‘อัยการไทย ‘ไม่ใช่ ‘ไปรษณีย์’ ต้องทำหน้าที่ ‘ค้นหาความจริง’ เพื่อความยุติธรรม
“อัยการไทย”ไม่ใช่“ไปรษณีย์”ต้องทำหน้าที่“ค้นหาความจริง”เพื่อความยุติธรรม
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมไทย ในชั้นสอบสวน ได้ ออกทะเล มุ่งหน้าสู่ มหาสมุทร จนอยู่ในสภาพ สุดวิกฤต!
นอกจากบุคคลผู้ตกเป็นผู้ต้องหาจะต้องเสียเงินจ้างทนายไว้ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่ถูกตำรวจ ยัดข้อหา หรือได้ รับโทษอาญาเกินความผิดแล้ว
ผู้เสียหาย ทั้งหญิงชายแต่ละคนก็ต้องขวนขวาย หาทนายหรือคนมีอำนาจกดดัน ให้ตำรวจ รับแจ้งความตามกฎหมาย ด้วยเช่นกัน!
ไม่อย่างนั้น พนักงานสอบสวนจะ ไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ “บันทึกเลขคดี” เข้าสารบบ ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวน เสนอให้อัยการสั่งคดีกันง่ายๆ!
เนื่องจาก ถูกผู้บังคับบัญชาแทบทุกระดับสั่งไว้ให้ช่วยกันลดสถิติอาชญากรรมในพื้นที่รับผิดชอบไม่ให้สูงขึ้น!
ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าคดีที่ประชาชนผู้เสียหายไม่ว่าการกระทำผิดในเรื่องใดไปร้องทุกข์ต่อตำรวจทุกสถานี
จะมีแต่การ ลงบันทึกประจำวันรับแจ้งไว้ โดย ไม่ปรากฏเลขคดีอาญา กัน กว่าร้อยละเก้าสิบห้า
คดีที่พนักงานสอบสวนได้ เริ่มการสอบสวนโดยไม่ชักช้า ตาม ป.วิ อาญา จริง มีไม่ถึง ห้าเปอร์เซ็นต์
และนี่เป็นเหตุที่ทำให้สังคมไทยในปัจจุบันเกิดความไม่สงบสุขอย่างยิ่ง การฉกชิง วิ่งราว ลักทรัพย์ และการฆ่าหรือทำร้ายแก้แค้นกันเองเกิดขึ้นทั่วประเทศมากมาย เพราะประชาชนพึ่งกฎหมายไม่ได้!
ซ้ำคดีที่ได้สอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งงดสอบสวน
อัยการไทยก็ไม่อาจรู้ได้ว่า สำนวนใดเป็น นิยายสอบสวน หรือไม่? คำพยานที่ตำรวจบันทึกไว้ตรงกับความจริงที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด?
แต่แม้อัยการอ่านสำนวนแล้วไม่แน่ใจว่าผู้ต้องหากระทำผิดจริงหรือไม่?
ส่วนใหญ่ก็ต้องจำใจ สั่งฟ้อง ไป!
เนื่องจากตัดสินใจง่ายกว่าการ สั่งไม่ฟ้อง ที่ต้องมีเหตุผลอธิบายต่อผู้เกี่ยวข้องมากมาย
ซ้ำในต่างจังหวัดปัจจุบันจะถูก ผู้บัญชาการตำรวจภาคซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายทำความเห็นแย้งแบบมั่วๆ ไปเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา ก่อให้เกิดปัญหากับอัยการผู้สั่งไม่ฟ้องอาจถูกเพ่งเล็งได้
อัยการผู้สั่งฟ้องคดีส่วนใหญ่ก็ได้แต่หวังว่าหากผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ในที่สุดก็คงได้รับความยุติธรรมจากศาล!
ถือ เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่วิปริต ผิดรูปไปจากบทบาทของอัยการในอดีตเมื่อกว่าสองร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งเรียกกันว่า ยกกระบัตร เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงวัง
คือผู้มีหน้าที่ รักษาความยุติธรรม รวมทั้งสอดส่องพฤติกรรมของขุนนางแม้กระทั่งเจ้าเมืองที่ตนได้รับการแต่งตั้งต่างพระเนตรพระกรรณให้ไปปฏิบัติราชการ ณ เมืองนั้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเองก็เคยดำรงตำแหน่ง “ยกกระบัตร” เมืองราชบุรีก่อนปี พ.ศ.2310 ที่พม่ากรีธาทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
จะเรียกว่า พระองค์ท่านเคยเป็น “อัยการ” ผู้รักษาความจริงและความยุติธรรมของแผ่นดินมาก่อนครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1 ก็ได้
ปัจจุบันมีความจริงเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่น่าตกใจอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งประชาชนไม่เคยทราบมาก่อนก็คือ
ผลการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานอัยการทั่วประเทศร่วม 2,000 คน ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานอัยการสูงสุด พบว่า
ร้อยละ 95 ประสบปัญหาต้องสั่งคดีทั้งที่การสอบสวนของตำรวจ ได้ความจริงไม่ครบถ้วน!
ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุตำรวจส่งสำนวนให้อัยการล่าช้า ทำให้ไม่มีเวลาสั่งสอบเพิ่มเติม
หรือแม้กระทั่งสั่งไปหลายครั้งแล้ว พนักงานสอบสวนก็ ไม่ได้สอบตรงประเด็นตามสั่ง ให้ได้ความจริงที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณากลับมา
ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่อัยการไม่มีเวลาให้สั่งสอบเพิ่มได้อย่างที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด
เพราะแม้จะมีเวลามากมาย แต่ถ้าตำรวจไม่ได้รวมหลักฐานสำคัญนั้นไว้ ไม่ว่าจะเป็นพยานวัตถุหรือบุคคล อัยการก็ไม่อาจรู้และนำไปสู่การสั่งสอบสวนเพิ่มเติมอะไรได้
ต่างไปจากอัยการนานาอารยประเทศที่เขามีโอกาสดูและเห็นสถานที่เกิดเหตุ สัมผัสพยานหลักฐานคดีอาญาสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น
ปัจจุบันนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้มีความตื่นตัวทั้งของอัยการสูงสุดและอัยการรุ่นใหม่ในการพยายามค้นหาความจริงทันทีหลังมีการกระทำผิดเกิดขึ้น
โดยไม่ต้องรอแก้ไขกฎหมายให้มีอำนาจอย่างสมบูรณ์ คือ ป.วิ อาญา ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าใด ในสถานการณ์ที่ความคิดเผด็จการครอบงำสังคมไทยในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีความเคลื่อนไหวสำคัญ คือการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างอัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงกลาโหม และ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย
ทั้ง 6 องค์กร จะร่วมมือกันและช่วยอัยการในการรวบรวมพยานหลักฐาน การกระทำผิดทางอาญาในคดีสำคัญทันทีหลังเกิดเหตุ
ถือเป็น ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของกระบวนการยุติธรรมอาญาไทย
หลังจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงแล้ว ทุกองค์กรก็ต้องเร่ง ออกระเบียบภายในให้ชัด ว่าจะให้เจ้าพนักงานในสังกัดปฏิบัติอย่างไร
โดยเฉพาะ กระทรวงมหาดไทยที่มีนายอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ทุกพื้นที่ จะส่งพยานหลักฐานให้อัยการผ่านใครด้วยวิธีใด หากตำรวจไม่ยอมเก็บรวมไว้
หรือเห็นว่า “ไม่น่าไว้ใจ” อาจทำหายหรือถูกทำลายหรือไม่!?
ซึ่งอัยการสามารถเก็บรักษาพยานหลักฐานนั้นไว้ในรูปของ สำนวนสืบสวน โดยเป็นหน้าที่ของ เจ้าพนักงานคดี ระหว่างที่ตำรวจยังไม่ได้ส่งสำนวนไปให้พิจารณา
และเมื่อถึงเวลาที่รับสำนวนอัยการก็จะสามารถรู้ได้ว่า พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมไว้ สิ่งใดยังไม่ครบถ้วน
ทำให้สามารถสั่งสอบเพิ่มเติมได้ หรืออัยการผู้รับผิดชอบ จะสอบสวน เอง เพื่อ ค้นหาความจริงซึ่งจริงยิ่งกว่า ที่ปรากฏในสำนวนก็ได้
เป็นการยุติบทบาท ไปรษณีย์
แต่จะทำหน้าที่ ผู้รักษาความยุติธรรม เช่นเดียวกับ ยกกระบัตร เมื่อสามร้อยกว่าปีที่ผ่านมา.