‘เงิน-อำนาจ’ล้มคดีอาญาได้ ประจานกระบวนการยุติธรรมไทยล้มเหลว ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน!
‘เงิน-อำนาจ’ล้มคดีอาญาได้ ประจานกระบวนการยุติธรรมไทยล้มเหลว ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน!
“คุกมีไว้ขังคนจน” “คนรวยทำผิดไม่ติดคุก” เป็นคำกล่าวสะท้อนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยยังล้าหลัง และล้มเหลวได้ตรงความจริงที่สุดในยุคสมัยปัจจุบัน
เนื่องจากเมื่อคนจนมีคดีความเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น”ผู้เสียหาย”หรือ”ผู้ต้องหา”ก็พึ่งพากระบวนการยุติธรรมทำให้ตนเองได้รับความยุติธรรมไม่ได้ ส่วน คนรวย คนมีอำนาจ สามารถอาศัยทุกช่องทางทำให้ตนเองได้เปรียบไม่ว่าจะตกเป็นผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย ขณะที่เจ้าพนักงานของรัฐก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความเที่ยงธรรมและเสมอภาคได้
ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และความไม่เป็นธรรมต่างๆเกิดขึ้นหลายคดี ที่ตอกย้ำว่า เงิน-อำนาจ อยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม เช่น
1. นายธีระพล รัตน์วิชัย หรือแชมป์ อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ถูกตำรวจสืบสวน สภ.เมืองมหาสารคาม 6 คนบุกห้องพัก จับใส่กุญแจมือและรุมซ้อมจนน่วมบังคับให้รับสารภาพว่าเป็นคนจำหน่ายยาบ้า แต่ตรวจค้นห้องไม่พบหลักฐาน สุดท้ายบอกผิดคน!
ต่อมา นายธีระพล ได้เข้าร้องขอความเป็นธรรมศูนย์ดำรงธรรม จ.มหาสารคาม เพื่อให้ดำเนินคดีกับตำรวจกลุ่มดังกล่าว สุดท้ายตำรวจกลุ่มนี้บอกขอโทษ จ่ายเงินค่าทำขวัญ 5 แสน หวังจบคดี ทั้งที่ข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบเป็นความผิดต่อรัฐ ตำรวจผู้ใหญ่ปล่อยให้คดีจบไปโดยไม่มีการสอบสวนส่งให้อัยการฟ้องศาลลงโทษได้อย่างไร?
2. กรณีรถบิ๊กไบค์ ทะเบียนตราโล่ ขับมาชนท้ายรถจักรยานยนต์ของสามี -ภรรยา ไปแจ้งความที่ สภ.เมืองนครราชสีมา แต่ตำรวจไม่รับแจ้งแถมข่มขู่ผู้เสียหายว่า “คุณอยากมีเรื่องกับตำรวจเหรอ?” นอกจากนั้นยังด่าทนายด้วยถ้อยคำหยาบคาย สุดท้ายยอมขอโทษจ่ายค่าเสียหาย 1.5 หมื่น ทนายดังไม่ติดใจเอาเรื่องกรณีถูกด่า? จบคดี
การที่ตำรวจไม่รับแจ้งความถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และผิดวินัยร้ายแรง มีโทษไล่ออก ปลดออก คดีความผิดต่อรัฐเลิกกันไปได้อย่างไร?
3. ผู้ปกครองของเด็กหญิงอายุ 12 ปี ชั้น ม.1 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท พาลูกสาวเข้าร้องทุกข์ต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยนาท แจ้งว่า ลูกสาวถูกนายดำรงค์ อายุ 40 ปี ครูสอนวิชาพละศึกษา หลอกพาไปขืนใจล่วงเมิดทางเพศ ถึง 2 ครั้ง แต่ทางโรงเรียนกลับเพิกเฉย เพียงแค่สั่งให้นายดำรง ไปช่วยราชการที่กองการศึกษา เทศบาลวัดสิงห์หน่วยงานต้นสังกัด จึงต้องการให้ศูนย์ดำรงธรรมช่วย เพราะเกรงว่านายดำรงค์จะลอยนวลพ้นผิดไป
ต่อมาทางเทศบาลตำบลวัดสิงห์ ได้สั่งให้นายดำรงค์ ไปช่วยราชการที่กองการศึกษาไว้ก่อน เพื่อพิจารณาบทลงโทษ ตามที่คณะกรรมการสอบวินัยลงความเห็นว่ามีมูลความผิดจริงหรือไม่ต่อไป ส่วนทางคดี ตำรวจ สภ.วัดสิงห์ ได้แยกสำนวนเป็น 2 คดี ต่างกรรมต่างวาระ
แม่ของเด็กหญิงผู้เสียหายได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ครูพละ ได้พยายามติดต่อผ่านญาติของตน โดยเสนอเงิน 200,000 บาท เพื่อให้จบเรื่อง โดยบอกกับตาของเด็กหญิงว่า “รับเงินไปเถอะ จะได้จบๆ กันไป ส่วนเรื่องคดีไม่ต้องห่วง ครูจะวิ่งเต้นทางตำรวจกับอัยการเอง ศักดิ์ศรีมันกินไม่ได้ ให้รับเงินไปดีกว่า”
คดีอาญาเคลียร์ตำรวจกับอัยการได้อย่างไร?
4. สวป. สภ.สอยดาว จ.จันทบุรี ใช้ไม้กระบองไฟฟาดข้าราชการสาวรายหนึ่งเมื่อขับรถมาถึงด่าน อ้างว่าขับรถเฉี่ยว ถูกจับตรวจปัสสาวะ เมื่อไม่พบสารเสพติดกลับนิ่งเฉย ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ต้องลงมาไกล่เกลี่ยด้วยตัวเองถึงยอมขอโทษ ตำรวจมีอำนาจจะบังคับให้ใครตรวจปัสสาวะก็ได้จริงหรือ?
5. กรณี พลทหารแฉทหารยศใหญ่ ฉุนหมา 2 ตัววิ่งไล่ขณะปั่นจักรยาน สั่งจับมัดขาตากแดดทั้งวันจนหายใจรวยริน พาไปทิ้งกองขยะ กลุ่มคนรักสัตว์วอนเร่งตามหาช่วยเหลือสุนัขทั้ง 2 ตัว
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้ปรับโอน พลทหารฯ ที่ถ่ายรูปสุนัข มาอยู่หน่วยที่ กทม. เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับกำลังพลหน่วยเดิม และไม่มีโทษใดๆ ทั้งสิ้น 2. ได้ลงโทษทางวินัยผู้สั่งการฐานไม่กำกับดูแล และ ขาดคุณธรรม ไม่ลงในรายละเอียดหรือวิธีการปฏิบัติจนทำให้เกิดปัญหา 3.ได้ลงโทษผู้ปฎิบัติ, ผู้รับคำสั่ง ซึ่งทำเกินกว่าเหตุ ถึงแม้ได้รับคำสั่งก็ตาม แต่ขาดซึ่งวิจารณญาณและเมตตาธรรม 4. ให้นำสุนัขทั้ง 2 ตัว มาเลี้ยง และ รักษาพยาบาล ให้อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของหน่วย โดยให้ส่งภาพรายงานมาทุกสัปดาห์ ขอให้ความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการทุกอย่างโดยคำนึงถึงความเหมาะสม ตรงไปตรงมา
ปัญหาคือ ได้มีการดำเนินคดีอาญาผู้บังคับบัญชาคนสั่งการตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์มีโทษจำคุกถึงสองปีหรือไม่?
6.กรณีมีการแชร์คลิป 8 ตำรวจสายตรวจรับสร้อยทองคำหนัก 1บาท จากร้านทอง ในจ.หนองคาย หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันขรมว่าไม่เหมาะสมและเข้าข่ายผิดกฎหมายปปช.กรณีรับทรัพย์สินเกิน 3พันบาท ร.ต.อ.ชี้แจงว่าแค่ทำเป็นเคล็ดให้โชคดีรับปีใหม่ เสร็จแล้วส่งคืน อ้างสนิทเจ้าของร้านเหมือนแม่กับลูก
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ม.103 ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท หากฝ่าฝืนต้องได้รับโทษไม่เกิน 3ปี หรือปรับไม่เกิน6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและเป็นอาญาแผ่นดิน ต้องดำเนินการส่งเรื่องให้ป.ป.ช.เป็นผู้วินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดจริงหรือไม่ ไม่ใช่สรุปกันเองว่าทำเป็นเคล็ดให้โชคดีเสร็จแล้วส่งคืน จบกันง่ายๆแบบนี้
7.นอกจากนี้ยังมีกรณี “ผอ.” ตบ “น้องแนท” เด็กเสิร์ฟห้องอาหารที่อยุธยา สุดท้ายบอกขอโทษ จ่าย 4 หมื่นค่าทำขวัญ ตำรวจปรับผอ.1,000 พัน โดยอ้างว่าเป็นเพียงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจผู้ใด จริงหรือ?
การกระทำความผิดเหล่านี้ ถือเป็นคดีอาญาแผ่นดินทั้งสิ้น ยอมความกันไม่ได้ แต่เพราะรัฐปล่อยให้พยานหลักฐานทั้งวัตถุพยานและพยานบุคคลอยู่ในความควบคุมของตำรวจเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีหน่วยอื่นร่วมรับรู้หรือตรวจสอบอะไรได้
แม้กระทั่งอัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดี ก็ไม่รู้ว่ามีการกระทำผิดอาญาต่อรัฐเหล่านี้เกิดขึ้น การลงบันทึกประจำวันก็ไม่ลงเลขคดี เพื่อไม่ต้องสรุปความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ให้อัยการพิจารณา
นี่คือจุดอ่อนของระบบงานสอบสวนประเทศไทย ที่ทำให้ตำรวจสามารถสอบสวน “ยัดข้อหาประชาชน” หรือ “ล้มคดี” ได้ทุกแทบเรื่อง!
หากยังปล่อยให้ เงิน-อำนาจ อยู่เหนือกระบวนการยุติธรรมได้เช่นนี้ ยิ่งจะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ส่งผลต่อความเชื่อถือหลักนิติรัฐและระบอบประชาธิปไตย
เป็นวิกฤติกระบวนการยุติธรรมที่ี่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน!