‘ครูเวร’ไม่ปลอดภัย เพราะตำรวจผู้ใหญ่ ‘รับส่วยอบายมุข’ แหล่งเพาะอาชญากรรมและปัญหายาเสพติด
‘ครูเวร’ไม่ปลอดภัย เพราะตำรวจผู้ใหญ่ ‘รับส่วยอบายมุข’แหล่งเพาะอาชญากรรมและปัญหายาเสพติด
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เหตุการณ์ครูผู้หญิงโรงเรียนของรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งถูกจัดให้เข้าเวรรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินช่วงวันหยุด
ได้ถูก ชายหื่นถืออาวุธปืนและมีด บุกเข้าประชิดตัว หวังข่มขืน!
แต่เธอได้ดิ้นรถต่อสู้ขัดขืนอย่างสุดฤทธิ์ พยายามยื้อแย่งมีด จนรอดมาได้ พร้อมอาการบาดเจ็บทั้งกายใจเป็นแผลลึกเสียขวัญไปอีกนาน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีสั่งยกเลิกการจัด ครูเวร รักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของรัฐทุกแห่งทันที
โดยที่ยังไม่มีแผนการปฏิบัติว่าจะสร้างระบบรักษาความปลอดภัยแบบใดมาทดแทน!
ปัจจุบัน ปัญหาหนักอกจึงตกอยู่กับ “ผู้อำนวยการโรงเรียนและสถานศึกษาของรัฐ” ทุกแห่งทั่วไทย
ทุกคนยังคิดไม่ออกว่า ถ้าไม่มีครูอยู่เวรวันหยุดแล้ว โรงเรียนจะป้องกันไม่ให้ใครบุกรุกเข้าไปลักทรัพย์ หรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดได้อย่างไร?
ขณะนี้หลายแห่งจึงยังไม่มีการยกเลิกครูเวรทันที!
อ้างว่ายังต้องรอให้มีคำสั่งอย่างเป็นทางการมาก่อน และบางสถานศึกษาก็ใช้วิธีเลี่ยงบาลีด้วยคำว่า
มอบหมายให้ครูดูแลทรัพย์สินของโรงเรียนแทน!
แม้จะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของมติ ครม.ที่ต้องการให้ยกเลิกความรับผิดชอบของครูในเรื่องนี้ทันที
แต่เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการต่อว่า การรักษาความปลอดภัยในและรอบโรงเรียนมิให้ถูกบุกรุกหรือโจรกรรมนั้น
ให้ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” รับผิดชอบแทน โดยกำหนดแผนการปฏิบัติให้ชัดว่าจะทำอย่างไร
นอกจากนั้นปัญหาสำคัญก็คือ ตำรวจไทยจะพัฒนาระบบงานรักษาความปลอดภัยโรงเรียนของรัฐทุกแห่งอย่างไร จึงจะสามารถป้องกันมิให้ใครบุกรุกเข้าไปในวันหยุด หรือรักษาทรัพย์สินมีค่า เช่น อุปกรณ์การศึกษา เครื่องคอมพิวเตอร์
หรือแม้กระทั่ง “มิเตอร์” และ “หัวก๊อกทองเหลืองน้ำประปา” มิให้ถูกโจรกรรมกันไปมากมายเช่นที่ได้เกิดขึ้นในหลายโรงเรียน แม้แต่เขตกรุงเทพมหานคร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน หลายโรงเรียนมี ต้นพะยูง ไม้มีค่าอายุนับร้อยปีอยู่ในพื้นที่
ปัจจุบันได้มีแก๊งคนร้ายพร้อมอาวุธสงครามขับรถ ตระเวนปล้น หรือลักลอบตัดอยู่ทั่วไป!
ยิ่งขณะนี้ เมื่อไม่มีครูเวรคอยดูแลเป็นหูเป็นตา หวังจะให้ตำรวจเข้าไปตรวจดูแลแทน
ในอนาคตทุกโรงเรียนคงไม่เหลือต้นไม้พะยูงแม้แต่ต้นเดียว!
หลักการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ดี คงไม่ใช่วิธีจัดคนทั้งหญิงชายผลัดเปลี่ยนกันไปนั่งเฝ้าบ้านหรือสถานที่รวมทั้งทรัพย์กันทุกวี่ทุกวันเช่นปัจจุบันเป็นแน่
แต่ โดยหลักการก็คือ รัฐต้องทำให้ทุกสังคมและทุกชุมชน “ไม่มีคนร้าย”
ฉะนั้น การบังคับกฎหมายป้องกันอาชญากรรมที่สำคัญสามฉบับ คือ พ.ร.บ.การพนัน พ.ร.บ.สถานบริการ และ พ.ร.บ.อาวุธปืน จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะกิจกรรมผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นที่มาของ “การฆ่า” “การทำร้าย” “ลักขโมย” ไปจนกระทั่งการค้าและเสพยาติด บ่อเกิดของอาชญากรรมตามกฎหมายอาญาทุกข้อหา
หรือแม้ใครในสังคมที่มีจิตใจวิปริตคิดละเมิดกฎหมาย กระทำแล้วไม่ว่าจะเกิดความเสียหายมากหรือน้อยเพียงใด
รัฐก็ต้องไม่ปล่อยให้ หลุดรอด จากอาญาแผ่นดินไปได้
หากรัฐดำเนินการอย่างจริงจังในสองเรื่องที่สำคัญนี้ คนร้ายก็จะไม่มีเกิดขึ้นในสังคมไทยมากมายเช่นปัจจุบัน
ฉะนั้น การรักษากฎหมายป้องกันอาชญากรรมที่สำคัญสามฉบับ รวมทั้งการสอบสวนดำเนินคดีกรณีเมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้นโดยมิชักช้าตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 130 บัญญัติไว้จึงเป็นหัวใจของการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมไทย
แต่สองข้อที่สำคัญนี้ ตำรวจผู้ใหญ่กลับ ไม่สนใจทำ
อาชญากรรมสารพัดจึงเกิดขึ้นมากมายในแทบทุกอำเภอและตำบล
จนกระทั่ง “ครูเวร” ทั้งหญิงชาย ก็ไม่สามารถป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากอาชญากรร้ายที่เกิดจากแหล่งอบายมุขสารพัด
ที่ตำรวจผู้ใหญ่นั่ง “รับส่วย” กันจนร่ำรวยมาอย่างยาวนานเหล่านั้นได้.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 29 ม.ค. 2567