รัฐบาล’เตะถ่วง’ปฏิรูปตำรวจ เปิดช่องตร.ชั่วใช้ถุงคลุมหัว’ฆ่าประชาชน’
รัฐบาล “เตะถ่วง” ปฏิรูปตำรวจ
เปิดช่อง ตร.ชั่ว ใช้ถุงคลุมหัว! “ฆ่าประชาชน”
เหตุการณ์ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์และลูกน้อง ใช้ถุงดำคลุมหัว ผู้ต้องหายาเสพติดจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต สร้างความตื่นตระหนกกับคนทั้งประเทศ และสะเทือนวงการสีกากีอย่างยิ่งอีกครั้ง
แต่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไรสำหรับคนที่อยู่ในวงการตำรวจ เพราะเหตการณ์ ตร.ใช้ถุงดำคลุ่มหัวทรมาณผู้ถูกต้องหามีมานานแล้ว ปกติจะทำกันเซฟเฮ้าส์หรือที่เรียกว่า “บ้านผีสิง” และห้องสืบสวนโรงพักใหญ่ๆ แทบทุกแห่ง
ในแทบทุกพื้นที่ยังมีตร.ที่ใช้พฤติกรรมแบบนี้อีกมากมาย โดยที่ทำสำเร็จแล้วไม่เป็นข่าว โดยเฉพาะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สถานบันเทิง แหล่งอบายมุขต่างๆถูกปิด ทำให้รายได้นอกระบบ ของตำรวจผู้ใหญ่ ลดลง ตำรวจผู้น้อยจึงหันมาใช้วิธีการจับผู้ต้องหายาเสพติดขู่กรรโชกรีดเอาทรัพย์แลกกับอิสรภาพมากขึ้น
การที่ตำรวจผู้ใหญ่นำ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ มาแถลงข่าวผ่านโทรศัพท์ ถือเป็นการเปิดทางให้มีการฟอกตัวเอง และ จัดฉากกอบกู้ภาพลักษณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ว่า ไม่ได้กระทำเพื่อเงิน ซ้ำยังเป็นการกระทำเพื่อชาติและประชาชนอีกด้วย!
ทำให้สังคมไทยเกิดข้อกังว่า สุดท้าย คดีนี้จะเป็น ”มวยล้มต้มคนดู” ผู้กระทำและผู้รับผิดชอบเกี่ยวข้องทุกคนจะถูกลงโทษตามข้อเท็จจริงของการกระทำผิดที่เกิดขึ้นหรือไม่?
เหตุที่ ตำรวจซึ่งถือว่าเป็นผู้รักษากฎหมายของชาติกล้าก่ออาชญากรรมต่อประชาชนอย่างโหดเหี้ยมขนาดนี้ สามารถกล่าวได้ว่า สาเหตุสำคัญเกิดจาก “อำนาจเป็นพิษ”
ทั้งกฎหมาย ป.วิ อาญา เกี่ยวกับการสอบสวนที่กำหนดให้ตำรวจเป็นผู้ผูกขาดอำนาจสอบสวนไว้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะ พรบ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2519 มาตรา15 ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมผู้ต้องหาได้ถึง 3 วัน โดยยังไม่ต้องส่งพนักงานสอบสวนภายใน 24 ชั่วโมงเช่นความผิดข้อหาอื่น ก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนขึ้นอย่างเลวร้ายมากมาย
พฤติกรรมการจับกุมในคดียาเสพติดของตร.กลุ่มนี้ทำผิดกฎหมายหลายประการ เช่นไม่มีการแจ้งข้อหาบันทึกการจับกุมผู้กระทำผิด และเมื่อผู้ต้องหาเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานก็ไม่แจ้งอัยการมาชั้นสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา ซ้ำกลับช่วยกันทำลายพยานหลักฐาน ไม่ต่างการกระทำของ “โจร” ไม่ใช่ตำรวจผู้รักษากฎหมายแต่อย่างใด
นอกจากนั้นตำรวจไทยยังมีอำนาจทั้งจับและสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเอง เป็นการผูกขาดงานสอบสวน โดยไร้การควบคุมตรวจสอบจากหน่วยงานอื่นอย่างสิ้นเชิงแม้กระทั่งพนักงานอัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดี
ทำให้ตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน สอบสวนทำให้ผิดเป็นถูก-ถูกเป็นผิด หรือ “เป่าคดี” กันอย่างไรก็ได้ สอบสวน ครบ 84 วัน ก็ส่งให้อัยการอ่านสำนวน หรือมีจำนวนไม่น้อยเป็น “นิยายสอบสวน” หลายคดีใช้วิธีส่งให้อัยการวันสุดท้ายของอำนาจควบคุม อัยการไม่มีเวลาดูสำนวนก็ต้อง “รีบสั่งฟ้อง” ไป ไม่มีเวลาพิจารณาว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาลงโทษผู้ต้องได้หรือไม่
ศาลอาญาก็พิจารณาคดีจากสำนวนและเอกสารต่างๆ ที่ตำรวจทำขึ้น ไม่มีโอกาสรับรู้พยานหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงแห่งคดีทั้งหมด ไม่ได้ลงมา “เดินเผชิญสืบ”หรือไต่สวนเหมือน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ผู้พิพากษาจะรับรู้หรือมีโอกาสเห็นข้อเท็จจริงมากกว่าที่อยู่ในกระดาษ
ทำให้สถิติการพิพากษาลงโทษคดีของประเทศไทยต่ำมากเพียงประมาณ 63 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยคนชั่วลอยนวลและ/หรือผู้บริสุทธิ์ตกเป็นแพะ ต่างจากประเทศที่มีการก้าวหน้าด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ศาลลงโทษถึง98-99% หมายความว่าคดีขึ้นสู่ศาลจะมีความชัดเจนตั้งแต่ชั้นการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว
งานสอบสวนคดีอาญาจึงเป็นหัวใจสำคัญของต้นทางกระบวนการยุติธรรม แต่พนักงานสอบสวน(พงส.)ของไทยยังอยู่ในระบบที่ล้าหลัง คือมีระบบการปกครองตามชั้นยศและวินัยแบบทหาร หากไม่ทำตามสั่งก็ถูกกลั่นแกล้งลงโทษได้สารพัด ทั้งกักยามและแม้กระทั่ง “กักขัง” เหมือนผู้กระทำผิดอาญา
ตร.ชั้นผู้ใหญ่จึงใช้งานสอบสวนเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการคุ้มครอง “ธุรกิจสีเทา” และสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อสามารถทำผิดก็ทำให้เป็นถูกได้ ตร.จึงกล้าลงทุนซื้อเก้าอี้หัวหน้าสถานีและระดับต่างๆ เพราะมั่นใจว่าเมื่อนั่งในตำแหน่งเหล่านี้ ก็จะสามารถใช้อำนาจสอบสวนถอนทุนคืนได้ไม่ยาก
สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ จึงเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปด้วยการแยกงานสอบสวนอิสระจากสตช. แต่หลังจากเลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ (พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ ) ไปยื่นหนังสือเรียกร้องที่ทำทำเนียบรัฐบาล เมื่อต้นปี 2559 แล้วพบศพผูกคอตายปริศนาที่บ้านพัก พงส.ก็ไม่เคลื่อนไหวอีก
หลังจากนั้น มีพนักงานสอบสวนฆ่าตัวตายนับสิบราย เนื่องจากมีความเครียดได้รับความกดดันจากการทำหน้าที่ แต่ผู้บังคับบัญชาไม่เคยยอมรับความจริง โยนว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
และเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2560 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ(คป.ตร.) ร่วมกับองค์กรประชาชนทั่วประเทศ 102 องค์กร ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้เร่งปฏิรูปตำรวจตามเสียงเรียกร้องของประชาชน โดยเรียกร้องให้นายกฯ ดำเนินการปฏิรูป 8 เรื่องดังนี้
1.เร่งโอนตำรวจ 11 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรมที่รับผิดชอบ เป็นการกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานที่จำเป็น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเฉพาะด้านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นภายในเวลา 2 ปี 2. แยกระบบงานสอบสวน ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 3. ให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่มีโทษจำคุกเกิน 5 ปี หรือคดีที่เห็นว่าจำเป็น 4. การสอบสวนต้องกระทำในห้องสอบสวนที่จัดเฉพาะ มีระบบบันทึกภาพ และเสียงอัตโนมัติเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้
5.ยุบกองบัญชาการทุกภาค เพื่อลดความซ้ำซ้อน และไม่จําเป็นในระบบการบังคับบัญชา 6. ปรับโครงสร้างตำรวจจังหวัด ตามคำสั่งของนายกฯ ที่ให้ตำรวจอยู่ประจำพื้นที่จังหวัด ตรวจสอบประเมินผลโดย คณะกรรมการจังหวัด และการบังคับบัญชาของผู้ว่าฯ 7. กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่ง และโยกย้ายตํารวจทุกระดับ ให้พิจารณาตามอาวุโสการครองตำแหน่ง เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง 8. การเปรียบเทียบปรับความผิดจราจร ซึ่งเป็นอำนาจตุลาการ ต้องกระทำโดยดุลยพินิจของศาล เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชน และยกเลิกรางวัลค่าปรับซึ่งไม่มีเหตุผล
การปฏิรูปตำรวจในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการหลายชุด แต่ไม่มีความคืบหน้า ล่าสุดคือร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ หลังจากเสนอเข้าครม.แล้ว แต่สำนักเลขาธิการครม.กลับส่งไปให้สตช.พิจารณาอีก ทั้งที่ผ่านการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรธน.มาตรา77แล้ว
ต่อมา ที่ประชุมครม.วันที่19 ม.ค.2564เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ตามที่สตช.เสนอแทนฉบับคณะกรรมการชุดนายมีชัย โดยตัดสาระสำคัญไปหลายประการ อาทิ ประเด็นการแยกงานสอบสวนให้มีสายการบังคับบัญชาและการสั่งคดีต่างหากจากงานตำรวจ ป้องกันมิให้ถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ เนื่องจากสามารถกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายพงส.ทีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายได้ง่าย ก็ถูกสตช.ตัดออกไปพร้อมกับวิธีประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยตำรวจโดยภาคประชาชนที่จะทำให้ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น
การแก้ไของค์ประกอบของ ก.ตร. มีสัดส่วนของตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในและนอกราชการถึง 9 คน จากคณะกรรมการรวม 18คนดังกล่าว จะส่งผลทำให้การออกกฎและระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจหลายเรื่องที่ถูกร่างฉบับของสตช.กำหนดให้กระทำโดยมติ ก.ตร. เช่น การกำหนดให้ตำรวจบางหน่วยไม่มียศ การโอนงานตำรวจเฉพาะทาง13 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรมที่รับผิดชอบ และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง
หลังจากร่างพรบ.ตำรวจฯเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 49 คน ล่าสุด นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ของรัฐสภา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ว่า การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ทันสมัยประชุมนี้ ซึ่งร่างกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณามาหลายคณะแล้ว ทั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จนปัจจุบันเป็นร่างผสมผสานระหว่างรัฐบาลกับสตช. จนกระทั่งส่งมาให้คณะกรรมาธิการพิจารณา ซึ่งหัวข้อแต่ละเรื่องมีข้อโต้แย้งเกือบทุกมาตรากว่าจะผ่านไปได้ จึงมีความล่าช้า คาดว่าถ้าเร่งพิจารณาจะดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ถึงปี โดยจะพยายามให้เร็ว
ส่วนกรณีมีจะมีการแปรญัตตินำเนื้อหาสาระของร่างพรบ.ตำรวจฯ ชุดอ.มีชัย ประกบเข้าไปในชั้นกมธ.ก็ไม่แน่ว่าจะทำได้หรือไม่
นอกจากนี้ยังมี ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ว่าด้วยการสอบสวน ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้นำเข้าเข้าสู่ที่ประชุมสภาอีกครั้ง ซึ่งถือว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับการสอบสวนที่ก้าวหน้ากว่าทุกฉบับ
โดยสาระสำคัญ คือ การตรวจค้น จับกุม สอบปากคำต้องบันทึกภาพเสียง อัยการมีอำนาจตรวจสอบคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุด
แต่ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจทั้ง 2 ฉบับ ก็ยังไม่คืบหน้า และยังมีความพยายามของตำรวจผู้ใหญ่ในการถ่วงเวลาหรือแปลงสาร หมกเม็ด เพื่อรักษาอำนาจของพวกตนไว้ให้นานที่สุดอีกด้วย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่ได้ใส่ใจการปฏิรูปตำรวจแต่อย่างใดและไร้ภาวะผู้นำ จึงไม่มีแนวทางการปฏิรูปที่ก้าวหน้า ปล่อยให้ผู้เกี่ยวข้องว่ากันไปแบบเลยตามเลย แล้วสุดท้ายก็ไม่สามารถปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
หากนายกรัฐมนตรี มีความสำนึกและตระหนักรู้ถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง การปฏิรูปตำรวจก็สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ทุกคนต้องเข้าใจว่า “การปฏิรูป” หรือ Reform คือ “การเปลี่ยนรูป” เปลี่ยนโครงสร้างใหม่ เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน วางกลไกป้องกันไม่ให้ตำรวจทำชั่วได้ง่ายๆ หรือทำผิดกฎหมายแล้วจะต้องถูกลงโทษ
หากรัฐบาลยังไม่เร่งปฏิรูปและยังมุ่งรักษาโครงสร้างที่เลวร้ายแบบเดิมไว้ ก็จะเป็นการเปิดช่องให้ตำรวจกล้าทำผิดกฎหมาย ก่ออาชญากรรมต่อประชาชน เช่น คดีผกก.โจ้ ได้อีกต่อไป ซึ่งผู้นำประเทศที่ ตระบัดสัตย์ไม่รักษาสัญญาประชาคมในการปฏิรูป ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย
ดังนั้น หากจะประณามแก๊งตำรวจที่ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ก็ต้องประณามผู้นำประเทศที่เพิกเฉยต่อการตรวจสอบควบคุมและการปฏิรูปตำรวจที่เป็นบ่อเกิดการก่ออาชญากรรมในองค์กรตำรวจ ที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างแสนสาหัสด้วยเช่นกัน