สป.ยธ.ยัน’ลุงพล’มีสิทธิร้องกมธ.ยุติธรรม สภาเพื่อตรวจสอบผู้รับผิดชอบทำผิดหรือไม่
เมื่อวันที่13 มิ.ย.2564 สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) แถลงการณ์ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบการสอบสวนคดีการกล่าวหานายไชย์พล วิภา “พราก” น้องชมพู่ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายว่า ได้มีการปฏิบัติมิชอบในการ “รายงานเท็จต่อศาล” เพื่อให้ออกหมายจับ และ “จับกุมโดยไม่แสดงหมาย” “ใส่กุญแจมือโดยไม่จำเป็น” รวมทั้ง “ค้านประกันโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย” หรือไม่ มีเนื้อหาดังนี้
กรณี ด.ญ. อรวรรณ วงศ์ศรีชา หรือน้องชมพู่ หายไปจากบ้านพักในหมู่บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ และมีผู้พบนอนถอดเสื้อผ้าเสียชีวิตอยู่บนภูหินเหล็กไฟในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ห่างจากบ้านพัก ประมาณ ๕ กม. โดยเมื่อแรกพบศพ ตำรวจผู้ใหญ่ได้สันนิษฐานว่า น่าจะถูกล่วงละเมิด มีผู้กระทำให้ตาย นำไปสู่การดำเนินคดี “ฆ่าผู้อื่น” โดยปราศจากพยานหลักฐานที่แน่ชัดทันที
แต่เมื่อผลการตรวจชันสูตรศพของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานีรายงานว่า “ไม่พบบาดแผลหรือ ร่องรอยการถูกทำร้ายหรือทำให้ตาย” แต่อย่างใด ส่วนสาเหตุน่าจะเกิดจากการขาดน้ำ ซึ่งเมื่อยังไม่มีพยานหลักฐานว่าใคร เป็นผู้กระทำให้ตาย ตำรวจก็ควรดำเนินการสอบสวนเป็น “สำนวนชันสูตรพลิกศพ” ส่งพนักงานอัยการให้ยื่นคำร้องต่อศาล ไต่สวนหาสาเหตุและพฤติการณ์แห่งการตายที่แน่ชัดต่อไป
แต่การสอบสวนกลับนำไปสู่การเสนอศาลจังหวัดมุกดาหารออกหมายจับตัวนายไชย์พล ในข้อหา “พรากเด็กไปจาก บิดามารดาหรือผู้ปกครอง” โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้นำตัวน้องชมพู่ไปปล่อยทิ้งไว้จนถึงแก่ความตาย นายไชย์พลฯ ยืนยันว่าตนไม่ได้รับ ความยุติธรรม เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้กระทำตามที่ตำรวจกล่าวหารวมทั้งผู้รับผิดชอบก็ไม่ได้ชี้แจงว่า มีพยานหลักฐานชัดเจนอะไรที่สามารถเชื่อถือได้ในการกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ “พราก” น้องชมพู่ ไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองนำไปปล่อยทิ้งไว้ในป่าละเมาะตอนเช้า และช่วงบ่ายได้กลับมาเดินนำตัวน้องที่พึ่งฟื้นจากสลบไปปล่อยทิ้งไว้บนยอดเขาจนขาดน้ำตาย ซึ่งถ้ามีหลักฐานที่ชัดเจนเช่นนั้น เหตุใดจึงไม่แจ้ง “ข้อหาฆ่าผู้อื่น” ให้ตรงกับข้อเท็จจริงที่กล่าวหา?
นอกจากนั้น ในการไปเสนอศาลออกหมายจับ ก็ได้มีการรายงานเท็จต่อศาล ว่านายไชย์พลมีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งๆ ที่เขาแสดงเจตนาพร้อมมอบตัวเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามที่ถูกกล่าวหาตลอดเวลาเป็นที่รู้กันทั่วไป และเมื่อพยายามเดินทางไป มอบตัวกับ ผบ.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่มีผู้ใดยอมรับ อ้างกันแต่ว่าเมื่อมีหมายจับแล้ว ต้องเป็นการจับกุมตัวอย่างเดียว และมีการใช้กำลังเข้าจับกุมโดยไม่ได้แสดงหมาย และใส่กุญแจมือทั้งที่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี รวมทั้งคัดค้านการประกันตัวโดยไม่มีเหตุผลตามกฎหมาย ซึ่งทั้งสามกรณีถือเป็นการปฏิบัติที่มิชอบ ขอให้คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและ สิทธิมนุษยชนตรวจสอบดำเนินการตามหน้าที่
แต่กรณีการยื่นหนังสือร้องเรียนดังกล่าว กลับถูกตั้งคำถามจากบุคคลหลายฝ่ายว่า สามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่ง สป.ยธ. ขอยืนยันดังนี้
๑. ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของตำรวจไม่ว่าจะเป็นในขั้นการจับกุมหรือสอบสวน มีสิทธิยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ สภาฯ ให้ตรวจสอบการปฏิบัติในทุกขั้นตอนได้แน่นอน
๒. เมื่อกรรมาธิการฯ ได้รับคำร้องแล้วก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเรื่องที่ร้องเรียนอยู่ในอำนาจหน้าที่และมีมูลเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบในเรื่องใดหรือไม่
๓. ในการตรวจสอบ กรรมาธิการก็มีอำนาจเชิญ หรือออกหนังสือเรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ตัวนายไชย์พลฯ เองในฐานะผู้ร้อง รวมทั้ง ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าหน่วยตำรวจและพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมาชี้แจง การปฏิบัติในทุกประเด็นที่ร้องเรียนกล่าวหา
๔. หากฟังคำชี้แจงทุกฝ่ายแล้วเห็นว่าการปฏิบัติในทุกขั้นตอนได้กระทำโดยชอบก็ต้องมีมติให้ยุติเรื่อง แล้วทำ หนังสือแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเหตุผลให้ผู้ร้องเรียนทราบ และแจ้งว่าหากไม่เห็นด้วย ก็ขอให้ไปใช้สิทธิตามกฎหมาย ในการดำเนินคดีอาญาและแพ่งกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
๕. หากเห็นเป็นการกระทำที่มิชอบ ก็แจ้งให้ ผบ.ตร. ดำเนินคดีอาญาและวินัยตำรวจผู้เกี่ยวข้องทุกคน พร้อมทั้ง แจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องทราบ
๖. นอกจากนั้น จากปัญหาดังกล่าว คณะกรรมาธิการควรเสนอนายกรัฐมนตรีให้ปรับปรุงและปฏิรูประบบงานสอบสวนดังนี้
๖.๑ กำชับ ผบ.ตร. ควบคุมการแจ้งข้อหาของพนักงานสอบสวนให้ตรงกับข้อเท็จจริงที่กล่าวหา
๖.๒ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ตำรวจก็ไม่มีความจำเป็นต้องเสนอศาลออกหมายจับซึ่งทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างไม่เป็นธรรม สามารถออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อหา และต้องปล่อยตัวไประหว่างดำเนินคดีทันที
๖.๓ กรณีที่ประชาชนคนใดรู้ว่าตนอาจถูกออกหมายจับ ก็สามารถไป “แสดงเจตนามอบตัว” กับตำรวจ หรือ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดอำเภอ นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกพื้นที่ได้ โดยเจ้าพนักงานผู้นั้นมีหน้าที่บันทึกหลักฐานการแสดงเจตนามอบตัวนั้นไว้ และแจ้งให้หัวหน้า สถานีตำรวจที่เสนอศาลออกหมายจับทราบเพื่อเดินทางมารับตัวไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
๖.๔ ให้สั่งกำชับเรื่องการใช้เครื่องพันธนาการทุกประเภทกับผู้ต้องหาทุกคนและทุกกรณี “ต้องกระทำ เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกจับหลบหนี” เท่านั้น
สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.)
๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔