‘ครอบครัวนีละไพจิตร-ญาติวีรชนฯ-แอมเนสตี้’บุกดีเอสไอทวงถาม’17 ปีทนายสมชาย’โดนอุ้มหาย
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 12 มี.ค.2564ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ นางอังคณา นีละไพจิตร ครอบครัวทนายสมชาย นีละไพจิตร นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมญาติผู้สูญหายในประเทศไทย รวมทั้ง นักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำนวน 20 คน ยื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีดีเอสไอเพื่อทวงถามความคืบหน้าคดีและร่วมรำลึก 17 ปี การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร โดยสวมหน้ากากทนายสมชาย อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้เวลาผ่านไปนานถึง 17 ปีเราก็ยังไม่ลืม และได้ปล่อยรถตุ๊กตุ๊กจำนวน 17 คัน ที่ติดป้ายตามหาทนายสมชาย เพื่อให้วิ่งรณรงค์ไปทั่วกรุงเทพและพื้นใกล้เคียง
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเวลา 17 ปีแล้วที่ครอบครัวทนายสมชาย ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่ทราบชะตากรรม และไม่มีแม้กระทั่งหลุมศพให้รำลึกถึง แอมเนสตี้ยังคงเน้นย้ำว่าการค้นหาความจริงและความยุติธรรมกรณีการถูกบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย ถือเป็นบททดสอบสำคัญในแง่ของการเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งการให้การเยียวยาและการชดเชยเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความจริงใจหรือความสามารถของทางการไทยในการแก้ปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย
“แอมเนสตี้ยังคงเรียกร้องทางการไทยให้สืบสวนสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระ เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมายผ่านการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตลอดจนให้ความช่วยเหลือและเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับสูญหายอย่างมีประสิทธิภาพ” นางปิยนุช กล่าว
นางปิยนุช กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องทางการไทยให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ … ที่มีเนื้อหารัดกุมและสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศด้วย
“และขอเรียกร้องทางการไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับและพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อป้องกันการอุ้มหายอย่างมีมาตรฐานในอนาคต” นางปิยนุช กล่าว
ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดทำแคมเปญตามหาทนายสมชาย นีละไพจิตร เพื่อเน้นย้ำให้สังคมไม่ลืมการอุ้มหายที่เกิดขึ้นและกระตุ้นทางการไทยตามหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ โดยได้ปล่อยรถตุ๊กตุ๊กที่ติดป้ายรณรงค์ “ทนายสมชายอยู่ไหน?” จำนวน 17 คัน และชิญชวนประชาชนถ่ายรูปรถตุ๊กตุ๊กพร้อมป้ายดังกล่าวและโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ติด #ทนายสมชายอยู่ไหน? #17ปีไร้ความยุติธรรม #17ปีทนายสมชาย โดยการรณรงค์จะมีไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้
ด้านนางอังคณา กล่าวว่า เวลาผ่านไป 17 ปีแล้วกับการหายตัวไปของ นายสมชาย นีละไพจิตร แต่จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถหาตัวคนผิดมาลงโทษได้ ขณะที่ตำรวจระบุว่าได้พยายามทำงานเพื่อติดตามคดี แต่ส่วนตัวก็มองว่าไม่มีอะไรคืบหน้า ซึ่งคดีการหายตัวไปถือว่าเป็นการถูกบังคับให้สูญหาย และเป็นคดีแรกที่ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมจนถึงชั้นฎีกา แม้สุดท้ายศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด
“ส่วนตัวเห็นว่าคดีบุคคลถูกบังคับให้สูญหายไม่มีความคืบหน้า แต่ก็ขอบคุณดีเอสไอที่ยืนยันว่าจะยังคงทำคดีอย่างต่อเนื่อง แต่หลักสำคัญที่จะบ่งบอกถึงความจริงใจว่ายังมีความพยายามแก้ปัญหาการบังคับบุคคลสูญหาย คือบทบาทของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งไม่เคยแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้”
นางอังคณา กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ลงนามอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ เข้าสภาตั้งแต่ปี 2555 แต่จนถึงขณะนี้เกือบ 10 ปี รัฐบาลไม่เคยพูดถึง และแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย แต่คณะกรรมการชุดนี้กลับพยายามลบชื่อผู้สูญหายในไทยออกจากรายชื่อของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ มากกว่าการเปิดเผยที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย หรือนำคนผิดมาลงโทษ และชดใช้เยียวยาเหยื่อและครอบครัว จึงไม่แปลกใจที่ไม่เคยได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ เอ่ยชื่อผู้สูญหายในประเทศไทย
นางอังคนา กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องทางการไทยให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ….เพื่อสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศไทย ป้องกันการอุ้มหายอย่างมีมาตรฐานในอนาคต
ขณะที่ น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองที่ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา เปิดเผยว่า นานกว่า 9 เดือนแล้วที่นายวันเฉลิม หายตัวไป และล่าสุดก็ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับคดี ทั้งจากทางการไทย และประเทศกัมพูชา แม้ว่าการสืบสวนคดีในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีในการสืบสวนสอบสวนที่ดี แตกต่างจากเมื่อ 17 ปีก่อน รวมถึงมีพยานหลักฐานต่างๆ เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ดำเนินการอะไร ซึ่งตนเองวางแผนไว้ว่าหากครบกำหนด 1 ปีของการสูญหาย ตนเองจะเดินทางไปยื่นหนังสือให้องค์กรต่างประเทศในทวีปยุโรป เพื่อเรียกร้องให้เรื่องดังกล่าวมีความคืบหน้า
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอติดตามคดีคนสูญหายมาโดยตลอดและทุ่มเทการทำงานตั้งแต่ตนเองมารับตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งการสูญหายเป็นระยะเวลานานก็มีผลทำให้พยานหลักฐานสำคัญสูญหาย ซึ่งก็มีผลต่อรูปคดี แต่อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอก็จะพยายามติดตามและหาหลักฐานประกอบคดีให้ถึงที่สุด เพื่อจะได้กระจ่าง เพราะเป็นห่วงความรู้สึกครอบครัวของผู้สูญเสีย