วิพากษ์รายงาน UPR ตบหน้ารัฐบาลไทย จี้รัฐสภาสานต่อตรวจสอบคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาคมโลก
ครป.จัดเวทีวิพากษ์รายงาน UPR ตบหน้ารัฐบาลไทย จี้รัฐสภาสานต่อตรวจสอบคำมั่นของรัฐบาลที่ให้ไว้กับประชาคมโลก ก่อนไทยจะถูกลดสถานะประเทศประชาธิปไตยเพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เครือข่าย Police Watch Thailand, ACFOD และ Alliance for Free Burma Solidarity จัดเวทีอภิปรายวิพากษ์รายงาน UPR (Universal Periodic Review) ของไทยต่อเวทีสิทธิมนุษยชนโลก กับคำมั่นของรัฐไทยที่ไร้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมี นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธาน ครป. ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อดีตผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยนชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights – AICHR) นางสาวสัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.ร่วมอภิปราย
นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีการประกาศใช้แผนแม่บทสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 4 แล้วกำลังจะมีฉบับที่ 5 แต่ยังไม่เห็นความมุ่งมั่นใส่ใจจริงจากรัฐบาลแต่อย่างใดในทางปฏิบัติ สำหรับการรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในเวที Universal Periodic Review (UPR) ซึ่งเป็นกลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สำหรับประเทศภาคีสมาชิก ทุก 4-5 ปีครั้ง ในวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ประเทศไทยต้องรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และหลายประเทศในที่ประชุมภาคีระหว่างประเทศจะได้เสนอแนะให้ไทยนำไปปรับปรุงพิจารณาในเรื่องต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เสนอให้ทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก และมีมาตรการปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender) และสื่อจากการถูกคุกคาม เยอรมนีเสนอให้เลิกจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการรวมตัวกัน แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และแก้ไขมาตรการที่จำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมเช่นกันเหมือนกับอีกหลายประเทศ ข้อสังเกตเบื้องต้นของตนคือ ในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่ปกครองคล้ายไทยมีกษัตริย์เป็นประมุขในหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้มีปัญหาการละเมิดสิทธิทางการเมืองเหมือนไทยเลย ในการใช้อำนาจคุกคามประชาชนของตนเอง แต่ทำไมประเทศไทยถึงเกิดปัญหาขึ้น
การเกิดการคุกคามจากบุคคลในรัฐโดยตรงในหลายเรื่อง หรือการขับไล่ใสส่งองค์กรสิทธิมนุษยชน ทำให้ประเทศไทยห่างไกลจากเมืองหลวงด้านสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียลงไปทุกที ตามที่หลายคนเคยคาดหวังในอดีต หลายเรื่องขัดหรือแย้งกับคุณธรรมสากลแต่รัฐบาลอ้างว่าคนไทยไม่เห็นด้วยเช่นเรื่องโทษประหารชีวิต นอกจากนี้ทัศนคติภาครัฐของไทยยังมองภาคประชาชนเป็นลบอย่างมากก็เลยพยายามออกกฎหมายควบคุมประชาชน หลายเรื่องเป็นพัฒนาการที่ถดถอยลงอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไปให้สัตยาบันในปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ที่ผ่านมา
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวว่า ในฐานะอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 2 ที่มีส่วนร่วมในการทำรายงาน UPR ในยุคก่อน ซึ่งเป็นเวทีนำเสนอสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศเพื่อการตรวจสอบตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเป็นธรรมและใช้หลักนิติรัฐ นิติธรรมนั้น ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยตกขอบของอาเซียนไปแล้ว แม้แต่สหรัฐฯ จะจัดประชุมประเทศประชาธิปไตยในวันที่ 9-10 ธันวาคมนี้ก็ไม่มีคำเชิญประเทศไทยเลย เพราะเขาเน้นประเทศที่ 1.มีประชาธิปไตย ไม่ยอมรับระบอบเผด็จการ 2.ไม่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และ 3.ประเทศที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน แต่ประเทศไทยไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว
รัฐบาลไทยกำลังขัดขวางสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและในการชุมนุมทางการเมือง แม้แต่เด็กยังถูกดำเนินคดีทางการเมืองด้วย เกือบ 2 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ประเทศไทยมีคดีการเมืองมากกว่า 1,636 คดี โดยมีคดีการละเมิด พรก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง มีการใช้มาตรา 112 กว่า 159 คดีที่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยทางการเมือง นอกจากนั้นยังลามไปถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ว่าการปราศรัยและข้อเสนอของผู้ชุมนุมเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเหมือนเป็นการราดน้ำมันเข้ากองไฟ แนวคิดขององค์กรอิสระแม้แต่ศาลยังคงปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สังคมไทยในขณะนี้ หน่วยราชการยังถูกครอบงำด้วยระบอบอำนาจนิยม และเป็นการทำลายความมั่นคงของไทย ทำให้ประชาธิปไตยถดถอย รัฐบาลไทยต้องทบทวนปัญหาจากวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากเราไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศจะเกิดผลกระทบมหาศาลต่อไป อาจจะเป็นเพราะประเทศไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเอียงข้างไปใกล้ชิดประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป
อีกเรื่องหนึ่งคือจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับปัญหาที่ถูกตั้งคำถามในเวทีตรวจสอบ UPR ในหลายมาตราที่เป็นปัญหา ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะต้องเร่งทำโดยความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สถานะสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยได้รับการยอมรับและเลื่อนลำดับขึ้นต่อไป
นพ.นิรันดร์ ยังเรียกร้องให้กรรมาธิการในรัฐสภาต้องขานรับในแต่ละเรื่อง พูดในสภาในฐานะตัวแทนของประชาชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะต้องมีท่าทีที่ชัดเจนและขานรับต่อ โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงและรายงานต่อรัฐสภาและรัฐบาล อย่าปล่อยให้เวที UPR จบลงโดยไม่มีบทต่อเนื่อง และประชาชนต้องออกมาติดตามอย่างมีส่วนร่วมว่า อย่าปล่อยให้มีการรัฐประหารซ้อน ปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรง มีการรวบอำนาจ และทำให้ประชาธิปไตยถดถอยลงไปอีก เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นความคิดอนุรักษ์นิยมที่ไม่ยอมรับความคิดที่เปิดกว้างของประชาชน
ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ กล่าวว่า อยากให้ความสำคัญเรื่องแรงงานข้ามชาติซึ่งระบุไว้บางส่วนในรายงาน UPR เนื่องจากขณะนี้มีแรงงานเพื่อนบ้านอพยพเข้ามาจำนวนมากเพื่อหางานทำและลี้ภัยจากสงครามเนื่องจากปัญหาการเมืองในพม่า รัฐบาลบอกว่าได้พยายามจัดการปัญหาดังกล่าวภายใต้ MOU เดิม แต่สถานการณ์ในพม่าได้เปลี่ยนไปแล้วในปัจจุบัน มีปัญหาต่างๆ มากมาย เช่นการจ่ายเงินใต้โต๊ะในขบวนการค้ามนุษย์ การลักลอบเข้าเมืองตามยถากรรม ทำให้สถานการณ์นี้กลับมาสู่วงจรเดิมเมื่อ 20 ปีก่อน
รัฐบาลไทยจะต้องวางมาตรการที่สอดคล้องในปัจจุบัน เช่น จัดวันสต๊อปเซอร์วิสที่ชายแดนตามข้อเสนอของหอการค้าไทย เพราะแรงงานขาดแคลนจำนวนมากทั้งอุตสาหกรรมประมง ก่อสร้าง เป็นต้น แทนที่จะเสียเงินเข้าระบบนายหน้า ก็จัดพบกับแรงงานข้ามชาติกับนายจ้างอย่างเป็นระบบไปเลย ซึ่งถ้าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมก็จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติโดยตรง
นายกษิต ภิรมย์ กล่าวว่า ตนสงสารปลัดกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องไปแก้ต่างและตอบคำถามแทนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่สร้างปัญหาเกิดขึ้น เพราะใช้กลไกและหน่วยงานของรัฐไปเล่นงานและทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างทางการเมือง อาจมีเรื่องเดียวที่ก้าวหน้าคือการกำลังออกกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการอุ้มหายในรัฐสภา
แต่ 8 ปีที่ผ่านมาเรามีรัฐบาลทหาร 5 ปี รัฐบาลกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ 2 ปี เป็นเผด็จการอำนาจนิยมที่ระบบข้าราชการก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอำนาจรัฐ โดยที่พรรคการเมืองต่างๆ ก็ขาดความรับผิดชอบร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอำนาจรัฐกับประชาชนโดยตรง ซึ่งปัญหาดังกล่าวประชาชนก็คงต้องออกมาแก้ไขปัญหาเองเพราะหวังพึ่งรัฐบาลอำนาจนิยมที่เป็นต้นตอปัญหาไม่ได้
เรื่องมาตรา 112 นั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยช่วยบรรเทาปัญหาไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างสถาบันกับประชาชนที่เห็นต่าง โดยให้มีคณะกรรมการช่วยกลั่นกรองการบังคับใช้กฎหมายไม่ให้เกิดความรุนแรงและบรรเทาความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้สถาบันตกเป็นเป้าความขัดแย้งกับประชาชน แต่ปัจจุบันรัฐบาลกำลังบ่อนทำลายสถาบันจนเกิดความขัดแย้งและมีคดีความจำนวนมากทำให้สถาบันเสื่อมเสีย ข่าวลือบานปลายขยายไปทั่วจนจัดการปัญหาไม่ได้ ตำรวจก็ต้องมารับผิดชอบเรื่องทั้งหมดแทนรัฐบาล
ทางออกจากปัญหานั้น รัฐสภาและพรรคการเมืองทั้งหลายต้องร่วมมือกันรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่เข้ามาเฉพาะช่วงเลือกตั้งกันเพื่อแข่งขันเป็นรัฐบาลกันอย่างเดียว เป็นเรื่องที่น่าอับอายที่ไทยต้องมาตอบคำถามต่างๆ มากมายในเวทีระหว่างประเทศเฉกเช่นประเทศที่ไม่พัฒนา
ขอตั้งคำถามว่า การที่รัฐมนตรีต่างประเทศแอบไปพบพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ที่พม่านั้น ได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีว่าอย่างไร ได้คุยกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนหรือไม่ที่มีจุดยืนอีกอย่าง ไทยจะไปทำแบบเอกเทศไม่ได้ เพราะมีมาตรการและแผนปฏิบัติการ 5 ประการของอาเซียนที่เคยเสนอกองทัพพม่าไปแล้ว ซึ่งควรจะมีการประชุมลับที่รัฐสภาเพื่อขอฉันทานุมัติก่อนดำเนินการใดๆ
นายกษิต กล่าวว่า ควรจะปฏิเสธการดำรงอยู่ของรัฐบาลกองทัพพม่า เพื่อกดดันให้ยกเลิกการเข่นฆ่าประชาชนก่อนแล้วค่อยเจรจา และต้องเจรจากับรัฐบาลเงา NUG ด้วย ทั้งสองฝ่าย หากจะเล่นบทบาทคนกลาง โดยอาจจัดโต๊ะเจรจาที่กรุงเทพฯ โดยเชิญผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติและอาเซียน มาร่วมหารือกันเพื่อสร้างสันติภาพ จะเป็นทางออกที่ดีกว่าการแอบไปเจรจาลับๆ งุบงิบๆ ทำกัน ซึ่งมีอะไรในกอไผ่หรือเปล่า ทำไมไม่ให้ประชาชนรู้ สภาต้องเอาเรื่องนี้มาอภิปรายกันให้ชัดว่าเราจะยืนอยู่จุดไหนจะยืนอยู่กับกองทัพพม่าหรือประชาชนและชนกลุ่มน้อยพม่าทั้งหมด
ส่วนการที่รอง ผอ.ซีไอเอมาพบนายกรัฐมนตรี นั้น คิดว่าน่าจะมาสอบถามว่า สหรัฐฯ กำลังจัดทัพประเทศประชาธิปไตย 100 กว่าประเทศที่จะจัดประชุมกันเพื่อคานอำนาจกับจีน แล้วรัฐบาลไทยจะยืนอยู่จุดไหนในสถานการณ์นี้เพราะถูกกล่าวหาว่าผู้นำของไทยใกล้ชิดกับจีน และอาจจะเกิดแนวรบด้านทะเลจีนใต้กรณีไต้หวัน แต่ไม่ทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์จะให้คำตอบว่าอย่างไร
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี กล่าวว่า ภาพของประเทศไทยในเวทีโลกโดยการส่องผ่านรายงาน UPR นั้น คำมั่นของรัฐบาลไทยไม่เป็นจริงทั้งจากมุมมองต่างประเทศและมุมมองจากประชาชนไทย ถ้าเราดูคำถามส่วนใหญ่จากประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วจะเกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นหลักทั้งสิ้น เช่นการใช้กฎหมายมาตรา 112 มาตรา 116 อย่างเกินขอบเขต ส่วนประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศที่กำลังพัฒนาก็จะไม่ค่อยมีคำถามและอาจมีคำชมเรื่องพัฒนาการด้านสิทธิเด็กและสตรี กฎหมายการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย แต่ในสายตาประชาชนไทยไม่ได้คืบหน้ามากเท่าไหร่ เพราะกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานก็ผ่านมากว่า 12 ปีแล้วพึ่งจะผ่านรัฐสภาวาระแรก
พฤติกรรมในการริวิว UPR ของรัฐบาลไทยนั้นมักจะตอบรับเป็นพิเศษในเรื่องทั่วไป เช่นเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา แต่เรื่องเฉพาะเจาะจงมักจะไม่ตอบรับโดยตรง เช่นการแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา ปัญหาสำคัญหนึ่งก็คือ เรื่อง UPR ถูกทำให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น แต่ไม่ถูกทำให้เป็นเรื่องของประชาชนไทยทั้งหมด ดังนั้น ควรให้ความสำคัญของประชาชนกับการมีส่วนร่วมในรายงาน UPR ให้มากขึ้นเพราะเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคนโดยตรง และรัฐสภาควรจะรับลูกตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไปโดยเฉพาะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะต้องดำเนินการติดตามในเรื่องนี้ต่อไปอย่างจริงจัง เนื่องจาก กสม.ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มีอุปสรรคมากมายเพราะถูกกำหนดให้เป็นปากเป็นเสียงของรัฐบาล ดังนั้นการย้ายสถานะจาก B เป็น A จึงเป็นไปได้ยากมากหากไม่แก้ไขเรื่องนี้ นอกจากนี้ภาควิชาการและภาคประชาสังคมควรจะสนใจเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันองค์กรที่ติดตามเรื่อง UPR มีน้อยเกินไป และมหาวิทยาลัยไทยก็ยังใส่ใจเรื่องนี้ไม่มากพอ
นางสาวสัณหวรรณ ศรีสด กล่าวว่า ภายหลังกระบวนการ UPR ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลไทยทยอยรับหลักการไปแล้วหลายเรื่อง แต่เป็นเรื่องที่เน้นเฉพาะในรายงานที่กล่าวถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนด้วยถ้อยคำกลางๆ เบาๆ ไม่รุนแรง เช่น จะนำไปพิจารณาหรือแก้ไขให้ดีขึ้น แต่ในเรื่องที่เน้นหนักและเป็นข้อเสนอเฉพาะเจาะจง รัฐบาลไทยยังไม่กล้าที่จะตอบรับโดยตรง โดยเฉพาะจะเป็นประเด็นเรื่องหนักๆ เช่นการขอให้ไทยให้สัตยาบันทันที หรือการแก้กฎหมายภายในที่เป็นปัญหาให้เป็นไปตามพันธกรณี เรื่องผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การเข้าไปเป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ เรื่องยกเลิกโทษประหารชีวิต เรื่องการตั้งสหภาพแรงงานของแรงงานต่างด้าวผู้แทนรัฐบาลไทยก็จะบอกว่าจะขอนำกลับไปพิจารณาก่อน
นอกจากนี้ยังมีหลายเรื่องมากที่รัฐบาลรับปากว่าจะนำไปพิจารณา ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลไทยจะมีพัฒนาการขึ้นในรอบนี้อย่างไรบ้าง ในส่วนที่ยังไม่ตอบรับอีกหลายเรื่องนั้น เช่น กฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ เรื่องการชุมนุมทางการเมือง และเรื่องสมรสเท่าเทียม คำถามสำคัญคือประชาชนไทยจะร่วมกันขับเคลื่อนให้กลไก UPR ผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขและมีพัฒนาการในด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร เพราะปัญหาของกลไกสหประชาชาติหลายอย่างไม่มีบทลงโทษแต่เป็นเรื่องหน้าตาและศักดิ์ศรีของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐสภาไทยน่าจะรับลูกเรื่องนี้ต่อไปเพื่อไปตั้งคำถามกับรัฐบาลต่อไป เพื่อให้เรื่องเหล่านี้ไปถกเถียงพูดคุยในรัฐสภาเพื่อประโยชน์ของประเทศต่อไป โดยเฉพาะสิ่งที่ยังไม่รับจะเป็นตัวกำหนดนโยบายของรัฐต่อไปว่าจะมุ่งไปในทิศทางไหน
นายเมธา มาสขาว กล่าวสรุปว่า รายงาน UPR ของรัฐบาลไทยมีความยาว 19 หน้า 145 ประเด็น และถูกตั้งคำถามพร้อมข้อเสนอแนะจากหลายประเทศ ส่วนรายงานของสหประชาชาตินั้นมีความยาว 11 หน้า 73 ประเด็น เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน ขณะที่มีภาคประชาชนเสนอรายงานคู่ขนานเข้าไปถึง 60 ฉบับ ถูกรวบรวมสรุปโดยคณะทำงาน UPR เป็น 10 หน้า 70 ประเด็น รวมถึงการกล่าวถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ถูกร่างโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและไม่เป็นไปตามหลักการสากล
ข้อเสนอแนะต่างๆ ของนานาประเทศและประชาชนไทยในวันนี้นั้น องค์กรประชาธิปไตยและองค์กรสิทธิมนุษยชนจะร่วมกันตรวจสอบรัฐบาลต่อไป ว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขให้ดีขึ้นหรือไม่ เพราะเกี่ยวพันกับสถานะของไทยและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนไทยโดยตรง และจะขับเคลื่อนให้กรรมาธิการต่างๆ ในรัฐสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินำไปผลักดันและติดตามต่อไปตามบทบาทหน้าที่
ตั้งข้อสังเกตว่า การตอบคำถามของปลัดกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้แทนไทย ทำไมแตกต่างจากท่าทีของผู้ช่วยรัฐมนตรีและคนในรัฐบาลหลายคนที่มีทัศนคติตรงข้ามกับสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกการเมืองบีบบังคับให้ตั้งข้อหาด้านความมั่นคงเกินเลยจากความเป็นจริง โดยเฉพาะมาตรา 112 และ 116 ไม่ควรถูกใช้ในทางการเมือง
ขณะที่ไม่บูรณาการนโยบายที่รับข้อเสนอแนะมาจากเวที UPR แต่กลับมีความพยายามปิดกั้นการทำงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนในการตรวจสอบรัฐบาล โดยการผลักดันให้ยุบองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งการมีสิทธิเสรีภาพขององค์กรประชาธิปไตยและองค์กรสิทธิมนุษยชนล้วนเป็นตัวชี้วัดสถานภาพสิทธิมนุุษยชนภายในประเทศเป็นอย่างดี ที่กระทรวงการต่างประเทศไปให้คำมั่นไว้ก็จะสูญเปล่า
และการที่รัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศของไทยแอบเดินทางไปพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ถึงพม่า เพียง 4 วันหลังให้คำมั่นกับสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เท่ากับไปรับรองรัฐบาลเผด็จการพม่าที่มาจากการรัฐประหาร และการส่งของบริจาคไปให้ถึง 17 ตัน เท่ากับสนับสนุนกองทัพพม่าทำสงครามกับประชาชนโดยตรง ซึ่งจะขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยไปสนับสนุนสงครามหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเพื่อนบ้าน โดยเมินข้อเสนอและจุดยืนของอาเซียนโดยตรง โดย ครป.จะจัดเวทีครบรอบ 10 เดือนการรัฐประหารในพม่า ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ร่วมกับประชาชนพม่าและองค์กร Alliance for Free Burma Solidarity เพื่อตั้งคำถามดังกล่าวต่อไป.