แอมเนสตี้-ICJ ส่งข้อเสนอแนะถึงทางการไทย กังวลร่างพ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายไม่สอดคล้องสากล  

 

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 แอมเนสตี้ร่วมกับ ICJ ส่งข้อเสนอแนะถึงทางการไทยแสดงความกังวลต่อการแก้ไขและการตราพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายที่มีความล่าช้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการนำมาใช้ลงโทษอาชญากรและอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ย้ำรัฐสภาควรแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โดยไม่ชักช้าและกฎหมายดังกล่าวต้องสอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทยด้วย

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้ส่งข้อเสนอเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ และสำเนาถึงสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุทางหน่วยงานยินดียิ่งที่ได้ทราบว่าร่างพระราชบัญญัติ ฯ ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมได้รับการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอหลายประการตามข้อเสนอแนะที่ส่งไปก่อนหน้านี้ แต่ยังมีเนื้อหาสำคัญหลายประการที่ยังไม่ถูกแก้ไขและยังขัดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศอีกด้วย

 

โดยทางแอมเนสตี้และ ICJ ระบุว่า แม้ร่างพระราชบัญญัติ ฯ ดังกล่าวจะถูกปรับปรุงแก้ไขรวมถึงผ่านการรับฟังความเห็นอยู่หลายครั้ง แต่ปัญหาสำคัญหลายประการกลับยังมิได้ถูกแก้ไข แม้จะมีการทักท้วงโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญว่าหลักการดังกล่าวมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติ ฯ สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนั้น เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ ฯ ในปัจจุบันยังคงขัดแย้งกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามและให้คำมั่นว่าจะให้สัตยาบัน

 

เนื้อหาในจดหมายยังระบุอีกว่า ทั้งสององค์กรมีความกังวลต่อการแก้ไขและการตราร่างพระราชบัญญัติ ฯ ที่มีความล่าช้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการนำมาใช้ลงโทษอาชญากรและอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย จึงขอเน้นย้ำข้อเรียกร้องต่อสมาชิกรัฐสภาให้เร่งรัดการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ ฯ ให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยและผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวโดยไม่ล่าช้า

 

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้และ ICJ มีข้อกังวลหลักๆ ดังต่อไปนี้

 

นิยามของอาชญากรรมการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งคำศัพท์สำคัญอื่น ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์หรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

การขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินคดี

การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับการไม่รับฟังคำให้การหรือข้อมูลใดที่ได้มาจากการกระทำการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี

การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับรูปแบบความรับผิดบางประการสำหรับอาชญากรรมที่บัญญัติในร่างพระราชบัญญัติ ฯ

การขาดบทบัญญัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับหลักประกันเพื่อป้องกันการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และ

การขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะที่ต่อเนื่องของอาชญากรรมการกระทำให้บุคคลสูญหาย และอายุความของความผิดฐานกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

About The Author