‘วิชา’เผยนายกฯไม่กลับมติครม.แต่รับปากปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ตำรวจให้รอบคอบ

 

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 1 ต.ค. 263  นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และคณะกรรมการฯ ได้เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อนำผลสรุปแนวทางปฏิรูปกฎหมายในระบบกระบวนการยุติธรรม เสนอนายกฯ โดยใช้เวลาหารือประมาณ 45 นาที

 

จากนั้นเวลา 15.30 น. นายวิชา ให้สัมภาษณ์ว่า  ในวันนี้นายกฯ ได้เชิญมาพบ เพราะคณะกรรมการได้ทำงานตามกำหนดระยะเวลาที่เสร็จสิ้นในวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาเกี่ยวกับคดีนายวรยุทธ  อยู่วิทยา หรือบอส ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้การพบกับนายกฯ เป็นไปได้ด้วยดี โดยนายกฯ รับฟังความคิดเห็นทั้งหมดของคณะกรรมการ แต่ได้ตั้งข้อสังเกตเล็กน้อย คือ ร่างพระราชบัญญัติ ตำรวจแห่งชาติพ.ศ. … โดยนายกฯ อธิบายให้ฟังว่าทำไมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งครม. ก็ได้ส่งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณา โดยเฉพาะตำรวจ ก็ปรากฏว่าหายไปเป็นเดือนแล้วจึงกลับมา ก่อนจะได้รับการแก้ไขอย่างที่เราทราบดีอยู่

 

“คณะกรรมการได้ชี้แจงให้นายกฯ ฟัง ในประเด็นสำคัญที่เราไม่อยากให้เปลี่ยน เรื่องแรกคือ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือระบบอาวุโสกับความรู้ความสามารถ และเรื่องที่สองคือสายสอบสวนต้องเป็นสายที่มีความรู้ความชำนาญ เป็นอิสระ และได้รับค่าตอบแทนที่เป็นพิเศษ นายกฯ บอกว่า สำหรับการสอบสวนที่จะต้องเป็นแท่ง และอิสระ ก็ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้องแต่ระบบการแต่งตั้งของตำรวจ เนื่องจากว่ามีขบวนการมานานแล้ว ที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักอาวุโส ที่เห็นๆ กันอยู่ว่ามีการแต่งตั้งข้ามหัวกันไปเยอะแยะ ฉะนั้น อาจจะต้องมีการใช้บทเฉพาะกาลอะไรไว้ให้ เพื่อให้ปรับตอนเข้าระบบการเปลี่ยนผ่าน เพราะถ้าหากใช้ทันที ก็จะเกิดข้อร้องเรียนเยอะแยะ ว่าสายทั่วไปแต่ระบบอาวุโสจริงหรือไม่  ถือว่าเป็นข้อที่น่าสังเกตก็แล้วกัน”

 

เมื่อถามว่า ข้อเสนอที่จะให้นายกฯ กลับมติครม. ที่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ไปแล้วนั้น จะทำได้หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ปรากฏว่าเราทราบมาอย่างชัดเจนแล้วว่ายังไม่เรียบร้อย เพราะนายกฯ ได้ส่งเรื่องนี้ไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาถึงเรื่องเงินเพราะเป็นกฎหมายใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้าย ดังนั้นจึงยังมีเวลาไปปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะนำเข้าสู่สภา

เมื่อถามย้ำว่า จะมีการแก้ไขมติครม. หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า “ท่านรับเรื่องไปแล้วกันท่านบอกว่าท่านขอรับไปและไปดูให้รอบคอบ ตามที่เราให้ข้อสังเกตไว้ โดยเรายืนยันว่าอย่างไรก็ตามสองหลักนี้ ต้องให้ปรากฏอยู่ในตัวกฎหมาย ซึ่งอาจจะมีเรื่องอื่นๆ ที่ตำรวจขอปรับแก้ ที่เรียกว่าแปลงสารอะไรทำนองนี้ แต่เราเห็นว่าไม่สำคัญเท่าสองหลักนี้”

 

นายวิชา กล่าวด้วย ว่า นอกจากร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ….แล้ว ได้พูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาและข้อเสนอแนะปรับปรุงกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งนายกฯได้รับเรื่องไว้ทั้งหมดว่าจะไปดูเพื่อแก้ไขให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการเสนอโดยเฉพาะการแก้ไขร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยคณะกรรมการขอให้แก้ไขด่วน ในมาตรา 145/1 ที่ทางคสช.แก้ไขอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยได้ตัดอำนาจของผู้ว่าฯ ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งกันกับตำรวจ ซึ่งกลายเป็นว่าตำรวจมีอำนาจครอบคลุมทั้งหมด

 

“ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ขอให้กลับไปเหมือนเดิม คือให้ทางผู้ว่าฯ สามารถโต้แย้งทางตำรวจได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายปกครองมีความไม่พอใจมาโดยตลอด และเขาเห็นว่าเป็นอำนาจเพียงน้อยนิดเท่านั้น ที่เขาจะท้วงติงแทนราษฎร ซึ่งในประเด็นดังกล่าวได้มีการยกตัวอย่างคดีในอดีตหลายคดี แต่ตอนนี้ ไม่มีอำนาจที่จะไปโต้แย้งอะไรได้แล้ว”

 

นายวิชา กล่าวต่อว่า ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนิติวิทยาศาสตร์นั้น การแก้ไขร่างพ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่ทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเสนอมาทางคณะกรรมการฯได้สนับสนุนประเด็นนี้ให้รีบออกมาโดยเร็ว และให้แก้ไขพ.ร.บ.บริการนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้สามารถใช้งานได้แม้ว่าทางฝ่ายตำรวจตรวจสอบและมีความเห็นแล้วยุติแล้วโดยตำรวจ แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความฝ่ายอื่นเขาไม่พอใจก็สามารถจะใช้บริการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมได้ เพื่อให้อำนาจคานกัน ดังนั้นต่อไปนี้สามารถใช้บริการได้ทั้งนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจ และนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม

 

“ที่สำคัญไปกว่านั้นนายกฯเห็นด้วยที่คณะกรรมการฯเสนอว่าสมควรเปลี่ยนระบบกระบวนการยุติธรรม จากระบบกล่าวหา เป็นระบบไต่สวนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปสู่การค้นคว้าและการที่จะถกเถียงกันต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเปลี่ยนโครงร่างของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเลยทีเดียว ซึ่งคณะกรรมการฯได้เสนอไป และนายกฯก็ได้รับแล้ว” นายวิชา กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามในวันนี้คณะกรรมการฯ ถือว่าได้ยุติบทบาทลงแล้ว เพราะได้ส่งงานกันเรียบร้อยแล้ว

นายวิชา กล่าวถึงความคืบหน้าของคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ว่า เราได้รับทราบข้อมูลจากนายกฯ เยอะแล้วคนนึกว่าคดีนิ่งอยู่ แต่ความจริง องค์กรที่เกี่ยวข้องได้เดินหน้าในส่วนของตนเอง โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษแล้ว และในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับสำนวน และเข้าสำนวนสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และจะนำไปสู่การไต่สวนต่อไปส่วนการตรวจสอบเรื่องการเงิน ป.ป.ช. จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการตรวจสอบแล้ว อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองพยานปากสำคัญก็ยังคงต้องทำอยู่ จนกว่าจะมีการเบิกความเสร็จเรียบร้อย

 

เมื่อถามว่า รายงานความคืบหน้าทั้งหมดถือเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่าดีแล้ว ถือว่าไปได้เยอะแล้ว ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ยังคงตามต่อ ซึ่งคณะกรรมการชุดตน ก็จะประสานกับป.ป.ท.ต่อไป

 

เมื่อถามย้ำว่า วันนี้ยังตอบกับสังคมได้หรือไม่ว่าคดีดังกล่าว ไม่มีล้มนายวิชา กล่าวว่า ไม่มีแน่นอน เรารอว่าจะได้ตัวมาเมื่อไหร่ เพราะตอนนี้ได้ดำเนินการด้านต่างประเทศไปแล้วพอสมควร เมื่อถามอีกว่า ตัวความผิดที่นอกสำนวนคดีบอสมองว่าทิศทางสามารถไปต่อได้หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า เรื่องคดีอื่น ๆ  ที่จะไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ อัยการก็ตั้งคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว เพื่อดำเนินการไปสู่การฟ้องร้อง ก็ขอให้รอฟังว่าจะส่งไปศาลเมื่อไหร่ เมื่อถามว่า นายกฯ ชวนทำงานต่อหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ก็ยังไม่รู้ รอดูกฎหมายเข้าสภาฯ เผื่อจำเป็นก็ต้องไปปกป้องประโยชน์สิทธิ์ของประชาชน

About The Author