‘ลุงพล’คนจนผู้เป็นเหยื่อ’กระบวนการอยุติธรรม’   

ยุติธรรมวิวัฒน์

“ลุงพล” คนจนผู้เป็นเหยื่อ“กระบวนการอยุติธรรม”

 

                                         พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

คดีน้องชมพู่กับลุงพล  ที่หลายคนบอกว่าเบื่อต่อการติดตามข่าวหรือให้ความสนใจ  เพราะจนกระทั่งป่านนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติอะไรที่สามารถเชื่อถือได้เสียที

แต่ยังมีคนที่ “เบื่อกว่า” แต่ไม่ได้พูดออกมาให้ผู้คนรับรู้ก็คือตัวลุงพลหรือนายไชย์พล วิภารวมทั้ง “ป้าแต๋น”ผู้เป็นภรรยานั่นเอง!

เพราะตั้งแต่เกิดเหตุน้องชมพู่ตายเขาก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยและเป้าหมายลำดับแรกของตำรวจในการสืบหาคนร้ายซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า“ในความเป็นจริงจะมีหรือไม่?”

ถูกนำตัวไปเข้าเครื่องจับเท็จ สอบปากคำซ้ำซากและตรวจสอบการใช้โทรศัพท์มือถือสารพัด

บ้านพักอาศัยที่ไม่มีแม้แต่ข้างฝาก็ถูกตำรวจพากันเดินเข้าตรวจค้นโดยที่คนเป็นเจ้าของบ้านไม่ได้รับรู้หรือยินยอมอะไร!

ทำให้ทั้งลุงพลและป้าแต๋นเกิดความรู้สึกหวั่นไหวไม่เป็นอันหลับอันนอน  เนื่องจากไม่แน่ใจว่า จะมีใครคิดบ้าๆ นำยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายอะไรมาโยนใส่บ้านของตนและแจ้งให้ตำรวจเข้าตรวจค้นในตอนเช้าบ้างหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการสืบหาตัวคนร้าย  “ลุงพล” ได้กลายเป็นคนที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจอย่างมากมาย

ด้วยความที่เป็นคนรูปร่างหน้าตาดีมีการพูดจาแบบบ้านๆรวมทั้งการมีบุคลิกภาพเข้าตานักปั้นดาราและนักร้องหลายคน

ส่งผลทำให้ทั้งลุงพลและป้าแต๋นโด่งดัง มีคนนำมาเป็นจุดขายทั้งในการร้องเพลงและแสดงหนัง   มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

จึงทำให้บางคนทั้งในและนอกหมู่บ้านเกิดความรู้สึกหมั่นใส้  ตามประสานิสัยและความคิดของคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ชอบเห็นใครดีกว่าตน!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ลุงพลเป็นแค่เขยคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนกกกอก

แค่มีคนออกเงินต่อเติมบ้านใหม่ให้มีฝาและใส่เสื้อผ้าแต่งตัวใหม่ให้น่าดูกว่าเดิม  ก็ถูกบางคนมองว่า ฉวยโอกาสหารายได้จากความตายของน้องชมพู่  มีฐานะรวยขึ้นอย่างผิดหูผิดตา!

 หลังการสืบสอบอย่างงุนงงของตำรวจสารพัดหน่วยในคดีนี้ผ่านไปกว่าหนึ่งปี  โดยมีคดีเรื่องตัดต้นกระถินรุกป่าสร้างพญานาคแถมเข้ามาพร้อมกันไป!

ในที่สุด  ความสงสัยของผู้คนทั้งประเทศว่า น้องชมพู่ถูกฆ่า หรือมีใครพาไปปล่อยทิ้งไว้บนภูหินเหล็กไฟตามที่ตำรวจผู้ใหญ่ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า “น้องเดินไปตามลำพังไม่ได้”

ก็ถูกคลายข้อสงสัยด้วยการที่ศาลออกหมายจับลุงพลคนจนผู้ทระนงแห่งบ้านกกกอก”  ต.กกตูม  อ.ดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

แต่เมื่อพิจารณากลับเป็นเพียงข้อหา “พรากเด็กไปจากบิดามารดา”และที่เกี่ยวข้องอีกสองมาตราโดยไม่มีใครอธิบายว่า มีพยานหลักฐานที่แน่ชัดอะไรในการกล่าวหาว่า “พราก”กระทำเวลาใด ที่ใด และอย่างไร มีใครรู้เห็นเป็นพยานชัดเจนหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม นั่นคือการสรุปว่า  ลุงพลไม่ได้“ฆ่า” หลานชมพู่อย่างแน่นอน!

ตำรวจหน่วยกล้าตายในชุดหุ้มเกราะนำหมายจับนี้ไปถือไว้ ข่าวกระจายรู้ถึงหูสื่อมวลชนว่าจะบุกเข้าตรวจค้นบ้านเพื่อจับตัวให้ได้ในตอนเช้า

ในขณะที่ลุงพลเองกลับไม่รู้แน่ชัดว่าตนถูกศาลออกหมายจับแล้วหรือไม่ ข้อหาใด?  ได้แต่คาดเดาเอาเมื่อพบว่าสื่อหลายช่องมารุมล้อมเตรียมตั้งกล้องอยู่หน้าบ้านตั้งแต่หัวค่ำ!

จึงพยายามดิ้นรนติดต่อขอมอบตัวต่อเจ้าพนักงานรัฐเพื่อแสดงเจตนาว่าไม่ได้หลบหนีไปไหน

แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปพบกับใครในอำเภอและจังหวัด?

แม้แต่นายอำเภอและผู้ว่าฯ และ “สารพัดศูนย์ความยุติธรรม” ทั่วไทย ก็ไม่มีใครช่วยอะไรได้!

มีคนบอกให้เดินทางเข้ากรุงเทพไปตำรวจแห่งชาติแต่เช้าหมายเข้าพบ ผบ.ตร. เพื่อขอมอบตัว

แต่ก็ต้องผิดหวัง  เพราะไม่มีตำรวจคนใดยอมรับแต่อย่างใด!

มีตำรวจผู้ใหญ่หลายคนพูดแบบโง่ๆ ว่า  ถ้าศาลออกหมายจับใคร  คนนั้นไม่สามารถใช้วิธีมอบตัวได้ มีแต่ต้องจับอย่างเดียวเท่านั้น!

ในการจับดังกล่าว แม้ “ไม่มีใครแสดงหมายให้เขาได้ตรวจดู”  แต่ก็มีการใช้กำลังเข้าล๊อคตัวในห้องโถงอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ใส่กุญแจมืออย่างแน่นหนาพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ทันสมัยนำไปคุมตัวไว้ในห้องขังโรงพักกกตูม

รอเวลาฝากขังต่อศาล ตามด้วยการค้านประกันแบบมั่วๆ ของตำรวจตามที่ “ผู้บังคับบัญชาผู้ไม่รู้กฎหมาย” สั่งด้วยปากกันไว้โดยอ้างว่าหากปล่อยตัวชั่วคราวไป อาจหลบหนี!

มีคนตั้งคำถามว่า  เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ลุงพลได้พยายามออกนอกประเทศหรือไปอยู่เขตแดนลึกลับจังหวัดไหน พร้อมไปพบตำรวจทุกเวลาที่เรียกหรือแม้แต่โทรบอกทำไมรัฐต้องออกหมายจับเขาด้วย!

ตำรวจออกหมายเรียกไม่ได้หรืออย่างไร?

คำอธิบายที่ไม่ต้องใช้ความคิดและสมองอะไรของตำรวจผู้ใหญ่รวมทั้งนักกฎหมายหลายคนก็คือ

การออกหมายจับกรณีนี้สามารถทำได้  เป็นไปตามที่ ป.วิ อาญา บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๖ เรื่องเหตุในการออกหมายจับคือ

(๑) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงสามปี  หรือ

(๒) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี  หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน  หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

คงไม่มีใครโต้แย้งว่า  คดีนี้อัตราโทษไม่เข้าตาม (๑) ซึ่งศาลสามารถออกหมายจับตามที่ตำรวจเสนอได้โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนอย่างที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด

รวมทั้ง ตำรวจก็ไม่จำเป็นต้องทำรายงานประกอบแบบมั่วๆเพื่อให้ศาลมั่นใจว่า ผู้ต้องหาน่าจะมีพฤติการณ์หลบหนีอย่างที่นิยมทำกันในปัจจุบันด้วย

ส่วนเรื่องจะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่  ไม่ได้มีการวินิจฉัยในประเด็นนี้ตามที่มีการร้องขอให้ไต่สวนแต่อย่างใด!

แต่ปัญหาก็คือ  จำเป็นหรือไม่ที่รัฐต้องออกหมายจับบุคคลผู้ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีหรือมีการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน  ซ้ำยังพร้อมมอบตัวเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดอยู่ตลอดเวลา

กฎหมายที่ล้าหลังมาตรา ๖๖ (๑) นี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นในปัจจุบันหรืออนาคต?

 ถ้าผู้ถูกกล่าวหาไม่ว่าจะมีโทษสูงเท่าใดไม่ได้หลบหนี หรือมีพฤติการณ์ไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือการก่อเหตุร้ายต่อผู้เสียหายหรือสังคมลักษณะใด

รัฐจะออกหมายจับบุคคลนั้นให้เขาเกิดความอับอายและประชาชนเข้าใจผิดว่า “เป็นอาชญากรร้ายล่วงหน้า” ก่อนศาลมีคำพิพากษากันเพื่ออะไร?

และหากในที่สุด อัยการได้สั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้อง  ใครคือผู้ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ศาลออกหมายจับกันง่ายๆ เช่นหลายคดีที่เกิดขึ้นไปแล้วมากมาย!

สังคมไทยต้องยึดหลัก Presumption of Innocence  คือ“ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์” ตามหลักกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ให้มั่นคง

เนื่องจากในคดีอาญา  ไม่มีใครแน่ใจว่า  ในที่สุดรัฐจะสามารถพิสูจน์ความผิดให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษบุคคลนั้นได้จริงหรือไม่?

ยิ่งประเทศไทย  การออกหมายจับไม่ได้ผ่านการตรวจพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการก่อนต่างไปจากประเทศที่เจริญทั่วโลก

โอกาสที่อัยการจะสั่งไม่ฟ้องหรือศาลจะพิพากษายกฟ้องนั้นสูงมากประมาณกันว่ามีกว่าร้อยละ ๔๐ สำหรับคดีที่จำเลยปฏิเสธ!

ต่างกับนานาอารยประเทศที่หากอัยการสั่งฟ้องคดีใด

นั่นหมายถึงว่า  ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยคนนั้นมีโอกาสที่จะถูกศาลพิพากษาลงโทษเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

เป็นกระบวนการยุติธรรมสากลเชื่อถือได้

ไม่ใช่ “ความอยุติธรรม” เช่นที่กระทำกันอย่างล้าหลังโดยมี “คนยากจน” ตกเป็นเหยื่อกันมากมายในปัจจุบัน

ลุงพล-ไชย์พล วิภา

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 21 มิ.ย. 2564

About The Author