หายนะจะเกิดกับสังคมไทย หาก’กัญชา’ไม่ใช่’ยาเสพติด’อีกต่อไป ใครรับผิดชอบ?
หายนะจะเกิดกับสังคมไทย หาก‘กัญชา’ไม่ใช่’ยาเสพติด’อีกต่อไป ใครรับผิดชอบ?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหาเรื่อง พืชกัญชา ซึ่งเป็น ยาเสพติดชนิดหนึ่งทั้งตามความเป็นจริงและกฎหมาย ในประเทศไทยมานานหลายสิบปี
แต่ รัฐบาลชุดนี้ กำลังจะทำให้เป็น สิ่งถูกกฎหมาย คล้าย พืชผักทั่วไป ที่ผู้คนสามารถนำไปปรุงเป็นยารักษาโรคตามความเชื่อของแต่ละคนได้ รวมทั้งใช้ปรุงอาหาร หรือ ชาวบ้านโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวใช้สูบเสพกันตามผับบาร์หรือที่บ้านเพื่อความสุขสนุกสำราญกันได้อย่างสบาย “ยิ่งกว่าบุหรี่”!
เป็นตามนโยบาย กัญชาเสรี ที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลได้ประกาศและขึ้นป้ายหาเสียงไว้ทั่วไทยในการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 ซึ่งถูกประชาชน “ผู้นิยมกัญชา” ทวงถาม หลังจากการเลือกตั้งได้ผ่านมานานหลายปี เพื่อที่ผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติจะได้ปลูกและเสพกัญชากันอย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ มองว่าตำรวจคนใดจะจับหรือไม่เช่นปัจจุบันต่อไป!
หลังจากประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ก็ได้มีการถกเถียงและชี้แจงกัน ในหมู่ผู้ไม่รู้ ว่า กัญชาไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดผิดกฎหมายแล้ว ฉะนั้นใครที่ปลูก ครอบครอง ค้า หรือสูบเสพกัญชา ไม่มีความผิดทางอาญาแต่อย่างใด?
แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มี “นักกฎหมายผู้รู้” คนใดกล้าปลูกกัญชาไว้หน้าบ้าน หรือสูบเสพให้ผู้คนเห็นเป็นประเด็นให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับส่งอัยการฟ้องศาล เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมายอย่างแท้จริงหรือไม่?
แต่หลังจากเวลาได้ผ่านไป ในการประชุมของคณะกรรมการอาหารและยาที่ มีผู้นิยมกัญชามาร่วมพิจารณา ปัญหานี้เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 ก็กลับยอมรับว่า
ถ้าจะทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ก็ต้องมีการแก้ไข ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 ทำให้ไม่ปรากฏถ้อยคำนี้อีกต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่เป็นประเด็นถกเถียงกันว่ายังผิดอยู่หรือไม่เสียก่อน
และจะได้เสนอเข้าสู่การประชุมพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายรับผิดชอบเป็นประธาน แทนตลอดมา ในวันอังคารที่ 25 มกราคม 2565
ซึ่งถ้า คณะกรรมการ ป.ป.ส.ชุดนี้ เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ รัฐมนตรีว่าการ ก็สามารถออกประกาศฉบับใหม่ไม่กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอีกต่อไป ไม่ว่าประเภทใด
จะส่งผลทำให้ ผู้คนทุกอาชีพและเพศวัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สามารถปลูกและขนค้ากัญชา รวมทั้งสามารถครอบครองหรือนำไปเสพกันในรูปแบบใดก็ได้!
สอดคล้องกับนโยบาย กัญชาเสรี ที่ นักการเมืองและผู้มีอำนาจ หลายคนเห็นว่าไม่ได้เป็นพืชที่มีพิษภัยอะไรอย่างที่ชาวโลกและคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกันมาช้านานแต่อย่างใด?
ปัญหาคือ จริงหรือไม่? ที่บางคนสรุปว่า กัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดและมีพิษภัยต่อประชาชนรวมทั้งประเทศชาติอะไร?
คำอธิบายโดยตรรกะง่ายๆ ก็คือ ในอดีตแต่โบราณ กัญชาถือเป็นพืชท้องถิ่นธรรมดาชนิดหนึ่งซึ่งรัฐไม่ได้ออกกฎหมายให้การปลูก ครอบครอง หรือเสพเป็นความผิดทางอาญาอะไร
จนกระทั่ง “รัฐสมัยใหม่” ได้เห็นพิษภัยของพืชกัญชาว่าส่งผลเสียหายต่อประชาชนทั้งบุคคลและสังคมอย่างมากมาย
“เนื่องจากเป็นพืชที่มีสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทในระยะแรก ผู้เสพกัญชาจะมีอาการร่าเริง ช่างพูด ตื่นเต้น และหัวเราะตลอดเวลา
แต่ต่อมาจะออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อน เซื่องซึมและง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมาก จะหลอนประสาท ทำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว หวาดระแวง ความคิดสับสนและควบคุมตัวเองไม่ได้ ในบางรายอาจไม่รู้จักตนเองหรือไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว
การเสพกัญชาแม้เพียงระยะสั้น ผู้เสพบางรายอาจสูญเสียความทรงจำได้ เพราะจะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล หากผู้เสพเป็นผู้ที่มีอาการทางจิตอยู่ด้วยแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติทั่วไป โดยอาการทางจิตประสาทที่พบได้บ่อยๆ คือสมาธิสั้น ความจำแย่ลง และมีปัญหาในการตัดสินใจและบางคนอาจมีปัญหาในการทรงตัว นอกจากนี้ยังส่งผลอื่นๆ ต่อร่างกาย เช่น ม่านตาหรี่ลง ตาแดง มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ หัวใจเต้นเร็ว
กัญชายังมีฤทธิ์ทำลายสมรรถภาพทางกาย ผู้เสพในปริมาณมากเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมจนไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิด การตัดสินใจและการใช้แรงงาน สารในกัญชาจะทำลายระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายหลายส่วน ทำลายระบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง มีอาการเพลีย น้ำหนักตัวลดลง ฯลฯ
นอกจากนั้น กัญชายังมีฤทธิ์ทำลายความรู้สึกทางเพศ ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในชายลดลง ทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง ผู้เสพจะมีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในที่สุด การสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชาเพียง 4 มวน จะเท่ากับการสูบบุหรี่ 20 มวน หรือ 1 ซอง มันจึงสามารถทำลายการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งมากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า อีกทั้งกัญชายังมีสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายซึ่งเมื่อเทียบกับบุหรี่ทั่วไปแล้ว จะมีมากกว่า 50-70 เปอร์เซ็นต์”
ผู้เสพกัญชาถ้าขับยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ เรือยนต์ หรือควบคุมเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์กลไก หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ บางคนอาจไม่สามารถควบคุมต่อไปได้ หรือหากฝืนทำไป ก็จะเกิดอันตรายเพิ่มขึ้นอย่างมาก!
นายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล นักวิจัยในโครงการวิจัยสังเคราะห์และทบทวนเพื่อพัฒนามาตรการนำสารสกัดกัญชาใช้ทางการแพทย์สำหรับประเทศไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ยังได้กล่าวว่า
“การตัดกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลว่า กัญชายังเป็นยาเสพติดและเป็นประตูสู่การเสพติดอื่นที่ร้ายแรงกว่า ก่อให้เกิดการเสพติดและการเจ็บป่วยจากการเสพที่ชัดเจน แม้จะมีสารบางส่วนที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่การกำหนดให้สารสกัดกัญชาที่มี THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเป็นยาเสพติด จะมีความยากในการควบคุมทางปฏิบัติจริงอย่างมาก”
“นอกจากนั้น กัญชายังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสมองของเยาวชนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมในวงกว้าง เช่น ข่าวคนเกิดอาการประสาทหลอนเนื่องจากการเสพกัญชา หากในอนาคต ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเสพและใช้กัญชาโดยเข้าใจว่าไม่ใช่ยาเสพติด สังคมไทยจะเกิดความหายนะขนาดไหน?”
นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐต้องบัญญัติให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 และกำหนดโทษอาญาถึงจำคุก สำหรับบุคคลผู้ปลูก ขนค้า ครอบครอง หรือเสพ ไม่ว่าจะกระทำในรูปแบบใดโดยไม่ได้รับอนุญาต
ในประเด็นที่ว่า กัญชามีคุณต่อมนุษย์ในบางด้านโดยเฉพาะการรักษาโรคบางชนิด
แต่การนำพืชเสพติดมาใช้ประโยชน์ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ก็จำเป็นต้องควบคุมส่วนที่เป็นโทษอีก 90 เปอร์เซ็นต์ ให้ได้
ซึ่งถ้า คณะกรรมการ ป.ป.ส. ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบตามที่คณะกรรมการ อย. และกระทรวงสาธารณสุขเสนอและให้ออกประกาศว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติสูบเสพกันได้ตามสบาย
ใครจะรับผิดชอบต่อความเสียหายและหายนะอย่างร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมไทยในอนาคต?.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 24 ม.ค. 2565