ระบบการสอบสวนคดีอาญาตามมาตรฐานสากล-ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง
ระบบการสอบสวนคดีอาญาตามมาตรฐานสากล
เอกสารศึกษาเปรียบเทียบ (Comparative Studies) เรื่อง ระบบการสอบสวนคดีอาญาตามมาตรฐานสากล ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police Watch ฉบับนี้ เป็นเอกสารที่ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี และผู้ก่อตั้งโครงการคืนความยุติธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ (Innocence Project Thailand) ซึ่งเป็นอัยการและนักวิชาการที่เห็นและตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศให้มีมาตรฐานสากล
ดร.น้ำแท้ เป็นผู้ศึกษาแนวคิด ปรัชญา และความเป็นมาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ก่อนที่จะมีการตรากฎหมาย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในปี 2477 ซึ่งก่อนนั้น การสอบสวนและลงโทษผู้กระทำผิดสมัยโบราณตั้งแต่ยุคกรีก โรมันที่กระทำแบบค้นหาความจริงจากตัวและคำรับของผู้ถูกกล่าวหาด้วยวิธีการทรมาณต่างๆ เช่นของไทยก็เรียกว่า “จารีตนครบาล” มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญเมื่อต่างชาติไม่ยอมรับวิธีการที่โหดร้ายป่าเถื่อน ไร้ความเป็นธรรม แม้กระทั่งผิดพลาด
และหลังจากไทยจำเป็นต้องมีการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตก ก็ถูกบังคับให้ต้องลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ทำให้ต้องยกเลิกการสอบสวนแบบจารีตนครบาล หันไปใช้วิธีการเป็นอารยะมากขึ้น โดยมีการบัญญัติกฎหมายที่มีหลักการ สร้างความเป็นธรรมให้สังคมอยู่หลายฉบับ และต่อมาได้นำหลักการสากล เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มาเป็นหลักยึดในการปฏิบัติด้วย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นระดับหนึ่ง ในทางปฏิบัติยังมีช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนได้มากมาย ทำให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือดร้อนจากการสอบสวนที่ไม่เป็นธรรม หรือแม้กระทั่งต้องรับโทษโดยไม่ได้กระทำผิด อาชญากรกลับลอยนวล
รายงานการศึกษาฉบับนี้ จึงมุ่งเน้นการหาทางออกของกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะในชั้นการสอบสวนของตำรวจที่เป็นจุดดับของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมาช้านาน ด้วยการศึกษาเปรียบเทียบระบบการสอบสวนคดีอาญาของไทยกับประเทศต่างๆ 6 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ที่กำหนดให้พนักงานอัยการมีบทบาทสำคัญเข้ามามีส่วนรู้เห็นพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนตั้งแต่เกิดเหตุ ทุกประเทศจะใช้ระยะเวลาไม่มากในการฟ้องคดีหลังจากการจับกุมและอัยการแจ้งข้อกล่าวหา อีกทั้งจำนวนคดีที่ได้รับการยกฟ้องก็ไม่มากเท่าประเทศไทย
เอกสารศึกษาเปรียบเทียบชุดนี้จึงมีคุณค่าแก่การอ่านและศึกษาของคนทั่วไป และบุคลากรทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งใช้ประกอบการศึกษาทางวิชาการกฎหมายได้เป็นอย่างดี (ดาวน์โหลดเอกสารได้ด้านล่างนี้)