‘ลุงพล’กลายเป็นผู้ร้าย’เพราะนายพลตำรวจไม่รู้กฎหมาย’ อันตรายต่อความยุติธรรมและความมั่นคงของชาติ!
“ลุงพล”กลายเป็นผู้ร้าย“เพราะนายพลตำรวจไม่รู้กฎหมาย”อันตรายต่อความยุติธรรมและความมั่นคงของชาติ!
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่กลายพันธุ์ไปตลอดเวลา จนทำให้ วัคซีนที่รัฐจัดหามาจากประเทศจีนเกิดปัญหา ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ
หรือ แม้แต่จะหยุดยั้งความตายของประชาชนจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้!
ทำให้ผู้คนทุกชั้นชนพยายาม กระเสือกกระสนดิ้นรน หา วัคซีนที่มีคุณภาพดีกว่า ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถรับมือกับ เชื้อเดลตา และน่าจะครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ในเวลาอีกไม่นาน!
ปัญหา การฉีดวัคซีนคุณภาพดีซึ่งมีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันเรียงตามลำดับความสำคัญต่อระบบงานป้องกันโรค
ได้สะท้อน “พฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบ” และ “ความเหลื่อมล้ำ” ทางสังคมระหว่างคนรวยหรือมีอำนาจกับ “คนจน” หรือ “คนไร้เส้นสาย” ในประเทศไทยอย่างเลวร้ายที่ “ต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่”
ซึ่งไม่ต่างจากปัญหาความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายซึ่งได้ สร้างความคับแค้นใจ ให้กับประชาชนที่เป็นคนจนหรือไร้อำนาจในประเทศนี้มาอย่างยาวนานมากมาย
คนยากจนหรือไร้เส้นสายในประเทศไทยถูกตำรวจออก หมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือ เสนอศาลออกหมายจับ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 66 โดยเฉพาะ (1) กันแสนง่าย!
ไม่ว่า คดีจะมีพยานหลักฐานแน่ชัดสามารถเชื่อถือได้หรือไม่ ว่าเขาเป็นผู้กระทำผิดจริงตามที่มีการกล่าวหา?
เช่นในกรณีการออก หมายจับลุงพล “คนจนผู้ทระนง” แห่งบ้านกกกอก อ.ดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ดินแดนที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต!
ด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 3 ข้อหา
ข้อหาแรกคือมาตรา 317 “พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล” มีโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ข้อหาที่สองคือมาตรา 306 และ 308 “ทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกินเก้าปีไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแลและเป็นเหตุให้เด็กนั้นถึงแก่ความตาย” มีโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ส่วน ข้อหาที่สาม ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ทวิ คือ
“กระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป” มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี
ต่อข้อหาที่หนึ่ง ข้อความในกฎหมายแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า “ก่อนที่จะมีการทอดทิ้งเด็กดังกล่าว เด็กนั้นต้องมีผู้รับผิดชอบดูแลอยู่และผู้ดูแลได้ทอดทิ้งไป”
ตามกฎหมายผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กก็คือบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 หรือ 1598/2
แต่อาจมีผู้ดูแลเด็กตามข้อเท็จจริงก็ได้ ไม่ว่าจะโดย “สัญญา” เช่นสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือในความเป็นจริง เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองฝากหรือใช้ไหว้วานให้ดูแล
“ลุงพล” มีฐานะตามกฎหมายหรือในความเป็นจริงของการเป็นผู้ดูแลน้องชมพู่อย่างไร ตำรวจผู้รับผิดชอบการสอบสวนทุกระดับสามารถตอบได้หรือไม่?
ซึ่งถ้าหากตอบหรืออธิบายไม่ได้ ลุงพลก็ไม่มีความผิดและไม่ควรถูกออกหมายจับด้วยข้อหานี้แต่อย่างใด!
ส่วนในข้อหา “พรากเด็กฯ” ก็ไม่มีใครอธิบายได้ว่า ตำรวจมีพยานบุคคลหรือวัตถุพยานอะไรในการกล่าวหาและเสนอศาลออกหมายจับลุงพลด้วยข้อหานั้น
เพราะทั้งสองข้อหาคือ “ทอดทิ้ง” และ “พรากเด็ก” เป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว
หมายความว่าถ้าทอดทิ้งแล้วก็ไม่สามารถพรากได้ หรือถ้าหาก “พราก” ก็ย่อมไม่เป็นการทอดทิ้ง
เพราะ“ผู้พราก” ย่อมไม่มีหน้าที่ดูแลเด็กให้ปลอดภัยในชีวิตร่างกายอะไร?
ฉะนั้น การดำเนินคดีกับลุงพลด้วยสองข้อหานี้ จึงไม่มีความชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด!
ส่วนอีกข้อหาคือ มาตรา 150 ทวิ แห่ง ป.วิ อาญา หมวดที่ว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ
ซึ่งโดยเนื้อหาถือเป็นกฎหมายสารบัญญัติที่มีโทษอาญาจำคุกไม่เกินสองปีที่ แทรกอยู่ ในกฎหมายวิธีสบัญญัติหรือกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอาญา
จากถ้อยคำของกฎหมายตีความได้ว่า การกระทำใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมอันจะถือเป็นความผิดตามมาตรานี้
ต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังที่พบศพและได้เริ่มทำการชันสูตรพลิกศพแล้วเท่านั้น
แล้วต่อปัญหาการดำเนินคดีกับลุงพลข้อหานี้ ตำรวจมีพยานหลักฐานอะไรว่าเขาได้กระทำการใดในระหว่างที่พนักงานสอบสวนเริ่มชันสูตรพลิกศพไปจนกระทั่งเสร็จสิ้น อีกทั้งเป็นกรณีที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพนั้นหรือผลทางคดีเปลี่ยนไป
มีใครชี้แจงหรืออธิบายได้หรือไม่?
เพราะถ้าหากเขากระทำเช่นนั้นจริง ซึ่งถือเป็นความผิดซึ่งหน้า เหตุใดพนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานหลายฝ่ายซึ่งอยู่ในที่พบและกำลังชันสูตรศพอยู่มากมาย จึงไม่ได้จับกุมตัวในทันทีที่พบว่าเขากระทำ?
การอ้างว่ามี หลักฐานเด็ด ที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วย แสงซินโครตรอน สุดทันสมัยในเอเชีย ซึ่งน่าจะเป็นผมของน้องชมพู่ที่อ้างว่าถูกลุงพลแอบตัดเอาไปเพื่อทำพิธีตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ พบในรถส่วนตัวที่ใช้เป็นประจำนั้น
หากเป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้
เขาได้แอบตัดไปในขณะที่อยู่ระหว่างการชันสูตรพลิกศพ หรือวันเวลาใด?
ซึ่งถ้าเขาไม่ได้กระทำเช่นนั้นขณะชันสูตรพลิกศพรวมทั้งไม่อาจทำให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ ก็ไม่ได้มีความผิดตาม ป.วิ อาญา มาตรา 150 ทวิ นี้แต่อย่างใดเช่นกัน
ต่อ ความชุลมุนวุ่นวายของการสอบสวน คดีนี้ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานานนับปีจนกระทั่งตำรวจได้มีการเสนอศาลออกหมายจับมาถือไว้ และใช้ชุด คอมมานโด หรือ หน่วยกล้าตาย ถือหมาย ไปบุกบ้านลุงพลตอนเช้ามืดเพื่อจับตัว
แต่เมื่อลุงพลแว่วแต่หัวค่ำว่า ตนน่าจะถูกออกหมายจับจึงได้ พยายามดิ้นรนติดต่อขอมอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ต่อตำรวจผู้เป็นเจ้าพนักงานหลายระดับ
แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ! เขาจึงกลายเป็น ผู้ถูกจับโดยอ้างเป็นการจับตามหมาย ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ยอมให้ประกันตัว ซ้ำยังได้มีการคัดค้านประกันต่อศาล
ผลสุดท้ายของคดีนี้เมื่อ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ได้สรุปผลการสอบสวนเสนอให้อัยการสั่งฟ้องลุงพลทั้งสามข้อหาดังกล่าว
อัยการจังหวัดมุกดาหาร อ่านแล้ว จะ สั่งฟ้อง หรือไม่?
ก็ขึ้นอยู่กับว่า อัยการผู้รับผิดชอบคดีจะเป็นผู้ที่มีความสำนึกต่อความยุติธรรม และมีความรู้ความเข้าใจทางกฎหมายอย่างแท้จริงมากน้อยเพียงใด!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 16 ส.ค. 2564