ยำใหญ่!ร่างพ.ร.บ.ตำรวจฉบับ’แปลงสาร ปฏิลวง ถ่วงเวลา’

 

เมื่อวันที่ ๒๘  ก.ย. ๒๕๖๓  มีการเสวนาหัข้อ “ยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ยื้อปฏิรูป ตร. คนไทยยังรอไหวหรือไม่?” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) ร่วมกับ คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ  โดยมีเอกสารประกอบการเสวนา มีใจความดังนี้

 ๑.ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่ สตช. เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ไม่มีที่มาที่ไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๐ ซึ่งกำหนดให้การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามองค์ประกอบของบุคคลที่กำหนดโดยจำกัดสัดส่วนผู้เป็นตำรวจไว้  เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในปัจจุบันและอดีตมีบทบาทครอบงำทิศทางปฏิรูปเช่นที่ผ่านมา  จึงถือว่าการที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว  ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง

๒.สาระสำคัญตามร่างฉบับมีชัย ได้ถูกแก้ไขและตัดออกไปหลายประเด็น เช่น

๒.๑  การจัดตำรวจไปรักษาความปลอดภัยบุคคลต้องกระทำเฉพาะตำแหน่งที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้เท่านั้นกลับถูกตัดออกไปเพื่อให้ ผบ.ตร. สามารถกระทำได้แบบเดิม  ซึ่งหลายตำแหน่งหลายกรณีไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องจัดตำรวจไปประจำไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างว่าเพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัย  แต่แท้จริงเป็นการรับใช้บุคคล ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง อดีตรัฐมนตรี  อดีตตำรวจผู้ใหญ่ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. ขึ้นไปที่ถึงขนาดกำหนดเป็นระเบียบเอาไว้   ซึ่งทำให้รัฐต้องสูญเสียกำลังตำรวจและงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีเป็นจำนวนมากอย่างไม่มีเหตุผลและเป็นธรรมต่อสังคม

๒.๒  การกำหนดให้ตำรวจบางประเภทไม่มียศเพื่อลดความเป็นศักดินาของตำรวจและให้ทุกหน่วยรวมทั้งบุคคลสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระตามมาตรฐานของวิชาชีพตามมาตรา ๙ และได้แก่งานสายการแพทย์ พยาบาล พิสูจน์หลักฐาน และการสอนในกองบัญชาการศึกษา และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก็ถูกตัดออกไป และให้กลายเป็นเรื่องที่อยู่ในการพิจารณาของตำรวจตามที่ ก.ตร. กำหนดในมาตรา ๘ (๒) แทน

๒.๓ องค์ประกอบของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ตามร่างฉบับมีชัยฯ ในมาตรา ๑๕ ให้ยุบ ก.ตช. และ ก.ตร. รวมเข้าด้วยกัน  มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  โดย ผบ.ตร. และ รอง ผบ.ตร.ฝ่ายป้องกัน สอบสวน บริหาร และจเรตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด  ปลัดกระทรวงมหาดไทย  ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  อดีตตำรวจระดับ ผบช.ขึ้นไปห้าคน และบุคคลภายนอกสามคนที่ผ่านการเลือกตั้งจากข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปทุกคนร่วมเป็นกรรมการ กลับถูกแก้ไขในมาตรา ๑๔  ให้ ผบ.ตร. เป็น รองประธานและ รอง ผบ.ตร.ทุกคน จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ ซ้ำยังลดสัดส่วนของอดีตตำรวจระดับ ผบช. ขึ้นไปที่มาจากการเลือกตั้งของตำรวจเหลือเพียง ๓ คน

การกำหนดให้ ผบ.ตร. เป็นรองประธาน ก.ตร.แทนที่จะเป็นอัยการสูงสุด หรือปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีฐานะเป็นเพียงกรรมการนั้น  ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมราชการที่ถือว่าทั้งสองตำแหน่งมีสถานะสูงกว่า ผบ.ตร.โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงฐานะความเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ อาญา รวมทั้งอำนาจในการสั่งคดีที่ ผบ.ตร. ต้องเสนอสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็นแย้งพนักงานอัยการให้อัยการสูงสุดชี้ขาด

นอกจากนั้นสิทธิในการเลือก ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ๘ คน ที่กำหนดให้ตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปทุกคนมีสิทธิเลือก  ซึ่งนับเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการให้มีส่วนร่วมของตำรวจส่วนใหญ่ ก็กลับถูกแก้ไขให้เป็นตำรวจระดับรองผู้กำกับการขึ้นไป เป็นการตัดสิทธิของตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรองสารวัตรถึงสารวัตรทั่วประเทศซึ่งมีจำนวนรวมกว่าห้าหมื่นคนอย่างไม่มีเหตุผล  และไม่สามารถสะท้อนความต้องการของตำรวจที่ส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริงเท่ากับร่างเดิม

ที่สำคัญ องค์ประกอบของ ก.ตร.ที่มีสัดส่วนของตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในและนอกราชการถึง ๙ คนจาก ๑๘ คนดังกล่าว โดยเฉพาะ รอง ผบ.ตร.ทุกคนซึ่งมีฐานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร. โดยตรงจะส่งผลทำให้การออกกฎและระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจหลายเรื่องที่ถูกร่างฉบับ “แปลงสาร” ดังกล่าวกำหนดให้กระทำโดยมติ ก.ตร. เช่น ให้ตำรวจบางหน่วยไม่มียศ  การโอนตำรวจเฉพาะทางกว่าสิบหน่วย เช่น งานตรวจคนเข้าเมือง  ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ ไปให้กระทรวง ทบวง กรมที่รับผิดชอบตามมาตรา ๖ วรรคสอง และการดำเนินการอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เป็นไปได้ยาก

๒.๓  เรื่องสำคัญคือการแยกงานสอบสวนให้มีสายการบังคับบัญชาและการสั่งคดีต่างหากงานตำรวจป้องกันการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ  เนื่องจากสามารถกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานสอบสวนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายได้ง่ายเช่นที่เป็นปัญหาอยู่ปัจจุบันก็ถูกตัดออกไปพร้อมกับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของตำรวจแต่ละคนโดยภาคประชาชน  ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น

๒.๔ หลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งโยกย้ายก็ถูกเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิมที่กำหนดให้ต้องกระทำโดยคำนึงถึงอาวุโสทุกตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๕๘ ง (๔) ก็กลับกลายเป็นแบ่งโควต้าให้กลุ่มอาวุโสเช่นเดิมและได้ตัดระบบประเมินผลให้คะแนนตำรวจโดยภาคประชาชนออกไป  ซึ่งยังสร้างปัญหาความไร้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและก่อให้เกิดการวิ่งเต้นหรือแม้กระทั่งการซื้อขายตำแหน่งได้  รวมทั้งเจตนารมย์ที่ต้องการให้ตำรวจยึดโยงกับประชาชนและทำงานตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นรวมทั้งจังหวัดและอำเภอหายไป

ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้ความกล้าหาญและเด็ดขาดในการปฏิรูปตำรวจ โดยนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับที่คณะกรรมการชุดนายมีชัย ฤชุพันธ์  ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดจากประชาชนมาแล้วมากมายแม้กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง เสนอต่อสภาเพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็วแทน “ฉบับปฏิลวง ถ่วงเวลา” ซึ่งไม่มีที่มาที่ไปตามกฎหมาย  และไม่ได้เป็นการปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แท้จริงแต่อย่างใด

 

About The Author