การไม่ลงโทษ’ตำรวจชั่ว’ คือการ ‘ทำร้ายจิตใจตำรวจดี’

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                   การไม่ลงโทษ ตำรวจชั่ว  คือการ ทำร้ายจิตใจตำรวจดี

 

                                                                                          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

                ขณะนี้ไม่มีใครคาดหมายได้ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทยในรอบที่สาม จะดำเนินไปอีกนานแค่ไหน?

สุดท้ายจะจบหรือสงบลงไปตามธรรมชาติหรือจากการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ในการต่อสู้เอาชนะของมนุษยชาติรูปแบบใด?

จะสร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งมีผู้คนต้องติดเชื้อถึงขั้นป่วยหนักหรือเสียชีวิตอีกมากน้อยเพียงใด?

แม้การก่อตัวครั้งแรกของเชื้อร้ายจะหาสาเหตุและต้นตอที่แน่ชัดว่ามาจากประเทศใดไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การป้องกันเพื่อไม่ให้เชื้อเข้ามาในไทย  ถือว่าอยู่ในวิสัยที่รัฐจะสามารถจัดการหรือควบคุมด้วยมาตรการต่างๆ ได้

หากกลไกทุกส่วนได้ทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง

แต่สิ่งที่ประชาชนทั้งประเทศเสียใจและเสียความรู้สึกมากที่สุดก็คือ การแพร่ระบาดทุกครั้งกลับเกิดจากพฤติกรรมและการกระทำของเจ้าพนักงานรัฐที่เป็นตำรวจและทหารชั้นผู้ใหญ่เสียเอง

ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกในกรณี พลตรีทหาร จัดให้มีการแข่งขันชกมวยโดย ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี โดยมี อภิสิทธิ์ชน ผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเล็ดลอดเข้าไปร่วมชมเชียร์

และครั้งที่สอง จาก ขบวนการค้ามนุษย์ขนคนต่างด้าวชาวเมียนมาหนีเข้าเมือง ที่ จ่ายส่วยให้ตำรวจสารพัดหน่วย เป็นใบเบิกทาง

ผ่าน ด่านตรวจของตำรวจตามถนน มากมายจากชายแดนทิศตะวันตกของประเทศไปจนถึงจังหวัดสมุทรสาคร

ส่วนครั้งที่สาม ก็มาจาก บ่อนการพนันผิดกฎหมายขนาดใหญ่หลายแห่ง ในจังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด ที่เปิดเล่นกันมานานหลายปี!

โดยเป็นที่รู้กันว่า บ่อนพนันเหล่านี้มีตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในระดับภาคและส่วนกลางคอยให้ความคุ้มครองอยู่ตลอดมา!

แม้ว่ากรมการปกครองจะเคยส่งชุดปฏิบัติการไปจับกุมบ่อนใหญ่ในหลายจังหวัดทั่วไทยรวมทั้งในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด

ก็ไม่ได้ทำให้การเปิดบ่อนพนันในจุดอื่นๆ รวมทั้ง หัวหน้าตำรวจผู้รับผิดชอบทุกระดับ เกิดความเกรงกลัวจนต้องสั่งให้หยุดหรือปิดกิจการลงแต่อย่างใด

ถือหลักว่า กรมการปกครองมีปัญญาเดินทางไปจับ ก็จับไป เดี๋ยวเปิดใหม่ได้!               

เพราะปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทยได้กลายเป็นหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดตาม พ.ร.บ.การพนันที่ตนเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หรือแม้กระทั่งตาม ป.วิ อาญา!

ที่จะทำให้สามารถสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานสืบสาวให้ไปถึงนายบ่อนที่แท้จริง รวมทั้งตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับที่นั่งคอย รับส่วยสินบน ทั้งภูมิภาคและส่วนกลางได้

สำหรับการแพร่ระบาดจาก สถานบริการเถื่อน ย่านทองหล่อ ซึ่ง น่าจะถือเป็นครั้งที่สี่ ที่มีข่าวว่ามีนักการเมืองและตำรวจติดตามเข้าไปใช้บริการมากมาย

โดยได้สร้างความเสียหายให้แก่ชาติและประชาชนอย่างร้ายแรงยิ่ง จนหลายคนอาจต้องตัดสินใจฆ่าตัวตาย  หรือไม่ก็กลายเป็นคนล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัวเลยทีเดียว!

ปัญหาตำรวจผู้ใหญ่ปล่อยหรือ รู้เห็นเป็นใจ ให้มีแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นบ่อนการพนันหรือสถานบริการในพื้นที่รับผิดชอบจนฝ่ายปกครองต้องเข้าจับกุมแทน

รวมทั้งเกิดปัญหาอาชญากรรมฆ่ากันตาย หรือเรื่องราวที่ทำให้มีการสืบสาวไปถึงแหล่งอบายมุขโดย นักสืบสาธารณสุข ทุกครั้ง

ก็จะตามมาด้วยการที่ผู้บัญชาการหรือผู้บังคับการออกคำสั่งให้ตำรวจผู้รับผิดชอบระดับสถานีไปช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการอยู่ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ซึ่งตำรวจผู้ใหญ่ไม่ว่าจะในตำรวจแห่งชาติรวมไปถึง นายกรัฐมนตรี ก็มักชี้แจงต่อสื่อว่านั่นคือ การดำเนินการทางปกครองในเบื้องต้น และจะตามมาด้วยการดำเนินคดีอาญาและลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาดและจริงจังเป็นขั้นตอนต่อไป

ได้มีการออกคำสั่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขึ้นมากมาย หลายร้อยคณะ!

แต่แท้จริงหาใช่กระบวนการทางกฎหมายในการดำเนินคดีอาญาและวินัยทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรงแต่อย่างใด

ซ้ำกลับกลายเป็น พฤติกรรมการประวิงการสอบสวน! เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมคือ การตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ได้เริ่มทำงานอีกด้วย

โดยจะเห็นได้ว่า ผลสุดท้ายไม่เคยมีกรณีใดที่นำไปสู่การ “ดำเนินคดีอาญา” หรือแม้แต่ “ลงโทษทางวินัยร้ายแรง ตำรวจผู้รับผิดชอบระดับใดได้เลยแม้แต่คนเดียว!

ตำรวจส่วย ทุกระดับจึงไม่เคยกลัวคำสั่งให้ไปช่วยหรือปฏิบัติราชการ หรือที่สื่อเรียกกันว่า ถูกเด้ง

เพราะทุกคนรู้ดีว่าแท้จริงคือ “พฤติกรรมการคุ้มครอง” “เล่นละคร” ของตำรวจผู้ใหญ่ที่มีส่วนร่วมใน “ขบวนการตำรวจส่วย” รูปแบบหนึ่งเท่านั้น

การไม่ลงโทษคนชั่ว คือการทำร้ายจิตใจคนดี

สังคมใดที่รัฐบาลปล่อยให้ คนดีถูกลงโทษ และ  คนชั่ว กลับ ได้รับรางวัล

สังคมนั้นจะมีแต่ความเสื่อมทรุด และอาจถึงขั้น ล่มสลาย ลงในที่สุด!

การไม่ลงโทษ ตำรวจชั่ว

 ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 19 เม.ย. 2564

                                               

About The Author