‘ซ่องโจร’ล้มคดี’บอส’โจรทุกคนยังลอยนวล-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
“ซ่องโจร” ล้มคดีบอส โจรทุกคนยังลอยนวล
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยที่ใกล้ถึงวันระเบิดอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึก อึดอัดมากที่สุด หาใช่เพียงเรื่องเศรษฐกิจแต่อย่างใดไม่
แต่พวกเขาโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวต้องการให้มีการ ปฏิรูปโครงสร้างสังคมครั้งใหญ่ เพื่อให้เกิด ความเป็นธรรม ต่อประชาชนทุกชั้นชนในทุกๆ ด้านต่างหาก
ซึ่งจะกระทำได้อย่างแท้จริงก็ด้วยการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความเป็นประชาธิปไตย โดยตัวแทนประชาชน จากทุกจังหวัดในรูปของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เท่านั้น
การ เล่นเกมซื้อเวลาของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. หรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ส.ส.พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล
ได้ส่งผลให้ผู้คน สุดเบื่อหน่าย และ ไม่ได้คิดหวังอะไร จากฝ่ายผู้ถืออำนาจรัฐอีกต่อไป
สถานการณ์จึงอยู่ในขั้นเลวร้ายและ พัฒนาไปใกล้ถึงจุดเดือด ขึ้นทุกวัน!
ทุกคนต้องยอมรับกันว่า ปัจจุบันความเชื่อมั่นของผู้คนต่อรัฐในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมอาญาในทุกขั้นตอน ได้เกิดความสั่นคลอนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้กระทั่งชั้นศาล!
ไม่ต้องพูดถึงในชั้นการสอบสวน ตำรวจไทยยังสามารถ ยัดข้อหา ประชาชนได้แสนง่าย ซึ่งรวมไปถึง การล้มคดี ต่างๆ สารพัดอีกด้วย
อย่างกรณี น้องหมิว “สิริลภัส” ดาราสาว เข้าห้องน้ำปั๊มน้ำมันแล้วถูกตำรวจนายหนึ่ง ขับรถราชการตำรวจแห่งชาติ ตามแอบส่อง หรือที่เรียกกันว่าเป็นพวก ถ้ำมอง
เธอไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ สน.พหลโยธิน จนเวลาผ่านมา กว่า 20 วัน
การดำเนินคดีก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร จนต้องใช้วิธีโพสต์ในเฟซบุ๊กทวงถามและประจานการทำงานของตำรวจผู้รับผิดชอบแทน
ส่งผลทำให้ในวันรุ่งขึ้น ตำรวจสืบรู้ตัวคนร้ายที่ เป็นตำรวจด้วยกัน ทันที!
แต่การสอบสวนจนกระทั่งป่านนี้ก็ยังไม่มีการสรุปว่า พฤติกรรมของตำรวจคนดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 388 กระทำการอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล หรือกระทำการลามก หรือไม่?
ตำรวจกลับใช้วิธีปล่อยให้หญิงสาวผู้เสียหายไปเผชิญหน้ากับผู้ถูกกล่าวหาและเจรจาทำความเข้าใจกันเอง!
ด้วยหลักคิดของตำรวจว่า ถ้าตกลงกันได้และขอโทษขอโพยกันไปจนน้องหมิวไม่ติดใจให้ดำเนินคดี ตามที่ตำรวจคนนั้นบอกว่า ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย และเกิดปวดท้องอย่างกะทันหันโดยไม่ทันได้ดูว่าเป็นห้องน้ำชายหรือหญิง!
ซึ่งหากน้องหมิวเชื่อว่าสิ่งที่ตำรวจคนนี้พูดเป็นความจริง!
พนักงานสอบสวนก็อาจลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานอีกครั้งว่า ปัญหาเกิดความเข้าใจผิด น้องหมิวคิดมากไปเอง!
ไม่ต้องมีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอะไรส่งให้พนักงานอัยการตรวจสอบและสั่งคดี ไม่ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เหมือนอีกหลายกรณีมากมาย
เนื่องจากในการลงบันทึกประจำวันครั้งแรกที่น้องหมิวไปแจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็ ไม่ได้ออกเลขคดีอาญา บันทึกเข้าสารบบราชการไว้เหมือน อีกหลายพันหลายหมื่นคดี ในประเทศไทยแต่อย่างใด
การล้มคดีอาญาสารพัดของตำรวจไทยจึงทำได้แสนง่าย เนื่องจากไม่มีใครแม้กระทั่งอัยการสามารถตรวจสอบพยานหลักฐานในการแจ้งความร้องทุกข์ของประชาชนที่ไม่ได้มีการ บันทึกเลขคดี ไว้นั่นเอง!
หรืออย่างคดีบอสขับรถชนตำรวจตายแล้วหลบหนี เหตุเกิดแต่ช่วงปลายปี 2556
ผ่าน ผบ.ตร.หลายคนมาหลายยุคหลายสมัย แต่จนป่านนี้คดีก็ยังดำเนินไปไม่ถึงไหน อัยการนำตัวบอสมาฟ้องศาลไม่ได้
เพราะตำรวจไม่ได้สืบสวนรายงานให้ชัดเจนและเป็นปัจจุบันว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน อัยการจะได้ทำหนังสือถึงประเทศนั้นขอให้จับตัวส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดี
ตำรวจทุกคนที่รับผิดชอบหรือเกี่ยวข้องกับการสอบสวนความผิดเรื่องนี้ ทั้งในฐานะที่เป็น “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ”
รวมทั้ง “พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ” ไม่ว่าจะเป็นระดับ บก. บช. และ ตร.
โดยเฉพาะ พวกนายพลตำรวจระดับต่างๆ ที่สั่งการโขมงโฉงเฉงในระยะแรกให้สอบสวนหรือจัดการอย่างนั้นอย่างนี้ โดยไม่มีหลักฐานการสั่งอะไรให้ปรากฏในสำนวน ตั้งแต่ปี 2556 จนกระทั่งปัจจุบัน
ก็ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดีอาญาและลงโทษทางวินัยไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง ละเว้นหรือบกพร่องต่อหน้าที่ ในกรณีที่ไม่จัดการหรือสั่งการ ให้มีการตรวจความเมาหลังเกิดเหตุทันที ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีอย่างร้ายแรงตามมา
เพราะกลายเป็นว่า บอสไม่ได้เมาขณะขับ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่?
รวมทั้งในกรณีที่มี การสอบสวนทำลายพยานหลักฐาน ด้วยการ เปลี่ยนความเร็ว ของรถบอส จาก 177 เป็น 79.23 กม./ชม. ด้วย
ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือสั่งการตามรายงานพร้อมพยานหลักฐานการกระทำผิดที่ อ.วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการสอบสวน ได้รับจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ นักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน
คือ เทปบันทึกเสียงการสนทนาของผู้บังคับบัญชาและผู้เกี่ยวข้องที่ปรึกษากันเรื่องการเปลี่ยนความเร็ว ขอให้คำนวณตามสูตรใหม่
โดยพลตำรวจเอกที่เกษียณราชการไปแล้วคนหนึ่ง แนะนำให้ใช้คำพูดว่าเป็น “การคำนวณทดแทน”
นายกฯ ส่งพยานหลักฐานพร้อมสั่งการให้ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอ.ตช. ดำเนินการ แจ้งให้ทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาและวินัยราชการกับผู้กระทำผิดทุกคนโดยเร็ว
แต่จนกระทั่งป่านนี้ ทั้งคดีอาญาและวินัย ก็ยังดำเนินไปไม่ถึงไหน?
ประชาชนไม่ได้ยินว่ามีใครถูกตำรวจ ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือว่าได้ เสนอศาลออกหมายจับ ด้วยข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และช่วยผู้กระทำผิดไม่ให้ได้รับโทษอาญา มาตรา 200 โทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึง 7 ปี
รวมทั้งข้อหา ซ่องโจร ซึ่งเป็น ความผิดอาญาแผ่นดิน ตาม มาตรา 210 ต่อบุคคลที่เป็นตัวการและผู้สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องใน ห้องเปลี่ยนความเร็ว สำนักงานพิสูจน์หลักฐานวันนั้นทุกคน
เนื่องจากเป็นพฤติการณ์ สมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในภาค 2 และมีโทษจำคุกหนึ่งปีขึ้นไป มีโทษจำคุกถึงห้าปี
แต่เหตุใด จนกระทั่งป่านนี้ ผบ.ตร. จึงยังไม่ได้มีการสั่งหรือควบคุมให้ผู้รับผิดชอบ ดำเนินคดีอาญาข้อหาดังกล่าว กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเร็ว
ขอเรียนว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรติดตามการดำเนินการต่างๆ ในเรื่องนี้ที่ท่านได้เคยสั่งการไป และตอบชี้แจงให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศทราบด้วย.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 29 มี.ค. 2564