เปิดตัวหนังสือ 12 ปี คดีซ้อมทรมานด้วยการคลุมถุงดำ’ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร’
เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ย. ๒๕๖๔ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยเรื่องราวรายละเอียดการซ้อมทรมานของตำรวจด้วยการคลุมถุงดำ เพื่อให้ผู้ต้องสงสัยหรือแพะรับสารภาพ ในหนังสือ “เมื่อผมถูกทรมาน จึงมาตามหาความยุติธรรม”
เนื้อหาในหนังสือบางตอนบอกเล่าว่า
“ตำรวจคนเดียวกันก็เอาถุงมาครอบหัวผม และรวบปากถุงไม่ให้มีอากาศหายใจ ผมหายใจไม่ออกจึงพยายามกัดถุงพลาสติกให้ขาด เขาจึงเอาถุงออกแล้วถามว่า ‘มึงจะรับสารภาพหรือยัง?’ ผมก็ปฏิเสธและบอกว่า ‘ไม่รู้เรื่อง’ ตำรวจคนนั้นก็นำถุงพลาสติกใบใหม่มาครอบหัวผมอีก ผมที่หายใจไม่ออกจึงต้องพยายามกัดถุงให้ขาดอีกครั้ง ตำรวจจึงโพล่งถามขึ้นมาอีกครั้งว่า ‘มึงจะรับสารภาพหรือยัง มึงบอกมาว่าเอาของกลางไปไว้ที่ไหน?’ เพื่อให้ผมรับสารภาพให้ได้ว่า ผมเป็นคนทำ แต่ผมก็ยังยืนยันตอบเขาไปว่า ‘ผมไม่รู้เรื่องอะไรเลย’
พอผมตอบแบบนั้น เขาก็เอาถุงพลาสติกอีกใบมาครอบหัวผมและถามแบบเดิมอีกครั้ง แต่คราวนี้นายตำรวจอีกคนก็ได้เข้ามาร่วมทำร้ายร่างกายผมด้วยการใช้เท้าเหยียบเข้าที่สีข้างและลำตัวของผม จากนั้นเขาก็ดึงกุญแจมือเพื่อให้ผมลุกขึ้นนั่ง ผมก็ได้พยายามกัดปากถุงจนขาดอีกครั้ง เขาก็เลยเอาถุงพลาสติกใบใหม่ครอบหัวผมอีก และถามคำถามเดิมซ้ำอีกครั้งและดาบตำรวจชายยังคงต่อยตีเข้าที่บริเวณศีรษะและทั่วลำตัวของผม จนผมรู้สึกเจ็บจนอ่วมและชาไปหมดทั้งตัว”
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เขียนไว้ในคำนำของหนังสือ ดังนี้ กระบวนการยุติธรรม คือ กระบวนการที่นำมาสู่การยุติ เพื่อความเป็นธรรมเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขแต่ในความเป็นจริง หลายกรณีเป็นเรื่องตรงกันข้ามเมื่อกระบวนการยุติธรรม กลับเป็นผู้สร้างความอยุติธรรม ทั้งนำความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนและสังคม
(สุรพงษ์ กองจันทึก กับ สมศักดิ์ ชื่นจิตร)
“ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร” เด็กหนุ่มชั้น ม. ๖ ที่เตรียมอนาคตเข้ามหาวิทยาลัย กลับกลายเป็น ”แพะ” ที่ตำรวจซ้อมทรมาน และยัดข้อหาวิ่งราวทรัพย์ผู้อื่น
คนบริสุทธิ์จะกลายเป็นอาชญากร
คนธรรมดา อย่าง “สมศักดิ์ ชื่นจิตร” ต้องลุกขึ้นมาปกป้องลูกชาย ต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ได้ความเป็นธรรมสู้กับระบบตำรวจที่ใช้การซ้อมทรมาน เพื่อให้ได้ “แพะ” และปิดคดีได้ผลงานสู้กับระบบอิทธิพลการเมืองท้องถิ่น ที่มีผลประโยชน์ เอื้อต่อกันโดยมิชอบและเผชิญกับระบบการตรวจสอบที่ไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐที่ไปร้องเรียนขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กองบังคับการปราบปราม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) อัยการจังหวัด และอีกกว่า 30 หน่วยงาน
ยิ่งต่อสู้ ยิ่งเห็นถึงความบกพร่องของระบบยุติธรรม
จนที่สุด ฤทธิรงค์ เหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน ที่กล้าออกมาพูดความจริง กลับถูกตำรวจที่ทำร้ายฟ้อง และศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกฤทธิรงค์ ๕ ปี และปรับ ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำคุกให้รอการลงโทษ ๒ ปี
แต่สมศักดิ์ไม่ถอย ไม่หยุด แม้ครอบครัวจะเผชิญกับความยากลำบาก และความสูญเสียจากการออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมด้วยการนำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลให้ความยุติธรรม และให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษตำรวจจะไปซ้อมทรมานใครอีกไม่ได้ เพราะเป็นความผิดแจ้งความเท็จและพยานเท็จเพื่อใส่ความผู้อื่นต้องไม่มีการกระทำอีกไม่ใช่การต่อสู้เพียงเพื่อลูกชายแต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้สังคมทั้งหมดดีขึ้น ให้กระบวนการยุติธรรม เป็นการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างแท้จริง
๑๒ ปีแห่งการต่อสู้ของสมศักดิ์ แม้ไม่ชนะทั้งหมด มีการสูญเสีย แต่ไม่ใช่การสูญเปล่ากลับเป็นจุดให้ต้องกลับมามองและเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจังต้องปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูประบบราชการทั้งต้องมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ออกมาบังคับใช้เพื่อป้องกัน ปราบปรามและเยียวยาการซ้อมทรมานและการอุ้มหายอย่างจริงจัง
เรื่องราวของ ฤทธิรงค์-สมศักดิ์ ชื่นจิตร แสดงถึงพลังของความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ยอมต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเองและสังคมเพื่อช่วยสร้างสรรค์สังคมให้สงบสุข ขอเพียงเชื่อมั่นใน “ความเป็นธรรม” ดังที่สมศักดิ์มีตลอดมา
ผู้สนใจหนังสือ “เมื่อผมถูกทรมาน…ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม” สามารถกรอกรายละเอียดเพื่อชำระเงินสั่งซื้อผ่านทาง https://forms.gle/zb9hXYPy2QrKo5GE6 ราคา เล่มละ 200 บาท