดชอบทางอาญาและชดใช้ความเสียหายทั้งหมด
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ภาพเคลื่อนไหวที่นายทักษิณ ชินวัตร นั่งรถตู้สีดำออกจาก โรงพยาบาลตำรวจหลังถูกพักโทษจำคุกหนึ่งปี ตามที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบตั้งแต่ ผู้บัญชาการเรือนจำอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไปจนถึงนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี อ้างว่า
เขา “ได้รับโทษจำคุกในโรงพยาบาลตำรวจ” ถือเป็นการจองจำที่ไม่ต่างกับเรือนจำกรมราชทัณฑ์ มาแล้วนาน 180 วัน ทำให้มีสิทธิได้รับการพักโทษตามกฎหมายเช่นนักโทษรายอื่นๆ ทุกคนนั้น
ภาพดังกล่าวเป็นหลักฐานชัดเจนที่ทำให้ผู้คนหายสงสัยว่า เขามี “อาการป่วยหนักขั้นวิกฤต” ถึงขนาดที่กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม “จำเป็นต้องส่งตัวออกไปนอนพักรักษาที่ห้องพิเศษโรงพยาบาลตำรวจถึง 180 วัน” ตามที่ระเบียบราชการกำหนดไว้จริงหรือไม่?
ปัญหาต่อไปก็คือ ประธานและกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เห็นหลักฐานภาพนี้แล้วคิดรวมทั้งจะพิจารณาอย่างไรใน เรื่องที่กำลังไต่สวนอยู่ ตามคำร้องของ นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ยื่นเอาไว้
ที่สำคัญคือ จะใช้เวลากันนานเท่าใด?
ถือ เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติผู้สนใจก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ในที่สุดจะมีข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองคนใดจะต้องเข้าไปอยู่ใน “คุก” อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทำให้นักโทษพิเศษคนหนึ่งไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียวเช่นนักโทษทั่วไปในกรณีนี้บ้าง?
มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นข่าวที่ผู้คนสนใจคือ กรณี ตำรวจจังหวัดนครปฐมที่ “ตั้งด่านขวางทางหลวง” ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่มิชอบด้วยกฎหมาย!
แต่ ตำรวจส่วนใหญ่ทั่วประเทศก็ขยันทำกันเป็นประจำทุกค่ำคืน เพื่อให้ได้ “ยอดทุกมิติ” ตามเป้าหมายของเจ้านาย!
โดยด่านตำรวจได้ขอตรวจค้นรถและตัวบุคคล ในที่สุดได้ควบคุมตัวนายณัฐพล ชายอายุ 31 ปี ที่นั่งหลับอยู่ในรถซึ่งภรรยาเป็นผู้ขับจากจังหวัดสุพรรณบุรีในช่วงเวลาตีสี่ เพื่อเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจังหวัดนครปฐม
ตำรวจได้ สั่ง ให้นายณัฐพลปัสสาวะเพื่อตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย
นัยว่าน่าจะเป็นการใช้อำนาจของหัวหน้าชุดปฏิบัติในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรืออาจในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจระดับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดไว้ในกฎกระทรวง?
อำนาจดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2565 มาตรา 115 (3) ที่บัญญัติว่า
เมื่อ “มีเหตุจำเป็น” ประกอบกับ “มีเหตุอันควรเชื่อ” ว่า ผู้ใดเสพสารเสพติด ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจ สั่ง ให้ปัสสาวะเพื่อทดสอบ และ “อยู่ในความดูแล” เป็นการชั่วคราวได้ แต่ต้องไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมง
“เหตุจำเป็น” และ “เหตุอันควรเชื่อ” นั้นมีจริงหรือไม่ คืออะไรและอย่างไร เป็นเรื่องที่ตำรวจผู้ใช้อำนาจต้องชี้แจงต่อผู้ถูกสั่งให้ตรวจและบันทึกเป็นหลักฐานไว้ พร้อมชี้แจงต่อศาลเมื่อเกิดคดีความฟ้องร้องกันได้
แต่เนื่องจากนายณัฐพลไม่สามารถปัสสาวะออกได้ จึงถูกใช้อำนาจนำตัวขึ้นท้ายรถปิกอัพเพื่อไปตรวจที่โรงพยาบาลจังหวัด
หลังจากตำรวจนำตัวนายณัฐพลขึ้นท้ายรถปิกอัพเดินทางไปได้สักพักโดยมีภรรยาขับตามมาอยู่ห่างๆ ได้พบว่า
นายณัฐพล ได้นอนสิ้นใจตายอยู่ริมทางหลวง มีเลือดไหลออกจากศีรษะจำนวนมาก!
ตำรวจอ้างว่า ระหว่างเดินทางนายณัฐพลกระโดดลงจากรถไป ไม่ได้มีใครทำโดยเจตนา หรือประมาททำให้พลัดตกลงไปแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ถือว่าเป็นการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานในการ “ควบคุมตัว” รูปแบบหนึ่ง
ซึ่งเมื่อเกิดเหตุถึงแก่ความตายไม่ว่าจากกรณีใด กฎหมายบัญญัติให้ต้องมี “การชันสูตรพลิกศพ” ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 148 และ 150 โดยเจ้าพนักงานสี่ฝ่ายคือ อัยการ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวน และแพทย์
และในการ “ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ” ของพนักงานสอบสวน ก็ต้องแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมดำเนินการ และมีหน้าที่ต้อง “ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการ” ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ อาญา มาตรา 150 วรรคหก
ยิ่งไปกว่านั้น หลัง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.2566 เป็นต้นมา
มาตรา 22 บัญญัติให้ต้อง บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแจ้งการควบคุมตัวประชาชนให้อัยการ นายอำเภอ และกรมการปกครองทราบทันที
ผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัวได้มีการปฏิบัติอย่างครบถ้วนถูกต้องหรือไม่?
ถ้าไม่ได้ทำ ก็ถือเป็นเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีกส่วนหนึ่ง
โดยเฉพาะการไม่แจ้งการควบคุมตัวนายณัฐพลให้นายอำเภอและอัยการจังหวัดทราบทันที เข้าข่ายมีความผิดฐาน “ปกปิดชะตากรรม” ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ นายอำเภอท้องที่ อัยการจังหวัด และกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสอบสวนมีหน้าที่เริ่มคดีเองได้
การใช้อำนาจรัฐใน “การควบคุมตัวประชาชน” ไม่ว่ากรณีกระทำผิดอาญาหรือกรณีใดๆ ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่เจ้าพนักงานทุกฝ่ายต้องกระทำกันเท่าที่จำเป็นตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น
เพราะในกรณีที่มีความตายของบุคคลภายใต้การควบคุมของตนเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติต้องรับผิดชอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางอาญาหากว่าเป็นการกระทำโดยประมาท รวมทั้งต้องชดใช้ความเสียหายทั้งหมด
ตำรวจทุกระดับจึงไม่ควรหลับหูหลับตาทำตามคำสั่งของเจ้านายโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และจะส่งผลทำให้ตนได้รับความเดือดร้อนตามมามากมาย
จะใช้อำนาจควบคุมตัวใคร ไม่ว่าจะเป็น “การจับ” หรือ “ตรวจค้น” “การสั่งให้ตรวจปัสสาวะ” หรือ “การสั่งให้เป่าทดสอบความเมา”
ทุกคนต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และใช้ความระมัดระวังรับผิดชอบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนทุกคนทุกวินาทีที่อยู่ภายใต้ “อำนาจการควบคุม” ของตน.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 19 ก.พ. 2567