ร้องศาลรธน.ยกเลิกระเบียบตร.บังคับให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือขัดรธน.

 

นายผดุงศักดิ์ เทียนไพโรจน์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมพิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เปิดเผยว่า สมาคมฯได้รับการร้องเรียนจากนางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร ที่ออกมาให้ข้อมูลคัดค้านการทำเหมืองแร่ แต่กลับถูกบริษัท ๙๙ ธุวานนท์ จำกัด ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาฯ ต่อสถานีตำรวจภูธรอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อนางสาวสมลักษณ์เข้าพบพนักงานสอบสวนฯตามหมายเรียก ได้ถูกทำการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อทำทะเบียนประวัติอาชญากร แม้นางสาวสมลักษณ์ จะปฏิเสธและไม่ยินยอม โดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒/๒๕๖๒

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒/๒๕๖๒ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ได้วินิจฉัยวางแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา กรณีบังคับให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ว่า การที่พนักงานสอบสวนจะบังคับให้บุคคลต้องพิมพ์ลายนิ้วมือของตนให้กับพนักงานสอบสวน เพียงเพราะถูกกล่าวหาในคดีอาญา ซึ่งพนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องคดี และศาลยังไม่พิพากษาลงโทษ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา และย่อมถือได้ว่าเป็นการบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

นายผดุงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ที่ผ่านมา ตนได้หนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลยกเลิกเพิกถอนประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๓๒ การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ.๒๕๕๔ อันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และเป็นการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเลขรับหนังสือไว้พิจารณาแล้ว

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ ระบุชัดเจนว่า ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด จะประพฤติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ดังนั้นผู้ต้องหาจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ได้รับความคุ้มครองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๔ ซึ่งกฎหมายอื่น ระเบียบ หรือการกระทำใดๆจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

“การที่พนักงานตำรวจบังคับให้พิมพ์ลายนิ้วมือ และนำเข้าสู่ระบบประวัติอาชญากรกับผู้บริสุทธิ์ ที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทำให้บุคคลนั้นเสียสิทธิในด้านต่างๆไปมาก แม้ข้อเท็จจริงได้มีการไม่สั่งฟ้องโดยตำรวจและอัยการ หรือพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าไม่เป็นผู้กระทำความผิด ก็ไม่มีการลบรายการและรายชื่อจากทะเบียนประวัติอาชญากร ดังนั้นตำรวจควรเก็บลายพิมพ์นิ้วมือเข้าสู่ทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น”นายสุรพงษ์ กล่าว

 

About The Author