ปฏิลูบตำรวจเบา ๆ เปิด 8 ข้อเด่น ข้อด้อยใหญ่ ร่างกม.ตำรวจฉบับกมธ.เสียงข้างมาก

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ปฏิ(รูป)ลูบเบา ๆ ?เปิด 8 ข้อเด่นเล็ก 1 (+1) ข้อด้อยใหญ่ ร่างกม.ตำรวจฉบับกมธ.เสียงข้างมาก มีเนื้อหาดังนี้้
รัฐสภาตัดสิน 9-10 มิ.ย.นี้
__________
กัลยาณมิตรถามกันเข้ามาพอสมควรว่าร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯฉบับที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการรัฐสภา โอเคมั้ย ดีมั้ย หรือปฏิรูปได้จริงมั้ย เพราะเห็นผมขลุกอยู่กับเรื่องนี้มาใกล้จะ 5 ปีรอมร่อแล้ว ทั้งแถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ โพสต์บอกกล่าวเล่าเรื่อง ณ พื้นที่นี้ รวมทั้งอภิปรายในสภาต่างกรรมต่างวาระมาเกิน 100 ครั้งแล้วกระมัง หนักบ้างเบาบ้าง ในเมื่อร่างฯจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2, 3 ในรัฐสภา 9-10 มิถุนายน 2565 นี้แล้ว ขอ ‘คำตอบสุดท้าย’ หน่อยเถอะ
คิดอย่างรอบคอบบนพื้นฐานความเป็นจริงแล้วขอฟันธงว่าสมควรลงมติ ‘ให้ผ่าน’ วาระ 3 ออกมาบังคับใช้ครับ
เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่มี ‘ข้อดี’ มากพอสมควร
ขอหยิบยกมาเป็นตัวอย่างสัก 8 ประเด็น
จะเรียกว่า 8 ข้อเด่นก็พอได้…
หนึ่ง – เพิ่มความเป็นธรรมให้ประชาชน
ยกระดับความเป็นธรรมให้กับประชาชนจากการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องหรือผิดพลาดของตำรวจ โดยสร้างกรรมการชุดใหม่ชื่อ ‘ก.ร.ตร.’ (คณะกรรมการพิจารณาเริ่องร้องเรียนตำรวจ) ที่มีผู้แทนหน่วยงานภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาตัดสินแทนที่สำนักงานจเรตำรวจที่เป็นเพียงหน่วยงานภายใน ประชาชนจะมีส่วนร่วมจับตาการทำงานของตำรวจให้อยู่ในกรอบกฎหมายและความเหมาะสมเสมือนเป็น ‘ตาวิเศษ’ พบเห็นความผิดปกติใดแจ้งไปที่ ก.ร.ตร. ได้
(มาตรา 35 – 45)
สอง – เพิ่มความเป็นธรรมให้ตำรวจ
ยกระดับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายให้กับตำรวจทุกระดับ โดยสร้างกรรมการใหม่ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งชื่อ ‘ก.พ.ค.ตร.’ (คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ) ที่มีผู้แทนหน่วยงานภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาด เสมือนเป็นศาลปกครองชั้นต้น โดยเป็นการทำหน้าที่แทน ก.ตร. ที่เป็นคณะกรรมการบริหารภายใน
(มาตรา 25 – 34)
สาม – ป้องกันการครอบงำจากการเมือง
คณะกรรมการบริหารสูงสุดของตำรวจคือ ก.ตร. (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ที่มีอำนาจบริหารงานภายในรวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย แม้จะยังคงให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานอยู่ แต่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากออกแบบองค์ประกอบใหม่เพื่อให้สามารถป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองได้ในระดับสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้มีเสียงข้างมากใน ก.ตร. ผ่านทางข้าราชการที่เป็นตัวแทนหน่วยงานภายนอก ในทางกลับกัน เสียงข้างมากใน ก.ตร. ตามองค์ประกอบที่ออกแบบใหม่คือตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงที่มาโดยตำแหน่งและอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่มาจากการเลือกตั้งของตำรวจทั้งองค์กร
ในประเด็นนี้ จะมี ก.ต.ช. (คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ) ที่ทำหน้าที่ด้านนโยบายอย่างเดียว ด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลโหวตในวาระ 2
(มาตรา 13 – 24)
สี่ – ให้สิทธิตำรวจทุกระดับ
ให้ข้าราชการตำรวจทุกระดับตั้งแต่ผบ.หมู่ขึ้นไปเลือกตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร. ลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) เข้ามาเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเพื่อเป็นหลักประกันความสุจริตยุติธรรม
(มาตรา 18)
ห้า – ป้องกันการวิ่งเต้น/ซื้อขายตำแหน่ง
กำหนดเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายไว้ในกฎหมายหลักมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และปรับปรุงแก้ไขจากร่างฯที่ผ่านวาระ 1 มาให้ตรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. (4) ว่าด้วยการพิจารณาประกอบกันระหว่างอาวุโสและความรู้ความสามารถ แต่น่าเสียดายที่กรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติตัดเกณฑ์ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นออกจากบทหลักไปอยู่ในบทเฉพาะกาลใช้บังคับเพียง 5 ปีเท่านั้น และในบทหลักกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขให้การกำหนดเกณฑ์ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นนี้เป็นอำนาจของ ก.ตร. ออกเป็น ‘กฎ ก.ตร.’ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า และก็ได้เคยมีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วในอดีตจนเกิดศัพท์แสลงเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ขอบมาพากลว่า ‘ต่อยอดทอดสะพาน’ และ ‘ชักบันไดหนี’ ที่ทำให้นายตำรวจบางคนได้ประโยชน์
(มาตรา 69, 70, 71, 72, 73, 74, 75, 76, 77, 80, 82, 83, 84 และมาตรา 169/1)
หก – ให้ประชาชนร่วมประเมินตำรวจ
กำหนดให้นำผลการประเมินความพึงพอใจที่ประชาชนได้รับจากตำรวจมาประกอบการพิจารณาประกอบการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย แต่ข้ออ่อนในจุดเด่นนี้คือไม่มีรายละเอียดระบุไว้ชัดเจนว่าทำอย่างไร
(มาตรา 74 วรรคสอง)
เจ็ด – ห้ามยกเว้นกฎเกณฑ์ในทุกกรณี
ปรับปรุงแก้ไขจากร่างฯที่ผ่านวาระ 1 โดยตัดบทบัญญัติที่เปิดช่องให้มีข้อยกเว้นทุกกรณีในการจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่กำหนดไว้ในกฎหมายหลัก
(มาตรา 69 วรรคสาม และ 80 วรรคสอง)
แปด – ให้เหลือแต่งานตำรวจแท้
กำหนดให้โอนย้ายงานที่ไม่ใช่งานตำรวจแท้คือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออกไปให้หน่วยงานอื่นอย่างมีขั้นตอน แม้ขั้นตอนออกจะยาวไปสักหน่อย
(มาตรา 155 – 160)
ในทั้ง 8 ประเด็นที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ บางประเด็นไม่มีความเห็นแตกต่างกันระหว่างกรรมาธิการเสียงข้างมากกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อยผู้สงวนความเห็นและสมาชิกผู้สงวนคำแปรญัตติ แต่ก็มีบางประเด็นที่มีความเห็นต่าง ต้องอภิปรายและลงมติกันในที่ประชุม ผลการลงมติในบางประเด็นอาจมีผลลดทอนหรือเปลี่ยนแปลงความเป็นข้อเด่นบางประเด็นได้เช่นกัน
หากจะถามว่าเป็น ‘การปฏิรูปตำรวจ’ ในความหมายที่แท้จริงได้จริงหรือไม่ ?
ไม่อาจตอบเต็มปากเต็มคำว่า ‘ใช่’ !
และเท่าที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างนี้จะกลายเป็น ‘8 ข้อเด่นเล็ก’ ไปทันทีเมื่อเทียบกับ 1 ข้อด้อยที่ปรากฎให้เห็น
เพราะต้องไม่ลืมว่า ‘หัวใจสำคัญ’ ของการปฏิรูปตำรวจรวมถึงการปฏิรูปกระกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขั้นก่อนถึงศาลที่ประชาชนคาดหวัง และจะได้รับประโยชน์แท้จริง จับต้องได้ โดยมีอุทธาหรณ์จากคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ นอกเหนือจากหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่โปร่งใสเป็นธรรมขจัดการวิ่งเต้นและการซื้อขายตำแหน่งได้แล้ว ยังคือประเด็นเกี่ยวกับ ‘ระบบการสอบสวน’ ทั้งหมด อันเปรียบเสมือนเป็นกระดุมเม็ดแรกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ร่างกฎหมายตำรวจฯใหม่ฉบับนี้ยังแตะ ‘ระบบการสอบสวน’ น้อยไป !
ด้านหนึ่ง – ในตัวร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯ สายงานสอบสวนยังคงไม่เป็นอิสระชัดเจนในการทำสำนวนคดีถึงขั้นมีผู้บังคับบัญชาเฉพาะของสายงานตัวเองในทุกระดับชั้น เหมือนที่เคยปรากฎในร่างฯของคณะกรรมการชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์
อีกด้านหนึ่ง – ร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาอันเป็น ‘กฎหมายคู่’ หรือ ‘กฎหมายพวง’ ที่เปิดโอกาสให้อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนกับตำรวจได้ตั้งแต่ต้นในคดีสำคัญ รัฐบาลยังไม่ได้ส่งเข้ามาให้รัฐสภาพิจารณา โดยให้เหตุผลล่าสุดเมื่อปลายปี 2564 ทำนองว่า “ชะลอ” ไว้ก่อนเพื่อให้ “สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯ…” แต่โดยความเป็นจริงที่รัฐบาลไม่ได้บอกคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นหน่วยปฏิบัติคัดค้านเสียงแข็ง และรัฐบาลในฐานะฝ่ายนโยบายไม่ได้บอกประชาชนว่าตัดสินใจอย่างใรในประเด็นสำคัญที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ ทั้งนี้ เมื่อดูตามระยะเวลาแล้วก็น่าจะไม่มีการส่งร่างฯเข้ามาจนสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะส่ง รัฐบาลก็สามารถส่งเข้ามาคู่กันกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯฉบับนี้ได้ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2564 เพื่อให้รัฐสภาตัดสินในวาระ 1 ว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบการสอบสวนคดีอาญาใหญ่กันหรือไม่ ถ้าโอเค ก็ลงมติรับหลักการในวาระ 1 แล้วให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดเดียวกันกับที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯฉบับนี้เพื่อให้มีความสอดคล้องต้องกัน แต่รัฐบาลไม่เลือกวิธีนี้ ไม่เพียงเท่านั้น พอคณะกรรมาธิการมาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯฉบับเดียว กรรมาธิการเสียงข้างมากได้มีมติตัดคำว่า “…และกฎหมายอื่น” ที่อยู่ต่อท้ายคำว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ออกจากมาตรา 6 (2) ที่บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แม้ว่าจะไม่ได้ตัดทางการมีพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาในอนาคตเพราะยังมีความในอนุมาตราอื่นรองรับไว้ แต่ก็ทำให้ชวนคิดไปได้ว่าหรือนี่อาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ความสอดคล้อง” ที่ “ชะลอ” ร่างฯไว้ก่อน หรือพูดง่าย ๆ ว่ามติของกรรมาธิการเสียงข้างมากนี้ชวนให้เกิดข้อสงสัยว่าจะเป็นการไปเจือสมเป็นเหตุผลข้ออ้างให้รัฐบาลไม่เสนอร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญาฯเข้ามาสู่การพิจารณาของรัฐสภาหรือไม่
ทั้ง 2 ด้านนี้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบคดีบอส อยู่วิทยาชุดท่านอาจารย์วิชา มหาคุณที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นเพื่อกู้หน้ากระบวนการยุติธรรมไทย สนับสนุนเต็มที่ผ่านข้อเสนอสุดท้ายที่มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563
นี่คือ 1 ข้อด้อยที่ขอยกมาเป็นตัวอย่าง
เป็น ‘1 ข้อด้อยใหญ่’ แน่นอน
ก่อนจบเรื่องเล่าเบา ๆ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจฯ ผมตัดสินใจนาทีสุดท้ายเติมข้อความในย่อหน้านี้ พร้อมปรับหัวเรื่องและแก้ไขภาพอินโฟกราฟฟิคบรรทัดที่ 2 เป็น “เปิด 8 ข้อเด่นเล็ก 1 (+1) ข้อด้อยใหญ่” เพราะในข้อเด่นที่ 5 ผมติดใจที่ตัดเกณฑ์ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นออกไปจากบทหลักมาตรา 69 แล้วไปเพิ่มไว้ในบทเฉะาะกาลมาตรา 169/1 ให้ใช้บังคับเพียง 5 ปี โดยไปแก้ไขเพิ่มเติมบทหลักที่มาตรา 80 วรรคแรกให้ ก.ตร. ออก ‘กฎ ก.ตร.’ เกี่ยวกับการนี้แทน ทั้ง ๆ ที่เกณฑ์ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นนี้เป็น ‘หัวใจพื้นฐาน’ จุดเริ่มนับ 1 ของการกำหนดกฎเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายทั้งปวงที่ควรจะต้องกำหนดไว้ในกฎหมายหลักบทหลักเพื่อให้แก้ไขได้ยากกว่าการไปกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรอง แม้กรรมาธิการเสียงข้างมากจะยังคงกำหนดไว้ในกฎหมายหลักแต่ย้ายไปอยู่ในบทเฉพาะกาลออกจะไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร และก็ไม่รู้ว่าในกระบวนการพิจารณาวาระ 2 ขั้นรายมาตราเมื่อถึงมาตรา 169/1 จะหายไปอีกหรือไม่ จึงขออนุญาตนำข้อด้อยในข้อ 5 มาเพิ่มเป็น (+1) ไว้ในข้อด้อยใหญ่ด้วย
แม้จะเป็นเพียง 1 หรือ 1 (+1) ข้อด้อย แต่ก็เป็น 1 หรือ 1 (+1) ข้อด้อยที่ทั้งใหญ่ทั้งมีนัยสำคัญยิ่ง
แต่จะใหญ่และมีนัยสำคัญพอที่จะสรุปในเบื้องต้นว่าเป็นการปฏิรูปแบบ ‘ลูบเบา ๆ’ เท่านั้น ตามที่จั่วหัวเรื่องไว้พร้อมเครื่องหมายปรัศนีหรือไม่ เชิญสาธุชนพิจารณา

About The Author