บรรจุตำรวจโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน  เปิดช่อง ผบ.ตร.ทุจริตฉ้อฉล และสร้างอิทธิพล

ยุติธรรมวิวัฒน์

บรรจุตำรวจโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน  เปิดช่อง ผบ.ตร.ทุจริตฉ้อฉล และสร้างอิทธิพล

 

                                                                                                               พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                ระยะนี้นอกจากสังคมมีประเด็นเรื่อง แก๊งอั้งยี่ทางหลวง ทั้งพวกมีเครื่องแบบและไม่มี  เดินสายขาย สติกเกอร์ ติดหน้ารถบรรทุก  เป็น เครื่องหมายรายเดือน คล้ายใบเสร็จว่า  ได้จ่ายส่วย ให้ ตำรวจทางหลวงและพื้นที่ทุกหน่วย แล้ว

จะบรรทุกหนักผิดกฎหมายกันเท่าไร ทำดินหินหรือวัสดุตกหล่นอย่างไร จะติดแผ่นป้ายทะเบียนหรือไม่ วิ่งซ้ายหรือขวาช่องทางใด ประชาชนเดือดร้อนแค่ไหน

รับรองไม่มีตำรวจคนใด หรือ “ด่าน” พื้นที่สถานีใดตรวจจับ!

หรือหากพลาดพลั้งถูกจับ ก็รับจะประสานงาน เคลียร์คดี ให้ รถจะไม่ถูกยึด ความผิดไม่ถึงเจ้าของรถแน่นอน

สหพันธ์ผู้ประกอบการขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ประเมินว่า แก๊งอั้งยี่ทางหลวงกลุ่มนี้มีรายได้ ปีละไม่ต่ำกว่าสองหมื่นล้านบาท!

หลังการเลือกตั้งใหญ่และพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากสุด อยู่ระหว่างพยายามจัดตั้งรัฐบาล จึงได้มีการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ฯ อีกครั้งขอให้ หัวหน้าพรรคคือคุณพิธา ว่าที่นายกรัฐมนตรี ช่วยจัดการ

ตร.แห่งชาติ จึงเพิ่งรู้ กระวีกระวาดสั่งให้มีการสืบสอบพบหลักฐานว่ามีตำรวจยศ จ่าดาบ ร่วมกันกระทำผิดอาญาประมาณ 10 คน

ส่วนตำรวจยศนายพลและชั้นนายพันทุกหน่วยและทุกพื้นที่ ไม่มีใครเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หรือได้ “รับส่วย” ในจำนวนสองหมื่นล้านนั้นเลยแม้แต่คนเดียว!

เป็นเรื่อง น่าขำ สำหรับประชาชนที่เห็นการสอบสวนของตำรวจสามารถหาพยานหลักฐาน การกระทำผิดระดับชาติเข้าข่าย “แก๊งอั้งยี่” ได้เพียงเท่านี้

มีอีกเรื่องหนึ่งแทรกขึ้นมาในสังคมก็คือ  กรณี ผู้กองแคท ได้เลื่อนยศอย่างรวดเร็วจาก ส.ต.ต. เป็น ร.ต.อ. ในเวลาไม่ถึงห้าปี

เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดของประชาชนและสื่อมวลชนหลายคนว่าเธอได้เลื่อนยศเร็วอย่างผิดปกติ

แต่แท้จริงเป็นการเลื่อนตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาเหมือนกับตำรวจชั้นปริญญาตรีทุกคนไม่ว่าอบรมหลักสูตรใด

ปัญหาที่ควรตั้งคำถามก็คือ เธอเข้าเป็นตำรวจโดยไม่ผ่านการสอบแข่งขันกับคนทั่วไปด้วยเงื่อนไขใด

ข้อเท็จจริงเป็นการใช้ช่องทางพิเศษที่เรียกว่า การคัดเลือก

ซึ่งหมายถึงไม่มีการประกาศรับสมัครสอบอย่างเป็นเรื่องเป็นราวให้คนหนุ่มสาวที่ต้องการเข้าเป็นตำรวจทราบและยื่นใบสมัครทำข้อสอบแข่งขันกัน

องค์กรตำรวจได้ เปิดช่อง ให้มีการบรรจุคนเข้ารับราชการด้วยวิธีการคัดเลือกแบบนี้ได้ใน สามกรณี คือทายาทของตำรวจผู้เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ หรือผู้ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ หรือผู้มีคุณวุฒิปริญญาหายากเป็นที่ต้องการของตำรวจบางหน่วย

แต่ช่องทางที่เปิดไว้ ได้กลายเป็นโอกาสของ ผบ.ตร.บางคนใช้อำนาจสร้างอิทธิพล รวมไปถึงการทุจริตฉ้อฉลในการบรรจุลูกเศรษฐีมีเงิน ลูกหลานนายพล

หรือแม้กระทั่ง “เมียน้อย” คนมีอำนาจทั้งราชการและการเมืองก็เข้าเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรกันด้วยวิธีนี้มากมาย

ส่วนคนยากจนที่อยากเป็นตำรวจไม่ว่าชั้นสัญญาบัตรหรือนายสิบ ก็ต้องหาทางสอบแข่งขันกันตามที่จะเปิดรับสมัครในแต่ละปี หรือช่วงเวลา

สอบกันแต่ละครั้งมีคนสมัครมากกว่าตำแหน่งที่เปิดรับ นับร้อยเท่า แต่ละคนต้องทุ่มเทเวลาอ่านหนังสือกันเลือดตาแทบกระเด็น

การรู้จัก ผบ.ตร.และขอให้ช่วยบรรจุจึงเป็นวิธีที่ง่ายกว่ามาก

แต่พ่อแม่หรือ คนกลาง ที่รับอาสาจะไปพูดคุยเจรจาให้ก็ต้อง มีเงิน มีอำนาจ หรือยอมเป็น “หนี้บุญคุณ” แลกเปลี่ยนอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยกันทั้งสิ้น

การบรรจุคนเข้ารับราชการโดยไม่ผ่านการสอบนี้ ปัจจุบันไม่มีหน่วยราชการพลเรือนใดสามารถทำได้ เพราะ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 53 บัญญัติไว้ว่า

“การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ให้บรรจุและแต่งตั้งจากผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งนั้น โดยบรรจุตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้”

แต่สำหรับตำรวจ นับแต่ได้มี พ.ร.บ.ตำรวจ แยกกรมตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทย ทำให้การบรรจุแต่งตั้งตำรวจไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนที่วางหลักในเรื่อง “ระบบคุณธรรม” และ “ประโยชน์ของทางราชการ” อะไรอีกต่อไป

การบรรจุตำรวจทุกชั้นประทวนและสัญญาบัตรตามมาตรา 50 สามารถทำได้ทั้งวิธีคัดเลือกและสอบแข่งขัน

โดยเป็นอำนาจของ ผบ.ตร.แต่เพียงผู้เดียว

ข้อเท็จจริงของการปฏิบัติจึงกลายเป็นว่า “ลูกคนจนหรือคนไร้เส้นสาย” ใช้วิธีสอบแข่งขัน

ส่วนคนมีเงิน มีอำนาจ ก็สามารถฝาก ผบ.ตร. ให้บรรจุลูกหลานโดยวิธีคัดเลือกได้

ไม่ต้องสอบแข่งขันตาม “ระบบคุณธรรม” กับลูกหลานประชาชนคนใดทั้งสิ้น!.

 

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 12 มิ.ย. 2566

About The Author