สั่ง’ดันพื้น’ในร้านกาแฟ สาธารณสถาน คือการลงโทษตำรวจ’แบบป่าเถื่อน’ผิดกฎหมาย
สั่ง‘ดันพื้น‘ในร้านกาแฟ สาธารณสถาน คือการลงโทษตำรวจ‘แบบป่าเถื่อน‘ผิดกฎหมาย
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เวลานี้มีการกระทำผิดของตำรวจผู้ใหญ่ทั้งทางอาญาและวินัยที่สื่อมวลชนและประชาชนสนใจอยู่หลายคดี
ซึ่งจนกระทั่งป่านนี้ แทบทุกคดีก็ ยังไม่มีคำตอบจากผู้มีอำนาจคือนายกรัฐมนตรี หรือ ผบ.ตร. ผู้มีรับผิดชอบลำดับถัดไปว่า
การดำเนินการตามกฎหมายในทุกคดีที่สร้างความเสียหายต่อรัฐและประชาชนอย่างมากมายและร้ายแรงนั้น ดำเนิน กันไปถึงไหน?
ในบรรดานับสิบนับร้อยคดีที่ ตำรวจผู้ใหญ่กระทำผิดด้วยความเคยชินจน “กลายเป็นนิสัย”
โดยส่วนใหญ่ก็ ไม่ได้คิด หรือแม้กระทั่ง “ไม่เข้าใจ” ว่าเป็นความผิดทางอาญาหรือวินัยร้ายแรงอะไร เช่น ในการ “รับส่วย” ที่แปรรูปมาจาก “สินบน” หลายรูปแบบมากมาย
หากประชาชนได้มีโอกาสเห็น ป.ป.ช.เสนอศาลออกหมายจับใคร แจ้งให้ ผบ.ตร.สืบจับตัวมาส่งให้อัยการ “สั่งฟ้องต่อศาล” กันสักเรื่องหนึ่งก็ยังดี
เช่นคดี “แก๊งนายพลตำรวจซ่องโจร” ที่ สุมหัวกันทำลายหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนความเร็วรถเฟอร์รารีคดีบอสขับชนตำรวจตาย จาก 177 ให้กลายเป็นไม่ถึง 80 กม.ต่อชั่วโมง ไม่ได้ประมาทตามข้อกล่าวหาอะไร!
คดีนี้มีหลักฐานสำคัญคือ เทปบันทึกเสียงการสนทนาในห้องทำงานสำนักพิสูจน์หลักฐาน ซึ่ง พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ นักวิทยาศาสตร์ผู้รับผิดชอบการตรวจได้บันทึกไว้ เพื่อใช้ในการช่วยจำส่วนตัว
แต่หลังจากเกิดเรื่อง อัยการสั่งไม่ฟ้อง และตนเองต้องตกเป็น แพะรับบาป อย่างไม่เป็นธรรม
พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ก็ได้นำหลักฐานนี้มอบให้ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ ผู้ได้รับการแต่งตั้งโดย คำสั่งนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานกรรมการตรวจสอบหาตัวผู้รับผิดชอบหลายฝ่ายมาลงโทษตามกฎหมาย
ในคลิปหลักฐานได้ยินเสียงการพูดของ พลตำรวจเอกคนหนึ่ง ชัดเจนว่า ให้ลองคำนวณใหม่อย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยวิธีที่ทันสมัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ชำนาญ!
มีตำรวจชั้นนายพลหลายคนมานั่งร่วมวงพูดหว่านล้อมด้วยอยู่นาน ไม่ต่างจากการ “ซักถามและสอบปากคำพยานซ้ำซาก” ของ ตร.ผู้ใหญ่ในหลายคดี
ทำให้ในที่สุด พ.ต.ท.ธนสิทธิ์เกิดความรำคาญ จึงบอกว่าไม่แน่ใจตามที่รายงานไป
พงส.ที่รออยู่รีบบันทึกปากคำไว้ให้ลงชื่อทันที!
หลักฐานวิทยาศาสตร์สำคัญในคดีจึงมีผลเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น เชื่อถือไม่ได้ และเป็นเหตุให้อัยการ สั่งไม่ฟ้อง ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย
การกระทำผิดอาญาร้ายแรงในเรื่องนี้ เมื่อไหร่ผู้คนจะได้มีโอกาสเห็นหน่วยรับผิดชอบการสอบสวนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ป.ป.ท. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือตำรวจแห่งชาติ เสนอศาลออกหมายจับใครมาดำเนินคดีกันเช่นที่ได้ทำกับประชาชนทั่วไปเสียที?
หรืออย่างรายคดี นายพลตำรวจขนเหล้าเถื่อนนับสิบลังขึ้นเครื่องบิน ตร. จากหาดใหญ่มาลงใน กองบินตำรวจ เป็นข่าวใหญ่ในหน้าสื่ออยู่พักหนึ่ง
ซึ่ง ปัจจุบันก็เงียบหายไป ไม่มีใครรู้ว่าหน่วยงาน ตร.หรือ ป.ป.ช.ยังดำเนินการอะไรอยู่หรือไม่?
เมื่อไหร่ประชาชนจะได้เห็นผลคดีอาญาหรือวินัยร้ายแรง ไล่ออก ปลดออก ตำรวจผู้ใหญ่ที่ใช้ทรัพย์สินราชการ จัดซื้อมาด้วยเงินภาษีของประชาชนไปขนเหล้าเถื่อนอย่างหน้าด้านๆ กันเช่นนี้
“ป.ป.ช.ไทย” จะต้องใช้เวลาไต่สวน และวินิจฉัยคดีสำคัญต่างๆ กันนานกี่ปี?
เห็นมีแต่การดำเนินคดีอาญาข้าราชการระดับจังหวัดหรือท้องถิ่นที่ใช้รถหลวงนอกราชการจนศาลพิพากษาจำคุกกันเป็นส่วนใหญ่
รวมไปถึงในการสั่งบรรจุ น.ส.กรศศิร์ บัวแย้ม เข้าเป็นตำรวจโดยมิชอบ เพราะไม่ผ่านการสอบแข่งขันและไม่ใช่คุณวุฒิขาดแคลนที่จะสามารถใช้วิธีคัดเลือกได้ตามที่อ้างต่อประชาชนกันมั่วๆ แต่อย่างใด
ประเด็นสำคัญไม่ใช่ ใครฝาก
หากแต่อยู่ที่ผู้สั่งบรรจุคือใคร และออกคำสั่งที่มิชอบต้องเพิกถอนเช่นนั้นกันไปได้อย่างไร เหตุจูงใจแท้จริงคือสิ่งใด?
ที่จะพูดเป็นประเด็นสำคัญวันนี้คือปัญหาการดำเนินคดีอาญาและวินัยตำรวจ
ซึ่งมีเรื่องที่ตำรวจผู้น้อยและประชาชนรู้สึกเจ็บปวดเกิดขึ้น เมื่อได้เห็นการลงโทษแบบพิสดารให้ ดันพื้นในร้านกาแฟ!
ผู้คนแชร์และด่ากันในโลกออนไลน์มากมายว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่ถูกกาลเทศะแต่อย่างใด
ปัญหาคือ ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งลงโทษตำรวจแบบนี้ได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
ตามบทวินัยตำรวจ คือ พ.ร.บ.ตำรวจ มาตรา 78 ได้กำหนด โทษทางวินัยไว้ 7 สถาน คือ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง ตัดเงินเดือน ปลดออก และไล่ออก
เป็นรูป แบบเดียวกับทหารที่จัดองค์กรและระบบการบังคับบัญชาเพื่อการรบทำลายข้าศึกศัตรูไม่ใช่ในรูปแบบที่ถูกต้องของเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องได้รับการแก้ไข
มีข้อห้ามการกระทำ 18 ข้อ ส่วนใหญ่มีพื้นฐานเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนทั่วไป แต่ ยังมีข้อห้ามและการบังคับให้ปฏิบัติในบางเรื่องแบบทหาร ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการข่มเหงผู้ใต้บังคับบัญชาได้แทบทุกเวลาโดยอาจไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการอะไรเลยก็ได้คือ
“การไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย” และ “การประพฤติตนในลักษณะที่ไม่สมควร” ครอบจักรวาล!
การสั่งให้ตำรวจดันพื้นในร้านกาแฟตามที่เป็นข่าว คงเป็นเรื่องถูกกล่าวหาว่าทำผิดวินัยซึ่งไม่ทราบว่าเรื่องใด
แต่ปัญหาคือผู้บังคับบัญชาสามารถ สั่งลงโทษซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมาย และ ไม่ได้อยู่ใน “หน่วยฝึก” ที่มีระเบียบรองรับตามความจำเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่?
คำตอบก็คือ นอกจากจะไม่ได้ ไม่ว่าจะทำผิดเรื่องใดหรือผู้ถูกลงโทษยินยอมหรือไม่ก็ตามแล้ว
ยังเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 309 ซึ่งบัญญัติว่า
“ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่นจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี….”
รวมทั้ง มาตรา 397 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน..”
มาตรา 309 เป็นความผิดยอมความได้ ตำรวจผู้รู้สึกว่าเสียหายจำเป็นต้องไปร้องทุกข์ต่อ พงส.ให้ดำเนินคดี ถ้ามีความคิดว่าผู้บังคับบัญชาน่าจะถูกลงโทษทางอาญาให้เข็ดหลาบกันบ้าง พฤติกรรม โชว์กร่าง ไม่รู้กาลเทศะแบบนี้ จะได้ลดน้อยลง
ส่วนมาตรา 397 แม้จะเป็นความผิดลหุโทษ แต่ก็เป็น ความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่ รวมทั้ง ผบ.ตร.
มีหน้าที่ต้องดำเนินคดีทั้งอาญาและวินัยต่อตำรวจผู้สั่งลงโทษข้อหา ประพฤติตนไม่สมควร โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ใครไปร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแต่อย่างใด.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 12 ก.ย. 2565