วงเสวนาชำแหละ!พรก.อุ้มหาย ขัดรธน.ฟันธง เชื่อสภาตีตกแน่ นายกฯต้องรับผิดชอบ
วงเสวนา ชำแหละ พรก.เลื่อนใช้บังคับพรบ.อุ้มหาย ขัดหลักปชต.และขัดรัฐธรรมนูญ ‘ดร.ปริญญา’ ฟันธงศาลรธน.ตีตกแน่ แต่หากผ่านศาลมาได้ สภาชุดใหม่ก็จะปัดตก ถือว่าพรก.ไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้น ชี้นายกฯต้องรับผิดชอบ แนะผบ.ตร.สั่งให้ปฏิบัติตามพรบ.เดี๋ยวนี้เลย ‘วิรุตม์’ จวกเป็นความสกปรกของผู้เกี่ยวข้อง หวั่นเป็นความวิบัติของประเทศที่ฝ่ายบริหารออกกฎหมายมาขัดขวางฝ่ายนิติบัญญัติได้ ‘พรเพ็ญ’ หวั่นชายแดนภาคใต้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ
เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 เวลา 14.00-15.00 น. สภาที่ 3 ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ จัดเสวนา สภาที่ 3 Speak ทางออนไลน์ เรื่อง “ชะตากรรมประชาชน หลังรัฐบาลประยุทธ์ ออกพ.ร.ก.เลื่อนบับคับใช้พ.ร.บ.อุ้มหาย” กล่าวเปิดอภิปรายโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ ร่วมอภิปรายโดย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ดำเนินรายการและร่วมอภิปรายโดย นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
โดยนายอดุลย์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สภาที่ 3 ย้ำกับประชาชนตลอดมาคือบ้านเมืองต้องดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งสภาที่ 1 หรือสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถเป็นความหวังของประชาชนได้และยิ่งเป็น สภาที่ 2 คือวุฒิสภา (ส.ว.)นั้นที่มาจากการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลยิ่งคาดหวังไม่ได้ ส่วนบุคลากรของภาคประชาชนคือสภาที่ 3 ซึ่งมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายแต่ละด้าน ได้มารวมตัวกันเพื่อใช้ความสามารถให้เป็นประโยชน์กับประชาชนต่อไป ซึ่งการจัดอภิปรายประเด็นสาธารณะที่ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง ในสถานที่ต่างๆไม่ต่อเนื่องและไม่ทั่วถึงประกอบกับประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งระดับชาติในเร็ววันนี้ จึงจะได้นำผู้ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นมาอภิปรายให้ประชาชนพิจารณาให้เป็นประโยชน์ผ่านระบบออนไลน์ โดยจะมีผู้มีความรู้ความสามารถในเรื่องต่างๆที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมาร่วมเวทีและอภิปรายเพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนและเพื่อประโยชน์สาธารณะต่อเนื่องและเข้มข้นยิ่งขึ้น
ดร.ปริญญา กล่าวว่า การที่ฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนด ( พ.ร.ก.) เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯรวม 4 มาตรานั้น เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลทำแบบนี้ได้ ซึ่งขัดกับหลักการปกครองประชาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ ครม.ออกกฎหมายในลักษณะสภาพบังคับเหมือน พ.ร.บ.คือให้ ครม.ออก พ.ร.ก.ไปก่อนแล้วค่อยมาเข้าสภาฯ ทีหลังเพื่อการอนุมัติ ฉบับแรกคือฉบับ 2489 โดยมีเงื่อนไขคืออยู่ระหว่างสภาถูกยุบกับกรณีเรียกประชุมสภาไม่ทันท่วงที เพียง 2 เงื่อนไขนี้เท่านั้น กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ก็ได้ตัด 2 ข้อนี้ออกตัดเอาเงื่อนไข 2 ข้อนี้ออก ซึ่งถือเป็นความผิดพลาด และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 ฉบับปัจจุบันยิ่งเป็นความผิดพลาดที่หนักขึ้นไปอีก เพราะหากพิจารณารัฐธรรมนูญปี 2550 เดิมนั้นมี 4 เหตุ ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารออก พ.ร.ก.ได้คือ 1)ความปลอดภัยของประเทศ 2)ความปลอดภัยสาธารณะ 3) เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและ 4) ภัยพิบัติสาธารณะ รวมทั้งมีวรรค 2 ที่ว่า ต้องมีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้และเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ แต่นายมีชัย ตัดอำนาจการตรวจสอบในวรรค 2 ดังกล่าวออกไป ทำให้ไม่มีใครในประเทศตรวจสอบ ครม.ได้เลย
“อาจารย์มีชัย ทำให้พลเอกประยุทธ์ สามารถออก พ.ร.ก.ที่มีสภาพบังคับเทียบเท่าพระราชบัญญัติตามอำเภอใจได้ เพราะไม่มีศาลใดจะไปตรวจสอบได้เลยถ้าเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ทั้งเนื้อหาว่าการที่ฝ่ายบริหารหรือครม.นั้นจะออกพระราชกำหนด เข้าข้อกฎหมายหรือไม่และมีความเร่งด่วนจริงหรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันศาลมีอำนาจแค่พิจารณาว่า การจะออกพระราชกำหนดเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่เท่านั้น ไม่มีอำนาจตีความเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด ”
ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการที่ฝ่ายบริหารออก พ.ร.ก.นั้น มีหลักการคือต้องให้สภาฯเห็นชอบ ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 6 จาก 9 คน จึงจะชี้ว่าการออกกฎหมายของรัฐบาลขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่หากเสียงตุลาการไม่ถึง 6 เสียงใน 9 เสียงก็จะต้องตีกลับมาที่สภาฯ และคาดว่าน่าจะทราบผลในปลายเดือนเมษายนยืนยันว่า ต้องกลับไปสู่หลักการแบ่งแยกอำนาจคือฝ่ายบริหารออกกฎหมายเองไม่ได้ ถ้าเป็นระดับ พ.ร.บ.ต้องให้สภาเท่านั้น และนี่คือประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทยที่พ.ร.ก. จะไม่ผ่านสภาฯ บอกว่ารัฐบาลไม่ได้กลัวในเรื่องนี้เพราะหากไม่พอใจก็เตะออกจากสภาและการให้ ส.ส.รัฐบาล เข้าชื่อกันส่งศาลรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นครั้งแรกเพราะปกติจะเป็นฝ่ายค้าน ที่รวมเสียง 1 ใน 5 ของสภาฯ เพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ครั้งนี้เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ที่ยื่นศาลเองเนื่องจากเกรงว่าพระราชกำหนดจะไม่ผ่านสภา ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีแรงจูงใจหรือเป็นเหตุผลทางการเมือง
“เป็นเหตุผลทางการเมืองที่รัฐบาลต้องเตะออกเพราะปล่อยให้เลี้ยงต่อไปเสียประตูแน่นอน เตะออกครับเพราะรัฐธรรมนูญอาจารย์มีชัย เปิดช่องให้เตะออกได้ แต่เชื่อว่าไม่เข้าเงื่อนไขที่ ครม.จะออก พ.ร.ก. นี้ได้ แต่ไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะถึง 6 ใน 9 เสียงหรือไม่ ในกรณีนี้ถ้าถึง 6 เสียงก็ตกไปเลย”
ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ส่วนการที่พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ขอเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายออกไป โดยให้เหตุผลว่าไม่พร้อมทั้งเรื่องกล้องและบุคลากรนั้นถือว่าฟังไม่ขึ้น ทราบว่า ผบ.ตร.แจ้งแก่นายกรัฐมนตรีและปรึกษานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และออกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราใน พ.ร.บ.อุ้มหายไปวัน 1 ตุลาคม เพราะ ผบ. ตร.จะเกษียณอายุราชกาาวันทรา 30 กันยายน 2566 ซึ่งเห็นเจตนาได้ไม่ยาก แต่หากศาลรัฐธรรมนูญตีตก ก็ถือว่า พ.ร.ก.นั้นไม่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้น ดังนั้น ผบ.ตร.จะมาใจเย็นอยู่ไม่ได้ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญได้เพียงแค่ 5 เสียงไม่ถึง 6 เสียงคือชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะต้องตีเรื่องนี้กลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีการยุบสภาไปแล้ว ต้องรอให้มีการเปิดสภาฯคาดว่าเดือนกรกฎาคม ซึ่งเชื่อว่าสภาฯชุดหน้าไม่มีทางอนุมัติ พร้อมยืนยันว่า พ.ร.ก.นี้ยังไงก็ตก หรือไม่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญราวเดือนเมษายน ก็ตกจากสภาชุดหน้าเดือนกรกฎาคม
“หากตกโดยศาลรธน. พรก.จะไม่มีมีผลตั้งแต่ต้น เท่ากับ พรบ.ป้องกันทรมาน บังคับใช้ตั้งแต่ 22 ก.พ. 66 เลยน่ะ แต่หากสภาไม่อนุมัติจะถือว่าตกในวันนั้น แต่โอกาสตกในศาลรธน.มีสูง แต่ต้องมี 6 เสียงขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตกอยู่ดี ผบ.ตร.จะมาใจเย็นไม่ได้ ต้องสั่งการให้ตำรวจใต้การบังคับบัญชา ทำตามพรบ.อุ้มหายเดี๋ยวนี้เลย ทำตาม 22 ,23 ,24 ไม่ต้องรอ 1 ต.ค. และจะเป็นการแยกตำรวจดี ตำรวจเลว ถ้าพรบ.นี้บังคับใช้ ใครจะมาจับ ไม่มีกล้อง เราจะไม่ยอม แล้วเราจะปลอดภัย สตช.เป็นหน่วยงานในการบังคับบัญชาของนายกฯ การไปเลื่อนการบังคับใช้ นายกฯจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ คนที่รับผิดชอบคู่กันคือนายกฯกับผบ.ตร. โดยเฉพาะการอาสามาเป็นนายกฯอีก2 ปี มาทำอย่างนี้ได้อย่างไร”ดร.ปริญญา กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า พ.ร.บ.อุ้มหายไม่ใช่แค่ป้องกันการอุ้มหายอุ้มฆ่า แต่ยังมีประเด็นที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมและทำให้ตำรวจกลับมาอยู่ในกรอบการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยเฉพาะบทบัญญัติเนื้อเรื่องมาตรการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายในมาตรา 22 ,23, 24 ,25 ที่ถูกเรื่องการบังคับใช้ออกไป แต่ขณะนี้ พ.ร.บ.อยู่ในสภาพพิการเพราะถูกที่เลื่อนออกไปและเป็นหัวใจของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งการบันทึกภาพการจับกุมตัวการ, ให้เข้าเยี่ยม, การรายงานการแจ้งการจับนายอำเภอและอัยการทราบจะไม่สามารถดำเนินการจับแล้วปล่อยหรือจับไปเพื่อต่อรองผลประโยชน์จะหมดไป
“มันเป็นความสกปรกของผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่หลอกนายกฯในเรื่องความไม่พร้อมซึ่งเป็นความเท็จเนื่องจากจริงๆเจ้าหน้าที่ตำรวจปัจจุบันมีอยู่อย่างเหลือเฟือและสามารถสลับการใช้กล้องบันทึกภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องมีประจำตัวทุกนาย นายกรัฐมนตรีออกข้อพระราชกำหนดดังกล่าว และจะทำให้ความวิบัติจะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยหมายความว่า เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาออกกฎหมายอะไรมา ฝ่ายบริหารคือรัฐบาลก็สามารถออกพระราชกำหนดมาขัดขวางหรือล้มร่างกฎหมายได้”
พ.ต.อ.วิรุตม์ ยืนยันว่า การรายงานการจับกุมให้นายอำเภอและอัยการ จะทำให้ การสุจริตการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจก็จะเกิดขึ้นประชาชนจะมีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพและป้องกันการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจ ถือเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้าและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยขนาดใหญ่ เพราะไม่มีกฎหมายใดจะเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติการควบคุมการจับกุมและสอบสวนได้ดีเท่ากับกฎหมายฉบับนี้ ที่จะส่งผลให้ตำรวจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตำรวจที่ทำงานแบบเก่าใช้อำนาจโดยมิชอบเกินขอบเขตด้วย
ขณะที่นางสาวพรเพ็ญ กล่าวในมุมมองและฐานะของภาคประชาชนที่ทำงานกับผู้เสียหายเกี่ยวกับกรณีอุ้มผายอุ้มฆ่ารวมถึงการจับกุมบุคคลหรือนำตัวไปสถานที่ต่างๆว่าบางบริบทกฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องสงสัยในพื้นที่ที่ไม่เปิดเผยได้อย่างเช่นในค่ายทหารที่มีหลายกรณี และกลไกของกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถจดบันทึกการซ้อมทรมานการกระทำการที่ไม่ชอบและการบังคับให้สูญหายได้และร่างพ.ร.บฉบับนี้กำลังจะทำให้สังคมย้อนไปตรวจสอบข้อมูลได้เพราะมีการบันทึกกระบวนการจับกุมและสืบสวนสอบสวนแต่ละครั้ง
นางสาวพรเพ็ญ กล่าวถึงความผิดหวังต่อนายชวนหลีกภัยประธานรัฐสภาที่บอกว่า มีจดหมายน้อยจาก ส.ส.กลุ่มหนึ่งจะขอตีความว่า พ.ร.ก. ที่คณะรัฐมนตรีเสนอขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องส่งไปในวันเดียวกันที่จะมีการอภิปรายเพราะกฎหมายให้ระยะเวลาถึง 3 วันในการยื่นเรื่อง แต่มีการกดออดขึ้นกระทันหัน จึงเชื่อว่านายชวน ไม่อยากรับฟังส.สที่จะอภิปรายและเข้าใจว่าเป็นการชิงไหวชิงพริบหรือชิงบทบาททางการเมืองซึ่งเป็นการทำงานให้กับรัฐบาล แต่ไม่ได้เป็นการทำงานให้กับประชาชน ทั้งเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อหน้าประชาชนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคน ทำให้เราเห็นว่าการทำงานของ ส.สในบางยุคไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยแท้ และการต่อรองกันในวันนั้นและก่อนหน้านั้นคือผลประโยชน์ทางการเมืองซึ่งไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเดือดร้อนประชาชน
“การจับกุมหรือควบคุมตัวประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้กว่า 6 – 7 เดือนยังถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก แสดงว่าประชาชนยังมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยไม่ชอบ มีการพาตัวไปในที่ลับหรือมีการเสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวอย่างที่เกิดขึ้นตลอด จึงเชื่อว่า มีความพยายามที่จะทำให้กฎหมายนี้ไม่สามารถบังคับใช้ และไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่หวาดกลัวกฎหมายนี้แต่อาจรวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารหรือหน่วยงานความมั่นคงด้วยโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”นางสาวพรเพ็ญ กล่าว