ตำรวจ “จับสลาก” เป็นพนักงานสอบสวน
ตำรวจ “จับสลาก” เป็นพนักงานสอบสวน
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เมื่อคืนวันเสาร์ที่ ๑๕ ที่ผ่านมา ฝ่ายปกครองโดยนายอำเภอและป้องกันจังหวัดหลายแห่ง ได้สนธิกำลังกับทหาร รวมทั้งชุดปฏิบัติการพิเศษสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง นำนิติกรและประชาชนอาสาสมัครได้รับค่าตอบแทนเพียงเดือนละหมื่นเศษ ๔ ชุด
ออกตรวจจับสถานบันเทิงผิดกฎหมายทั่วประเทศพร้อมกันใน ๔ จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ท้องที่ สน.บางพลัด จว.ปทุมธานี สภ.คลองหลวง จว.ระยอง สภ.มาบตาพุด และ จว.นครราชสีมา เขต สภ.เมือง
พบการกระทำผิด “เปิดสถานบริการเกินเวลา” คือ ๐๑.๐๐ น. รวมทั้งปล่อยให้เด็กเข้าไปใช้บริการ และการเสพยาเสพติดทั้ง 4 แห่ง
ในการจับกุม ฝ่ายปกครองไม่ได้บอกให้หัวหน้าสถานีท้องที่ ผบก.จังหวัด หรือแม้กระทั่ง ผบช.ตำรวจภาคคนใดรู้ หรือขอกำลังมาสนับสนุนแต่อย่างใด?
เพราะคงคิดว่า หากบอกไป ความลับก็คงรั่วไหลไม่มีเหลือ จับใครไม่ได้เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา!
ปัญหาสถานบันเทิงผิดกฎหมายทำลายเด็กและเยาวชนที่ผู้มีอำนาจหลายคนชอบพูดแสดงความรักและห่วงใยนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้เคยมีคำสั่งที่ ๒๒/๒๕๕๘ กำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ข้อ ๗ มีความสำคัญตอนท้ายว่า
“….ในกรณีที่ปรากฏมีการเพิกเฉยหรือละเลย ไม่กระทำการหรืองดเว้นกระทำตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว”
แต่ในทางปฏิบัติ คำสั่งกำชับและคาดโทษของหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ แทบไม่มีความหมายอะไรที่ทำให้ตำรวจผู้รับผิดชอบไม่ว่าระดับใด กลัวเกรงเลย?
เพราะทุกกรณีที่ฝ่ายปกครองไปตรวจจับบ่อนและสถานบันเทิงแทนตำรวจพื้นที่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากี่สิบหรือกี่ร้อยแห่งที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยเห็น หัวหน้าสถานี ผู้บังคับการ หรือผู้บัญชาการตำรวจผู้รับผิดชอบ คนใดถูกดำเนินคดีอาญา หรือวินัย ถูกสั่งกักยาม กักขัง ไม่ได้เลื่อนเงินเดือน ตัดเงินเดือน ไปจนกระทั่งไล่ออก ปลดออก แม้แต่คนเดียว
ปัญหาตำรวจที่อื้อฉาวและเป็นข่าวไม่หยุดหย่อนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องนายดาบตำรวจจังหวัดชุมพรเมากร่าง ชักปืนยิงบ้านสองตายายอดีตครูขณะอุ้มหลานจนต้องคลานหนีตาย แต่ไม่วายกระสุนทะลุแขนหวิดดับกรณีหนึ่งแล้ว
ก็ยังมีเรื่องบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจภูธรโพธิ์กลาง จังหวัดนครราชสีมาคดีหนึ่ง ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า เป็นการลงบันทึกประจำวันเรื่องอะไร?
เพราะคนทั่วไปอ่านกันไม่ออกแม้แต่ประโยคเดียว!
การลงบันทึกประจำวันที่อ่านยากไปจนถึงไม่ออกลักษณะนี้ ในความเป็นจริงมีเกิดทั่วไปแทบทุกสถานีตำรวจประเทศไทย!.
(ภาพ บันทึกประจำวัน สภ.โพธิ์กลาง ที่อ่านไม่ออก)
เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจต่างๆ ต้องประสบกับปัญหาดังกล่าวด้วยกันทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีอาชีพทนายความที่ต้องใช้เอกสารบันทึกประจำวันเหล่านี้ในการอ้างอิงประกอบการดำเนินคดี ต่างปวดหัวปวดกบาลไปตามๆ กัน
การปฏิรูปตำรวจนั้น อันที่จริงหลายเรื่อง รัฐบาลไม่ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาให้ดูหรูหรา หรือต้องเสียเวลาไปในแต่ละเดือนแต่ละปีไปแต่อย่างใด
อย่างปัญหาบันทึกประจำวันที่อ่านไม่ออกนี้ แค่นายกรัฐมนตรีมีหนังสือสั่งให้ ผบ.ตร.แก้ปัญหาทั้งประเทศโดยเร็ว กำหนดให้จัดทำแผนหรือโครงการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับคดีทั้งหมดด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบใหญ่ในจังหวัด หรือแม้กระทั่งศูนย์ดำรงธรรม
รายงานมาเป็นหลักฐานว่า จะทำให้แล้วเสร็จในจังหวัดใหญ่และทั่วประเทศได้เมื่อใด จะใช้เวลากี่เดือนหรือกี่ปี?
สมุดบันทึกประจำวันบนสถานี บางกรณีถือเป็นหลักฐานเกี่ยวกับคดีที่มีความสำคัญยิ่งกว่าสำนวนสอบสวนด้วยซ้ำ เพราะเป็นการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลา โดยที่ยังไม่มีใครได้มีโอกาสเจรจาหรือตกลงอะไร เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดเปลี่ยนแปลงไปจากนั้น
เมื่อได้บันทึกอะไรไปแล้ว ก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงยาก นอกจากการขีดฆ่าทำให้มั่วไป หรือ “ฉีกทิ้ง” ทำขึ้นใหม่ทั้งเล่ม!
การกำหนดให้ลงบันทึกประจำวันด้วยคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลไว้ในระบบใหญ่ นอกจากจะทำให้ประชาชน อ่านออก และสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ก่อนลงชื่อ เพื่อให้ตรงกับเจตนาในการแจ้งความหรือคำให้การต่างๆ อย่างแท้จริงแล้ว
ยังจะทำให้ปัญหาการไม่รับแจ้งความหรือ “เป่าคดี” กรณีพนักงานสอบสวนรับแจ้งเป็นหลักฐานโดย ไม่ออกเลขคดี ไม่ได้มีการสอบสวนตามกฎหมายลดน้อยลงหรือหมดไปในที่สุดด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่แชร์กันสนั่น ก็คือกรณีคลิปตำรวจหลายสถานีมี “การจับสลาก” เป็นพนักงานสอบสวน” กองเชียร์ส่งเสียงลุ้นกันระทึกไม่แพ้การจับ “ใบดำใบแดง” ของประชาชนวัยฉกรรจ์ในฤดูเกณฑ์ทหารเลยทีเดียว
แต่ประชาชนเห็นแล้ว กลับรู้สึกเวทนาอย่างยิ่ง!
(ภาพ ตำรวจจับสลากเป็นพนักงานสอบสวน)
เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากงานสอบสวนที่มีคดีอาญาต่างๆ เกิดขึ้นมากทั่วประเทศ จนเกินกำลังของพนักงานสอบสวน ๑๐,๖๐๐ คน จะรับมือได้
ซ้ำตำรวจหลายคนที่มีเส้นสายได้รับตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนสอบสวนอีกเดือนละหมื่นกว่าไปจนถึงสองหมื่นตามกฎหมายแล้ว กลับไม่ได้เข้าเวรสอบสวนประจำสถานี เอาเปรียบเพื่อนด้วยการหนีไปช่วยราชการตามสำนักงานนายพลตำรวจต่างๆ หลายรูปแบบ
เพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าเวรสอบสวนรับผิดชอบสำนวนคดีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
ทำให้ต้องหาทางนำตำรวจส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีปริญญาทางกฎหมายที่ทำงานสายอื่น โดยเฉพาะงานป้องกันอาชญากรรม ซึ่งได้มีการกำหนดตำแหน่งไว้มากเกินจำเป็นเมื่อหลายปีก่อน เปลี่ยนให้มาทำงานสอบสวนแทน
แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีเงินเพิ่มพิเศษมากกว่าตำรวจและข้าราชการฝ่ายอื่นอีกเท่าใด ก็หาผู้สมัครใจมาทำงานสอบสวนได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสายงานถูกยุบไปด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๗/๒๕๕๙ ทำให้การสอบสวน ไม่ใช่ “วิชาชีพเฉพาะ” ที่พอเห็นอนาคตเช่นเดิม
และที่เลวร้ายก็คือ ได้กลับกลายเป็น “สายงานที่ไร้อนาคตยิ่งกว่าเดิม” อีกด้วย
สาเหตุสำคัญที่ตำรวจส่วนใหญ่ไม่อยากทำงานสอบสวน จึงไม่ใช่เพราะงานหนักอย่างที่ผู้คนเข้าใจ
แต่หากเป็นเพราะ ระบบงานและการบังคับบัญชาสั่งการตามชั้นยศและวินัยแบบทหารที่ขัดธรรมชาติของงานสอบสวน ที่ทำให้เจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นทุกคนในประเทศไทย ไม่สามารถปฏิบัติงานรวบรวมพยานหลักฐานตามความเป็นจริงและกฎหมายได้
ต้องทำตามคำสั่งที่ผิดกฎหมายของผู้บังคับบัญชา ซึ่งทำให้ตนเองต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการกระทำผิดอาญาและวินัยตลอดเวลา
ในขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ประชาชนมีความรู้และความตื่นตัว รวมทั้งความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มากขึ้นทุกวันอีกด้วย
หลายแห่งจึงต้องใช้วิธี “จับสลาก” “ใครซวย ก็ไปเป็นพนักงานสอบสวน”
แต่ละคนมีความพร้อมสามารถทำงานได้หรือไม่ จะต้องย้ายข้ามจังหวัดหรือไปอีกภูมิภาคหนึ่งใกล้ไกลแค่ไหน ไม่มีใครคำนึงถึงแต่อย่างใด?.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, December 17, 2018