ผู้นำตำรวจ’บ้ารุ่น บ้าสถาบัน แบ่งชนชั้น’เพราะกลัว’ความชั่ว’รั่วไหล!
ผู้นำตำรวจ “บ้ารุ่น บ้าสถาบัน แบ่งชนชั้น”เพราะกลัว “ความชั่ว” รั่วไหล!
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหาตำรวจไทยในปัจจุบันนับแต่ได้ แยกออกจากกระทรวงมหาดไทยไปเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อบุคคลคือตัวนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีระบบตรวจสอบควบคุมจากภายนอกไม่ว่าโดยองค์กรใดในความเป็นจริง ซึ่งประชาชนแต่ละคนได้ประสบพบกันอยู่ทุกวันนั้น
นับว่า หนักหนาสาหัสกว่ายุคสมัยใดในอดีตอย่างยิ่ง!
ปรากฏการณ์ของปัญหาเรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ “ความล่มสลายในสายงานสอบสวน”
ปัจจุบันผู้เสียหายที่เป็นคนยากจนหรือผู้คนที่ไร้เส้นสายไม่สามารถแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนแทบทุกสถานีดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดไม่ว่าข้อหาใดตามที่ ป.วิ อาญามาตรา 130 บัญญัติไว้ให้กระทำด้วยความรวดเร็วเพื่อป้องกันมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือถูกทำลายได้!
หรือเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้เสียหายแต่ละคนต้องเทียวไปเทียวมาได้รับความทุกข์กันแสนสาหัสเลือดตาแทบกระเด็น!
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีที่ผู้เสียหายไม่รู้ว่าผู้กระทำผิดคือใคร อาจกล่าวได้ว่า กว่าร้อยละ 90 พนักงานสอบสวนจะทำให้เพียง ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน กันเท่านั้น!
การ “รับคำร้องทุกข์ออกเลขคดีอาญา” อย่างถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบราชการ กลายเป็นงานที่พนักงานสอบสวนเวร ผู้มีความรู้ระดับปริญญาตรีหรือโททางกฎหมายตัดสินใจดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเช่นในอดีตไม่ได้!
เนื่องจากถูก ผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยผู้มียศแบบทหารที่สูงกว่าระดับต่างๆ สั่งด้วยวาจาอย่างผิดกฎหมาย ไว้ว่า อย่ารับคำร้องทุกข์ออกเลขคดีง่ายๆ หรือให้รายงานเพื่อพิจารณาตามความจำเป็นก่อนทุกคดี!
เพื่อที่ตัวเลขสถิติอาชญากรรมในแต่ละเดือนของหน่วยจะได้ลดลง นำไปชี้แจงในการประชุมประจำเดือนโขมงโฉงเฉงว่าทำงานบรรลุเป้าตามตัวชี้วัดที่รัฐบาลกำหนดระบบและการบริหารงานไม่ได้มีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไขหรือปฏิรูปตามที่ประชาชนเรียกร้องแต่อย่างใด?
รวมทั้งผู้รับผิดชอบจะได้ไม่ถูกตรวจสอบและกดดันจากนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ส.ส.ในสภา ให้หาทางแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงจนบ้านเมืองแทบลุกเป็นไฟ สังคมไทยเต็มไปด้วยภัยอันตรายจากมิจฉาชีพและโจรผู้ร้ายสารพัดรูปแบบอยู่ขณะนี้
ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า การแก้ปัญหาตำรวจรวมทั้งการปฏิรูประบบงานให้มีการกระจายอำนาจสู่จังหวัดและวัฒนธรรม รวมทั้ง “ยุบหรือลดหน่วยงานส่วนเกิน” ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดนี้ ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้!
คนไทยคงต้องรอให้ถึงเวลาเลือกตั้งครั้งใหญ่ อาจจะได้เห็นหลายพรรคการเมืองที่เกิดใหม่เสนอนโยบายในการกระจายอำนาจตำรวจสู่จังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมและมีแนวทางดำเนินการอย่างจริงจังให้ประชาชนเลือกเท่านั้น
เมื่อสองสามวันก่อน มีประเด็นเรื่องตำรวจผู้น้อยในจังหวัดภาคเหนือแห่งหนึ่งฟ้องสังคมผ่านสื่อโซเชียลว่า ได้ถูกผู้บังคับบัญชาแจ้งให้แยกกลุ่มไลน์ ตามลักษณะชนชั้นและสถาบันการศึกษาที่จบมา
กลุ่มแรก สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือที่เรียกกันว่า นรต.
สำหรับพวกที่จบจากมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชากฎหมายหรือมีชั้นยศใด ให้แยกไปใช้ไลน์อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ให้ปะปนกัน!
ส่วนตำรวจ พวกที่ถูกเรียกกันอย่างเหยียดหยามว่า “ชั้นประทวน” ให้ใช้ไลน์อีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก
ปัญหาการแบ่งชนชั้นและสถาบันการศึกษาองค์กรตำรวจประเทศไทยในทุกระดับนั้น เกิดขึ้นมานานมากแล้วและนับแต่จะรุนแรงสร้างปัญหาแตกความสามัคคีในทุกหน่วยทำลายขวัญและกำลังใจของตำรวจส่วนใหญ่มากยิ่งขึ้นทุกวัน!
เป็นที่รู้กันดีว่า สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจคุณวุฒิปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต (ตร.) ซึ่งมีเหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศในโลกนั้น ถือเป็นตำรวจชั้นหนึ่ง!
ซึ่งตำรวจแห่งชาติ กำหนดคุณสมบัติเฉพาะทุกตำแหน่งแบบวิปริต ให้สามารถสั่งแต่งตั้งดำรงตำแหน่งได้ทุกหน่วยทุกสายงาน
ใครทำงานได้จะเกิดความเสียหายต่อราชการหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคำนึงถึงแต่อย่างใด!
แม้กระทั่งงานพิสูจน์หลักฐาน รวมทั้งพนักงานสอบสวนและการมีความเห็นทางกฎหมายคดีอาญา คดีแพ่งและวินัยในทุกระดับก็มีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเฉพาะทางนั้นกันมากมาย
การถูกปลูกฝังความคิดและอบรมบ่มเพาะให้รักพรรคพวกเฉพาะที่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องของตนคอยค้ำจุนและอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องแคร์ความรู้สึกของตำรวจกลุ่มใดที่ไม่ใช่พรรคพวกร่วมรุ่นหรือสถาบันของตน
ประกอบกับเมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้มี ผู้นำตำรวจชั่ว กลุ่มหนึ่ง สุมหัวกัน แก้ไขหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งจากเดิมที่กำหนดให้ พิจารณาตามอาวุโสการครองตำแหน่งเป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของตำรวจที่มีเส้นสายในระบบอุปถัมภ์
รวมไปถึงช่องโอกาสในการซื้อขายใช้ทรัพย์สินแลกเปลี่ยนสร้างความร่ำรวยให้กับตำรวจผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง
แก้ไขให้กลายเป็นคุณสมบัติข้อสุดท้าย!
จึงทำให้ในระยะหลัง กลุ่มตำรวจที่สำเร็จการศึกษาจาก รร.นรต.ผูกพันอยู่ในระบบอุปถัมภ์ทั้งรุ่นและสถาบัน มีความเจริญก้าวหน้าเหนือกว่าตำรวจผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะมีคุณวุฒิทางกฎหมายหรือสาขาใด หลายสิบเท่า!
หลังเป็นข่าวและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากตำรวจและประชาชนอย่างอื้ออึง จึงได้มีการอธิบายจากตำรวจคนหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่ามีตำแหน่งหน้าที่ใดในจังหวัดนั้นว่า เป็นการแบ่งกลุ่มไลน์เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการสื่อสารในการดูแลทุกข์สุขตำรวจแต่ละกลุ่มของ ผบก.?
การแบ่งกลุ่มเช่นนั้น ถ้ากระทำกันตามสายงาน เช่น ฝ่ายอำนวยการ งานป้องกันอาชญากรรม และงานสอบสวน หรือจราจร ก็ถือว่าถูกต้อง
เพราะจะได้เป็นช่องทางแจ้งข่าวหรือข้อมูลปัญหาต่างๆ ให้ตำรวจในสายงานนั้นได้รับรู้กันอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะมีชั้นยศหรือสำเร็จการศึกษาจากสถาบันใด
แต่การกำหนดให้พวกที่จบการศึกษาจาก นรต.ไม่ว่าตำแหน่งและสายงานใด และพวกที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอยู่ในไลน์คนละกลุ่ม ไม่ให้ปะปนกัน
นั่นส่อแสดงถึงพฤติกรรม บ้าสถาบัน!
เป็นการป้องกัน ความลับ และ ความชั่ว รั่วไหลไปสู่กลุ่มตำรวจที่ไม่ใช่รุ่นพี่รุ่นน้องของตน จะส่งผลให้สื่อและประชาชนได้รู้เรื่องราวเลวร้ายในวงการตำรวจอีกมากมายที่หลายคนไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยในชีวิต!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 11 ต.ค. 2564