‘ซ่องโจรพลตำรวจเอก’ล้มคดีบอส นายกฯจะหมกปัญหาหรือทำความจริงให้ปรากฏ   

ยุติธรรมวิวัฒน์

“ซ่องโจรพลตำรวจเอก” ล้มคดีบอส นายกฯจะหมกปัญหาหรือทำความจริงให้ปรากฏ

 

                                                             พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  

 

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ระลอกสามหรืออาจเรียกว่ารอบสี่ที่สุดเลวร้ายของไทยซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจประกาศใช้มาตรการห้ามรวมกลุ่ม การประกอบธุรกิจบางชนิด รวมทั้งจำกัดการเดินทางและเวลาออกนอกบ้านของผู้คนในเมืองหลวงและจังหวัดที่มีปัญหาการแพร่ระบาดร้ายแรงเป็นเวลา๑๔ วัน

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนเกิดความเสียหายอย่างมากมาย  โดยทุกฝ่ายได้แต่หวังว่าเป็นการ“ยอมเจ็บเพื่อจบ”

แต่ครั้งนี้ รัฐบาลก็ยังรีรอไม่ได้มีการประกาศมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนอะไรให้กับประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจนแต่ละคนแทบสิ้นเนื้อประดาตัวแต่อย่างใด!

ซ้ำไม่มีใครแน่ใจว่าปัญหาจะจบลงกลายเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมได้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตกันเป็นปกติเช่นเดิมจริงหรือไม่?

เนื่องจากเชื้อร้ายที่กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ได้แพร่ระบาดไปมากมายหลายจังหวัดแทบจะทั่วประเทศแล้ว  หลังการติดเชื้อครั้งใหญ่จาก “สถานบันเทิงเถื่อน!” ในย่านทองหล่อ

สน.ที่ตำรวจผู้ใหญ่ถือกันว่าเป็น  “ทำเลทองของอาชีพตำรวจไทย”!

แต่ละปีจะมีลูกนายพลตำรวจคนนั้นลูกเขยคนนี้จองตำแหน่งหัวหน้าสถานีแย่งกันไปทำหน้าที่รักษากฎหมายในพื้นที่นี้มากมาย!

และหลังเป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายในช่วงกลางเดือนเมษายน ๒๕๖๔ผบก.ก็ได้มีคำสั่งให้ ผกก.สน. รวมทั้งตำรวจอีกห้าคนไปปฏิบัติราชการที่ บก.น ๕ชั่วคราวเป็นข่าวอื้อฉาวว่านายกฯ สั่งให้จัดการกับผู้รับผิดชอบทุกระดับอย่างจริงจังอยู่ระยะหนึ่ง

ซึ่งเมื่อเรื่องราวเงียบหายไป ในขณะนี้  ก็ได้มีคำสั่งให้ตำรวจกลุ่มนี้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา!

ก็ไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีจะรู้บ้างหรือไม่  และจะจัดการกับปัญหาตำรวจผู้ใหญ่เล่น “ลิงหลอกเจ้า” “หลอกประชาชน” กันตลอดมาเกี่ยวกับปัญหาแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายเช่นนี้อย่างไร?

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีข่าวว่า ปปช.ได้มีมติตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ขึ้นไต่สวนคดีแก๊งพลตำรวจเอก อัยการ นายพลทหารอากาศและทนายความ  รวม  ๑๕ คน ที่มีส่วนร่วมในขบวนการ“สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน”ส่งสำนวนให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีบอส

เป็นการตั้งคณะกรรมการไต่สวนตามรายงานของศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของข้าราชการและผู้สนับสนุนในการล้มคดีนี้ตามที่ได้มีคำสั่งตั้งขึ้นมาและตรวจพบหลักฐานการกระทำผิดอาญา

หลังจากปรากฏเป็นข่าวว่า  อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง  ประชาชนก็ส่งเสียงร้องกันระงมว่าเป็นไปได้อย่างไร?

หัวใจของปัญหาแท้จริงก็คือ  บอสเป็นทายาทเจ้าของธุรกิจกระทิงแดงผู้มีทรัพย์สินรวมกันมากเป็นอันดับสองของประเทศไทย!

ส่งผลทำให้การสอบสวนคดีที่แสนง่าย อยู่ในสภาพ“วกไปวนมา”

ตำรวจไทยใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานนานกว่า ๘ ปี  จนกระทั่งป่านนี้  คดีก็ยังไม่ถึงศาลแต่อย่างใด!

ในวันเกิดเหตุคดีนี้คือวันที่ ๓ ก.ย. ๒๕๕๕ก็ได้มีความพยายามของตำรวจผู้ใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงและทำลายพยานหลักฐานเกิดขึ้นเป็นที่รู้กันทันที!

ไม่ต่างจากคดีสำคัญแทบทุกคดีที่ผู้กระทำผิดเป็นญาติพี่น้องของคนมีอำนาจหรือมีทรัพย์สินมากเข้าขั้นเศรษฐีประเทศไทย!

เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ได้มีสารวัตรตำรวจพยายามสร้างหลักฐานเท็จว่าบอสไม่ได้เป็นคนขับ  ให้คนรับใช้ในบ้านออกมารับแทน  และต่อมาเวลาสายก็ได้มีนายพลตำรวจคนหนึ่งเดินทางมาถึงพูดจาเสียงดังเอะอะโวยวายว่า “ยอมไม่ได้!”

มีการเข้าไปพูดคุยเจรจากันในบ้านพักใหญ่  ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าได้มีการพูดจาตกลงกับใครอย่างไร  ทำให้ได้ตัวนายบอสออกมาเป็นผู้ต้องหาในที่สุด

แต่ทั้ง “พงส.ผู้รับผิดชอบ” และนายพลตำรวจหลายคนที่เป็น “พงส.ผู้ไม่รับผิดชอบ” ไม่มีใครสั่งให้ทดสอบความเมาของบอสทันทีหลังจากที่ได้ตัวมาแต่อย่างใด?

กลับไปทำกันตอนเย็น  และผลการสอบสวนกลายเป็นว่า“บอสเมาหลังขับ” ไม่ได้มีความผิดอะไร?

การขับรถชนคนตายแล้วไม่หยุดช่วยเหลือแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานทันที หรือที่เรียกกันว่า “ชนแล้วหนี”  ไม่ได้มีความหมายว่า คนขับรถที่ชนนั้นเป็นฝ่ายประมาทแน่นอน

พ.ร.บ.จราจรทางบกมาตรา ๗๘ วรรคสอง เพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนเท่านั้น

ผู้ต้องหาจะกลับกลายเป็นผู้มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่า ตนไม่ได้ประมาท

ส่วนความผิดข้อหาหลบหนีหากมีคนตาย  ก็มีโทษอีกส่วนหนึ่งคือจำคุกถึงหกเดือนตามมาตรา ๑๖๐ วรรคสอง

เมื่อการสอบสวนปรากฎว่าบอสไม่ได้เมาแล้วขับ  หลักฐานที่จะยืนยันความประมาทได้ก็คือ  การขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดคือเกิน๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงสำหรับเขตชุมชน

ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ความเร็วโดย พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น  นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ คำนวณได้ถึง ๑๗๗  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ถือว่าประมาทแน่นอน

แม้จะได้สอบปากคำพยานบุคคลที่มีเงื่อนงำไว้หลายปากว่า เห็นบอสขับรถเร็วเพียง ๕๐ – ๖๐ กม.ต่อชั่วโมงเท่านั้น!และ ด.ต.วิเชียรฯ ได้ขับรถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางจากช่องซ้ายไปขวากระทัน  และเป็นเหตุทำให้รถชนกัน โดยได้มีการแจ้งข้อหากับ ด.ต.วิเชียรฯ ว่า ขับรถประมาทเป็นเหตุให้โดนรถอื่นเสียหาย  เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจร แล้วก็ตาม

แต่การจะเสนอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องบอสทั้งที่ปรากฎหลักฐานเกินกำหนดเช่นนั้น ก็กระทำได้ยาก

หนทางสุดท้ายมีทางเดียวก็คือ  ต้องเปลี่ยนหลักฐานวิทยาศาสตร์คือความเร็วรถบอสจาก ๑๗๗  เป็นไม่เกิน ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงให้ได้!

แผนการชั่วร้ายนี้ได้รับความร่วมมือจากแก๊งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.ที่แต่งตั้งโดยหัวหน้า คสช. ที่ทำหน้าที่เป็น กมธ.ด้านการยุติธรรมจำนวนหนึ่ง

ซึ่งประกอบด้วยตำรวจยศพลตำรวจเอกทั้งที่เกษียณแล้วและยังรับราชการอยู่หลายคนในนั้น

ได้มีการเรียกผู้ชำนาญผู้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาให้ข้อมูลว่าจริงหรือไม่ และสรุปว่าน่าจะไม่ใช่

เป็นสารตั้งต้นส่งให้อัยการดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม

อัยการผู้รับผิดชอบส่งต่อไปให้ตำรวจสอบปากคำอาจารย์คนนั้นพร้อมกับ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ฯ  นักวิทยาศาสตร์ผู้รับผิดชอบในการออกรายงานเพิ่มเติม

ใช้สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นสถานที่ดำเนินการทำลายพยานหลักฐาน

มีพลตำรวจเอกคนหนึ่ง “ตามงาน” ไปเป็นผู้พูดจาหว่านล้อมและเกลี้ยกล่อมตั้งแต่บ่ายถึงดึก จน พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ฯ เกิดความงุนงงและชักไม่แน่ใจรายงานเรื่องความเร็วของตน

พลันที่หลุดปากไปว่าไม่แน่ใจและอาจเป็นได้ว่าเรื่องการคำนวณที่ได้ ๗๙.๒๓ กม.ต่อชั่วโมง

ตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนที่รออยู่  ก็ได้รับคำสั่งให้บันทึกปากคำเช่นนั้นไว้และรีบส่งให้อัยการสั่งคดีทันที

ยังโชคดีที่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ฯ ได้บันทึกเสียงการสนทนาปรากฏเป็นหลักฐานสำคัญในการก่อ”อาชญากรรมที่สุดเลวร้าย” ในเรื่องนี้เอาไว้!

ฉะนั้น  เมื่อการสอบสวนปรากฏว่า ขณะขับรถบอสไม่ได้เมาสุราหรือยาเสพติดชนิดใด  และใช้ความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด

สอดคล้องกับปากคำพยานของบุคคลคือพลอากาศโทคนหนึ่ง  รวมทั้งนายจารุชาติ  มาดทอง ที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาไปก่อนจะมีสื่อค่ายใดได้พบตัวว่าเห็นเหตุการณ์และเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?

การสั่งคดีไม่ฟ้องของอัยการเนตร  นาคสุข  จึงถือว่าถูกต้องตามกฎหมายและสอดคล้องกับพยานหลักฐานทุกประการ

ขบวนการซ่องโจรล้มคดีบอส” นี้  ในความเป็นจริงมีผู้ร่วมกระทำ ผู้สนับสนุนและรู้เห็นเป็นใจมากกว่า ๑๕ คนแน่นอน!

แต่ได้มีความพยายามในการ“ตัดตอน” ตำรวจผู้ใหญ่ทั้งผู้รู้เห็นร่วมขบวนการและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหลายคนออกไป!

ไม่ว่าจะเป็นระดับ ตร.ผบช.น.และรองฯ ผู้รับผิดชอบการสอบสวนทุกยุคสมัย ในช่วงตั้งแต่เกิดเหตุคดีนี้  รวมทั้งระหว่างที่ความผิดง่ายๆ ได้ถูกทำให้อยู่ในสภาพ“สอบสวนวกไปวนมา” ยื้อกันไว้เป็นเวลานานกว่า ๘ ปี!

ไม่มีใครต้องรับผิดทางอาญาหรือแม้กระทั่งทางวินัยแม้แต่คนเดียวเลยหรืออย่างไร?

ซ่องโจรพลตำรวจเอก
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 12 ก.ค. 2564

About The Author