ไวรัสโควิด-19 ระบาด เพราะ ‘งานรักษากฎหมายของชาติ’ล้มเหลว
ไวรัสโควิด-19 ระบาด เพราะ ‘งานรักษากฎหมายของชาติ’ล้มเหลว
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหาของชาติบ้านเมืองและประชาชนคนไทยในขณะนี้คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการ “เอาชีวิดรอด” และ “ไม่ป่วยไข้ปางตาย” จากเชื้อโรคร้ายไวรัสโควิดแบบชนิดที่เรียกว่า ลุ้นกันวันต่อวัน!
โดยมีรายได้จำนวนหนึ่งไปพร้อมกันเพื่อซื้อข้าวปลาอาหารให้ครอบครัวได้กินอิ่ม แม้ว่าจะไม่อร่อยลิ้นเท่าเดิมก็ตาม
ต่างจาก “คนที่เป็นข้าราชการ” ที่หลายหน่วยงานทุกระดับแม้ไม่ได้ไปทำงาน แต่ก็ได้รับเงินเดือนเท่าเดิมกันทุกระดับอย่างสบายใจทุกคน!
ส่วนประชาชนผู้ไร้อำนาจและยากจนส่วนใหญ่ของชาติล้วนตกอยู่ในความทุกข์ระทมและหวั่นไหว แต่ละคนไม่รู้ว่าจะหาเงินจากไหนมาใช้ในการซื้ออาหารและจ่ายค่าเช่าบ้านจากการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้
ทุกคนล้วนยินดี พร้อมให้ความร่วมมือ หยุดทำงานตามที่รัฐบาลประกาศมาตรการ “นั่งนอนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ด้วยกันทั้งสิ้น หากพวกเขามีเงินใช้ มีอาหาร ใส่ปากท้องเข้าไปในแต่ละวันเหมือนเศรษฐีหรือคนที่เป็นข้าราชการ
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เลวร้ายในครั้งนี้ ต้องยอมรับกันว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของตำรวจผู้ใหญ่ จากการ “ขายตำแหน่ง” และ “รับส่วยสินบน”
จนทำให้หลายคนร่ำรวยเป็นเศรษฐีในเวลาเพียงไม่กี่ปีที่อยู่ในตำแหน่ง ที่ล้วนแต่วิ่งเต้นแก่งแย่งกันมา!
เพื่อที่แต่ละคนจะได้มีโอกาส “นั่งทับอำนาจ” ปล่อยให้อาชญากรร้ายฝ่าฝืนกฎหมายของชาติบ้านเมือง แลกกับส่วยสินบนสารพัดเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ “นายพลตำรวจผู้รับผิดชอบยศใหญ่” ในแต่ละระดับทุกยุคสมัยได้แต่ “นั่งหลับตา”
ปล่อยให้ “ขบวนการค้าแรงงานเถื่อน” ขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทั้งสายพันธุ์ “อัลฟา” และ “เดลตา”
รวมทั้งการเปิดบ่อนพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมาย แหล่งอบายมุขเลวร้ายที่ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และเชื้อโรคต่างๆ ขึ้นในสังคมมากมาย!
ประกอบกับโครงสร้างและกลไกระบบราชการแบบเผด็จการที่ รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เข้มข้นขึ้นหลังการปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557
ได้ทำให้การสั่งราชการจากส่วนกลางแทบทุกเรื่องทุกปัญหา “แม้ว่าผู้มีอำนาจบางคนจะกระทำไปด้วยเจตนาดีและมีความบริสุทธิ์ใจ”
แต่ก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่จังหวัดและอำเภอแท้จริงแต่อย่างใด
ทุกจังหวัดและอำเภอในประเทศไทยถูก ทุกรัฐบาล ปล่อยให้อยู่ในสภาพ “ไร้เอกภาพการบังคับบัญชา” ต่อแทบทุกปัญหา
“ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอประเทศไทย” ไม่มีอำนาจสั่งราชการหน่วยงานใดหรือลงโทษทางวินัยข้าราชการผู้ทุจริตหรือบกพร่องต่อหน้าที่คนใดนอกสังกัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ได้
ในการแก้ปัญหาต่างๆ แม้กระทั่ง “งานรักษากฎหมาย” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานตำรวจ
คนที่เรียกกันว่าเป็น “เจ้าเมือง” จึงทำได้แต่ “วิงวอนขอร้อง” ให้ผู้บังคับการและหัวหน้าสถานี หรือหัวหน้าหน่วยงานนี้หน่วยนั้นช่วยกันทำงาน ช่วยกันแก้ปัญหาให้ประชาชน
ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ขึ้นอยู่กับความคิดและจิตสำนึกของหัวหน้าหน่วยงานนั้นว่าจะเห็นปัญหาและมีเจตนาต้องการขจัดความเดือดร้อนของประชาชนมากน้อยเพียงใด?
โครงสร้างระบบราชการที่ใหญ่โตโอ่อ่า การทำงานเต็มไปด้วยพิธีกรรมและพิธีการสารพัด ได้สร้างปัญหาและภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนคนไทยโดยไม่จำเป็นมากมาย
ความฟุ่มเฟือยและสูญเสียเหล่านี้ต้องได้รับ “การปฏิรูปครั้งใหญ่” โดยไม่มีการเกรงใจใครหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไป
หน่วยงานใดที่จัดตั้งขึ้นมาโดยไม่จำเป็น ไม่มีประโยชน์หรือคุณค่าอะไร ต้องถูกยุบเลิกไปให้หมด!
สำหรับองค์กรตำรวจก็เช่น กองบัญชาการตำรวจภาค และหน่วยงานฝ่ายอำนวยการที่ “ไร้สาระ” อีกมากมาย
หน่วยงานตำรวจที่ไม่จำเป็นต่อประชาชนเหล่านี้ หากยุบไปได้ นอกจากจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณแต่ละปีเป็นจำนวนมากมหาศาล “นับหมี่นล้านบาท” ในแต่ละปีแล้ว
ซ้ำยังจะทำให้การทำงานของตำรวจผู้น้อยในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับสถานีมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อปัญหาของทุกจังหวัดได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ซึ่งการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่เช่นนี้ไม่มีใครทราบว่าจะต้องรอหรือใช้เวลาอีกนานเท่าใด และจะทำให้ผู้คนต้องบาดเจ็บล้มตายไปอีกมากน้อยเท่าใด?
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้รัฐบาลและ ส.ส.ก็สามารถใช้วิธี “ปรับลดงบประมาณปี 2565” ของทุกหน่วยที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของสภาลงให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย
หากหัวหน้าหน่วยงานราชการคนใดบอกว่าจะเกิดปัญหาเกิดความเสียหาย
ก็ให้มาชี้แจงว่า “มีความจำเป็นอย่างไรในการจัดตั้งหน่วยงานและกำหนดตำแหน่งเหล่านี้” ไว้
และถ้าหากไม่มีจะเกิดความเสียหายต่อชาติ รวมทั้งประชาชนอย่างที่อ้างจริงหรือไม่ และมีรายละเอียดอย่างไร?.
ทีมา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 19 ก.ค. 2564