‘ดาราสาวไต้หวัน’ บอกว่า ‘ถูกรีดไถ’ แต่ ตร.ผู้ใหญ่ ‘มุ่งจับผิดผู้เสียหายและพยาน’
“ดาราสาวไต้หวัน”บอกว่า “ถูกรีดไถ”แต่ ตร.ผู้ใหญ่“มุ่งจับผิดผู้เสียหายและพยาน”
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
กรณีหญิงสาวชาวจีนโพสต์ คลิปขำ เรื่องเธอกับแม่มาเที่ยวไทยแล้วใช้เงินซื้อ รถนำตำรวจ ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ได้ เพียง จ่ายเงินตามอัตราที่กำหนดไว้!
ประทับใจตั้งแต่มีตำรวจไปยืนถือป้าย รอรับถึงทางเข้าเครื่องบินซึ่งเป็น “พื้นที่ควบคุม”!
เดินนำประสานงาน ผ่าน ตม. ด้วย ช่องทางพิเศษ ไม่ต้องเข้าคิวยืดยาวให้เสียเวลาเหมือนคนทั่วไป
มี ตำรวจจราจรนครบาล “ขับรถราชการ” ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่า จริงหรือปลอม? เปิดไฟฉุกเฉินและไซเรนขอทางเสียงดังสนั่น นำไปส่งถึงที่พักที่พัทยาในเวลาอันรวดเร็ว!
ทุกอย่างเป็นไปตามที่เอเยนซีในประเทศจีนโฆษณาไว้ อยู่ประเทศไทย หากมีเงินทำได้ทุกสิ่งจริงๆ!
การสอบสวนคดีนี้โดย ตำรวจผู้ใหญ่ ทั้ง อาญาและวินัยจนป่านนี้ประชาชนก็ยังไม่ได้ยินข้อสรุป การลงโทษตำรวจผู้กระทำผิด “รวมทั้งผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ แต่อย่างใด?
ต่อมาไม่กี่วัน หลู ซิ่งอัน ดาราสาวชาวจีนไต้หวันก็ได้โพสต์จากประเทศของเธอว่า เมื่อต้นเดือนมกรา.ที่ผ่านมา ระหว่างเดินทางเที่ยวไทย
ในเวลากลางคืนหลังกลับจากดื่มกินกับเพื่อนในสถานบันเทิง นั่งรถแท็กซี่รวมสี่คนกลับที่พัก ได้ถูกตำรวจตั้งด่านขวางถนน ขอตรวจค้น
ผลสุดท้ายพวกเธอ ต้องลงจากรถ จ่ายเงินค่าแท็กซี่ให้คนขับไป เพราะ ถูกกล่าวหาว่าไม่พกหนังสือเดินทางฉบับจริง
เจรจากันอยู่ร่วม หนึ่งชั่วโมง ตำรวจจึงปล่อยตัวพวกเธอกับเพื่อนทุกคน
เธอบอกว่า ได้ถูกตำรวจตรวจค้นและรีดเงินไป 27,000 บาท”
เข็ดจนตาย จะไม่มาเหยียบประเทศไทยอีกแล้ว!
พร้อมฝากเตือน ใครมาเมืองไทย อย่าพกเงินเยอะ เดี๋ยวจะถูกตำรวจจับรีดไถเอาเงินไปได้!
เรียกว่า เรื่องราวอื้อฉาวเกี่ยวกับตำรวจไทย ดังไป ทั้งประเทศจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน
การโพสต์สิ่งที่เธอพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ถือเป็นเรื่องธรรมดาในยุคเทคโนโลยีที่ใครไปเจอสิ่งดีๆ หรือเลวร้ายในแต่ละประเทศ
เมื่อกลับถึงบ้านแล้วรู้สึกปลอดภัย ก็นำสิ่งที่ประทับใจหรือเลวร้ายมาระบายเตือนใจ ให้ชาวโลกได้รับรู้
ไม่ใช่การร้องทุกข์ตามกฎหมาย ไม่ว่าประเทศใด เพื่อให้ดำเนินคดีกับใครทั้งสิ้น
ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ เธอ ถูกตำรวจไทยเรียกให้หยุดรถและขอตรวจค้นโดยมีเหตุผลคือ “เหตุอันควรสงสัย” ตามกฎหมายอย่างแท้จริงหรือไม่?
และ เหตุควรสงสัยที่ว่านั้นคืออะไรหรืออย่างไร?
ถ้าขอตรวจค้นโดยไม่มีเหตุผลควรสงสัย ก็ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างแน่นอน
ยิ่งการบอกหรือสั่งให้พวกเธอลงจากรถไปโดยไม่ระบุว่าใครกระทำผิดอาญาในเรื่องใดและบอกว่าเป็นการจับดำเนินคดีตามกฎหมาย ยิ่ง เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ อย่างชัดเจน
และนี่น่าจะเป็นคำตอบเรื่อง เงิน 27,000 บาท ที่ดาราสาวบอกว่าได้จ่ายให้ตำรวจไปในมุมมืดว่าจริงหรือไม่?
เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่รัฐไทยต้องรอให้เธอ ร้องทุกข์ ในฐานะผู้เสียหาย ตำรวจทำหนังสือแจ้งให้เดินทางมาไทยเพื่อให้ปากคำเป็นผู้กล่าวหาและพยานแต่อย่างใด
รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนหนึ่งบอกว่า ในกลุ่มพวกนี้มี บุหรี่ไฟฟ้า อยู่ในความครอบครอง ซึ่งผิดกฎหมายไทย ซึ่งเธออาจไม่รู้ เพราะทุกประเทศทั่วโลกไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายอะไร
แต่เมื่อตรวจพบแล้วก็ไม่ได้จับกุมใคร ได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไป ไม่ได้เรียกรับเงินอะไรจากใครแม้แต่บาทเดียว ทำได้หรือไม่?
ขอย้ำคำถามง่ายๆ ในเรื่องนี้ก็คือ เมื่อไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าพวกเธอมีสิ่งของในครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือมีไว้เป็นความผิด
ตำรวจย่อมไม่มีอำนาจเรียกให้คนขับรถหยุดรถขอตรวจค้นผู้โดยสาร ถามโน่นถามนี่เซ้าซี้กวนใจเธอมาจากไหน จะไปพักที่ใด?
และเหตุใดบุคคลทั้งสี่จึงต้องลงจากรถ เจรจากันอยู่นานร่วมหนึ่งชั่วโมง แล้วตำรวจปล่อยตัวไปโดยไม่ได้มีการดำเนินคดีข้อหาใดทั้งสิ้น
นี่คือประเด็นที่ตำรวจผู้ใหญ่ต้องค้นหาความจริงและอธิบาย
ไม่ใช่ไปไล่ตรวจประวัติและบอกสื่อว่า “เธอไม่ใช่ดาราดัง”
บ้างก็ไปสอบแท็กซี่ที่ไม่เห็นเหตุการณ์อะไรว่ามีการเรียกรับเงินกันตอนไหน จริงหรือไม่? ได้แต่บอกหลังเข้าพบตำรวจว่าทุกคนอยู่ในอาการเมา โดยดาราสาวเมามากที่สุด!
ตำรวจบอกว่า ตรวจกล้องวงจรปิดก็ไม่เห็นการส่งเงินให้ตำรวจคนไหน
ในขณะที่เธอโพสต์บอกกลับมาว่า ตำรวจไทยควรหยุดกล่าวหาเธอในเรื่องไร้สาระเหล่านี้เสียที
ซ้ำเธอยัง “จำหน้าตำรวจคนที่รับเงินจำนวน 27,000” จากเธอไปได้ดี!
ตำรวจไทยควรจะเลิกเสียที กับการสอบสวนค้นหาความจริงที่วิปริตแบบนี้
โดยเฉพาะกรณีที่มีการกล่าวหาตำรวจว่าทำผิดกฎหมาย การสอบสวนมักกลายเป็น มุ่งจับผิด คำพูดผู้เสียหายในเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญของปัญหาหรือคดี
แม้กระทั่ง พยาน บางคนแค่ให้การไปตามความเข้าใจแต่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง ก็ หาว่าให้การเท็จ!
ทำให้ทุกวันนี้ มีผู้เสียหายคดีอาญาจำนวนมากไม่อยากและไม่กล้าไปแจ้งความกับตำรวจ!
รวมทั้ง ผู้รู้เห็นการกระทำผิดอาญาส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้การเป็นพยานกับตำรวจ แม้กระทั่งบุคคลที่เรียกกันว่า “ตำรวจผู้ใหญ่” ไม่ว่าระดับใดทั้งสิ้น.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 30 ม.ค. 2566