วงเสวนาสับกระบวนการยุติธรรมไทยอำมหิต!บิดเบือนได้แม้กระทั่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หวั่นเป็นฟางเส้นสุดท้าย จี้นำร่างกฎหมายปฏิรูปฯเข้าสภา
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2563 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ร่วมกับเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “บทเรียนกรณี บอส กระทิงแดง : จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไรไม่ให้คนผิดลอยนวล”
โดย ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการประจำจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า พูดในนามส่วนตัวและนักวิชาการ เพราะมีระเบียบเรื่องคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้ยินมาตลอดคนจนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจึงไปพึ่งสื่อมวลชน ทนายนอกระบบกระบวนการยุติธรรมของรัฐพึ่งพามูลนิธิต่างๆ เป็นข้อยืนยันได้ว่าการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนไม่ได้จริงๆ กระบวนยุติธรรมแบบเสมอภาคเป็นกระบวนการที่คนมีอำนาจรังเกียจ ส่งผลร้ายต่อผู้มีอิทธิพล คนรวย ความได้เปรียบของเขาจะหายไปจึงต้องอยู่กันแบบบิดเบือนได้ง่าย แต่ก่อนบิดเบือนตรรกะทางกฎหมาย แต่เดียวนี้ถึงขั้นบิดเบือนวิทยาศาสตร์ ความเร็วก็บิดเบือนได้มันไปกันใหญ่แล้ว ถ้าปล่อยให้พยานหลักฐานที่ไม่มีความชัดเจนและเกิดความสงสัยอยู่ขึ้นสู่ศาล ศาลก็จะยกฟ้อง การยกฟ้องคือการฟอกขาว ใน คดีบอส ถ้ามีหลักฐานใหม่ หรือหลักฐานที่ไม่อยู่ในสำนวนสามารถรื้อคดีได้
“สิ่งที่ผมเรียกร้องมาตลอดคือการมีระบบที่ไม่ไว้ใจใคร ต้องสร้างระบบที่ชั่วแค่ไหนก็ทำเลวไม่ได้ ความจริงในที่เกิดเหตุทุกอย่างสมบูรณ์ทั้งพยานหลักฐาน โดยมีฝ่ายปกครอง พิสูจน์หลักฐาน อัยการลงไปดู ทุกคนรู้เห็นทั้งหมดทุกอย่างจบใน 3 เดือน ยิ่งปล่อยเวลานานยิ่งมีเวลาซื้อคดี บิดเบือน แทรกแซง วิ่งเต้นคดี คนมีอำนาจมีเวลาเข้ามาแซรกแทง อัยการต้องปฏิรูปด้านหาความจริง” ดร.นำแท้ กล่าว
นายนคร ชมพูชาติ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทยชั้นต้น ชั้นกลาง มีปัญหามาก่อนหน้านี้แล้ว อัยการบางท่านเมื่อมีส่วนกับพนักงานสอบสวนก็จะทำสำนวนแปลกๆให้เกิดขึ้น และจะเข้าใจมากเมื่อเป็นคดีของผู้มีเงินเยอะ ในอดีตไม่ว่าอัยการระดับไหนก็เคยมีลักษณะแบบนี้เหมือนกัน อีกเรื่องคือสิทธิ์ของผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย ถ้ามีการตายเกิดขึ้น เวลาตำรวจทำสำนวนผู้ตายไม่สามารถปกป้องตัวเอง ไม่มีการจัดทนายความมาดูมาปกป้องสิทธิ์คนตาย จึงสามารถทำสำนวนได้อย่างสะดวก
อย่างเช่นกรณีนี้ มีการกล่าวหาผู้ตายมีส่วนกระทำความผิดด้วย ใครปกป้องสิทธิ์เข้า กระบวนการยุติธรรมไทยยังไปไม่ถึงจึงเป็นปัญหา อัยการมีข้อสงสัยสามารถสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบต่อได้ ตัวเองแม้จะลงไปไม่ได้ก็สามารถเรียกข้อมูลมาดูได้ ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้บ้านเราจะมีความพยายามอยู่แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมผลประโยชน์ขัดกันจึงทำให้เสียเวลามานาน เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นจึงเป็นโอกาสจะได้มาดูปัญหาอยู่ตรงไหนบ้าง
“ที่ผ่านมาเราพูดถึงอัยการ ตำรวจ แต่ต้องไม่ลืมทนายความ ทนายความอยู่ทุกส่วนของกระบวนการยุติธรรม บางทีมีทนายความนอกเหนือจากการทำคดีได้ร่วมกับผู้สมคบคิดเพราะพอใจผลประโยชน์มากกว่าศักดิ์ศรี พูดถึงบางคนไม่ได้รวม”นายนคร กล่าว
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เมื่อเห็นสำนวนย่อของอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วรู้สึก “สิอิดสะเอียน” เรื่องนี้สั่นสะเทือนไปถึงรากฐานสังคมไทยอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน สั่นสะเทือนไปถึงระบอบประชาธิปไตยเป็นรากฐานของระบบอุปถัมภ์ ที่เข้มข้น โดยเฉพาะมาเกิดขึ้นในช่วงจังหวะขัดแย้งทางการเมือง 15 ปี ความขัดแย้งเดิมยังไม่ได้รับการคลี่คลาย แต่มีความขัดแย้งใหม่ซ้อนทับเข้ามาระหว่างคน 2 รุ่น 3 รุ่น สิ่งที่จะต้องแก้ไขคือผู้มีอำนาจรัฐดำเนินการแก้ไขตั้งแต่ต้นลมฟังเสียงประชาชนตอบคำถามประชาชนให้ได้ อีกทางถ้าผู้ครองอำนาจรัฐตอบไม่ได้ จะเป็นชนวนในสิ่งที่ใหญ่มาก แต่จะใหญ่อย่างไรไม่อาจพยากรณ์ได้ อย่างเช่นกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่พอสมควรในเดือน ต.ค. ปี 2516
นายคำนูณ กล่าวว่า คดีนี้เห็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุคนสำคัญเสียชีวิตอย่างมีเหตุอันควรสงสัย วันแรกดูวงจรปิดเหมือนไม่มีอะไร แค่เมื่อสื่อขุดค้นพบสายสัมพันธ์พยานคนนั้นอยู่ในความดูแลของผู้กว้างขวางภาคเหนือและมีความสัมพันธ์กับอีกคนจึงทำให้เกิดความสงสัย แต่ยังมีความหวังกับสังคมไทย เพราะนายกฯรับฟังเสียงจากประชาชนนำมาซึ่งคณะกรรมการชุดของอาจารย์วิชา มหาคุณ และล่าสุดได้มีการอายัดศพทำการผ่าพิสูจน์อีกครั้ง อย่างน้อยก็ตอบคำถามสังคมได้ส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกันกับการกับการปฏิรูปตำรวจในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีแผนชัดเจน โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.แห่งชาติ ถึงแม้จะล่วงเลยมากว่า 2 ปี ผ่านคณะกรรมการด้านกฎหมายระดับประเทศ พร้อมกันนี้ยังมีร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาควบคู่มาด้วย เป็นเรื่องการสอบสวนคดีอาญาของตำรวยโดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 เสร็จเรียบร้อย แต่ตามระเบียบเมื่อร่างเสร็จต้องส่งกลับไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อ ในกรณีนี้คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นด้วยหรือ ก็เป็นเรื่องที่แปลก จะปฏิรูปหน่วยงานแต่กลับไปถามหน่วยงาน และทางตำรวจได้เสนอความเห็นคัดค้านทั่ง 2 ร่าง
“คดีนี้เสมือนฟางเส้นท้ายๆ ที่ทับถมลงไปบนหลังอูฐเหลืออดกับหลายเรื่องมายาวนาน ฉะนั้นนายกฯต้องเร่งเสนอ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติและ ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาเข้าสู่รัฐสภาเพื่อดำเนินการพิจารณาด่วนให้กำเนิดขึ้นมา ถึงแม้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะยังไม่สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมดของกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าคณะผู้ร่างต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากร่างทั้ง 2 ฉบับเป็นสารตั้งต้นเข้าสู่รัฐสภา เวลาน่าจะคร่อมกับชุดสอบสวนของอาจารย์วิชา น่าจะเอาไปปรับปรุงร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับในชั้นกรรมาธิการ ถ้าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ณ.เวลานี้จะก่อให้เกิดความปรองดองไม่ว่าสีใด ฝ่ายใด ในความอับอายนี้ ถ้าเราก้ามข้ามจุดนี้ไปได้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แม้จะต้องใช้เวลา”นายคำนูณ กล่าว
นางรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า บ้านเรามีปัญหากับระบบอุปถัมภ์ นำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน สหรัฐออกมาประกาศว่า คดีนี้ วิกิพีเดียสามารถค้นหาได้ ด้วยการพิมพ์คำว่า “คอร์รัปชันอินไทยแลนด์” เป็นเรื่องระดับโลกแล้ว คดีนี้เมื่อเจาะลึกได้ลามเป็นวงกว้างไปถึง ส.ว. สนช. วิศวกรรม เคมี แพทย์ เพราะมีคำถามมากมายอะไรสามารถลากเอาคดี 7-8 ปี ที่แล้วพลิกคดี มีสินน้ำใจหรืออะไรที่อยู่เบื้องหลังหรือเปล่า ถ้าผู้บริหารสูงสุดบ้านเราปล่อยเรื่องนี้ผ่านไปฉันคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่แน่ เช่นรถเฟอร์รารี่วิ่งมาด้วยความเร็ว 80 กม.ต่อชั่วโมงชนกันแล้วมันจะพังขนาดนี้เลยหรือ แล้วบอกว่าเป็นข้อมูลใหม่นำไปสู่การไม่ฟ้องและบอกว่าตำรวจวิ่งตัดหน้าเป็นความผิดของผู้ตาย และพยานปากสำคัญก็มาเสียชีวิตอีก เรื่องที่เกิดขึ้นสังคมรับไม่ได้ความยุติธรรมมันสำคัญกว่ากฎหมายเป็นแค่เครื่องมือในการหาความยุติธรรม เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเห็นว่าความยุติธรรมมีเฉพาะคนรวย ขอให้คนที่เกี่ยวข้องอย่าเสียสละระบบทั้งหมดเพื่อบุคคลบางกลุ่ม
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทุกคนทำใจ หลายข้อหาขาดอายุความ แต่มันหนักหนาคือมันถึงบริสุทธิ์ผุดผ่องก็เลยเกิดอาการช็อก กระบวนการยุติธรรมอาญาของไทย ผมเรียกว่าเป็น”กระบวนการยุติธรรมอำมหิต”สำหรับคนจน คนจนรับรู้มานาน แต่ที่หนักบางคนไม่ได้ทำผิดก็ยังต้องติดคุกจากการสอบสวนวิปริตวิปลาส กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาร้ายแรงโดยเฉพาะขั้นสอบสวน อัยการก็เป็นชั้นสอบสวน เพราะที่สั่งคดีนี้ยังไม่ถึงศาลเป็นการใช้อำนาจสอบสวน คนรวยบางทีอาจมีปัญหาเมื่อเจอคนรวยกว่า อย่างเช่นวานนี้ไมปออกรายการกับอาจารย์ วิชา มหาคุณ ช่องหนึ่ง ท่านบอกว่าการทำคดีของคนรวยเป็นโอกาสของพนักงานสอบสวนจะได้ตั้งเนื้อตั้งตัว ยิ่งรวยมากยิ่งเป็นโชคดี ถือเป็นโชคของผู้บังคับบัญชาพนักงานสอบสวนด้วย
เลขาธิการสป.ยธ. กล่าวว่า ขนาดวิทยาศาสตร์ยังเพี้ยนได้เลย และไม่ทราบวิทยาศาสตร์มีกี่สูตรตัวเลขที่ออกมาถึงห่างกันมาก จาก 177 กม.ต่อชั่วโมงเหลือ 76 กม.ต่อชั่วโมง สิ่งที่เกิดขึ้นขอเรียกว่าเป็นอาชญากรรมการสอบสวน เกิดขึ้นเยอะแยะทั้งหนักทั้งเบา เรื่องนี้ทุกคนนึกไม่ถึงไม่มีการตรวจแอลกอฮอล์ เป็นเจตนาตั้งแต่แรก อัยการเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายเป็นแพะก็ได้ เมื่อส่งสำนวนให้อัยการสรุปสั่งฟ้อง แต่เขารู้อยู่แล้วอัยการฟ้องไม่ได้เพราะไม่เมา ไม่เร็วจะฟ้องได้อย่างไร เมื่อสั่งสอบเพิ่มเติมจะเป็นการดองคดี อะไรบิดไม่ได้ก็ปล่อยให้หมดอายุความ ตรวจพบโคเคนก็ไม่เข้าสำนวน อย่างนายจารุชาติ กับคู่กรณีบอกไม่รู้จักกันแต่ต้องจำนวนด้วยหลักฐานด้วยกล้องวงจรปิด พยานบุคคลอันตรายมาก อัยการถูกตั้งคำถามเมื่อเห็นว่าผิดปกติน่าจะค้นหาความจริงด้วยตัวเอง
“แต่ก็เห็นใจอัยการที่ผ่านมาก็แค่พิจารณาสำนวนตามที่ตำรวจส่งให้เท่านั้น ไม่มีโอกาสได้ค้นหาด้วยตัวเอง แต่ถ้าตำรวจสอบละเอียดอัยการจะสั่งเป็นอื่นไปไม่ได้เรื่องนี้หลายฝ่ายมองว่าตำรวจเสนอสั่งฟ้อง มันเป็นแทคติกสุดท้ายอัยการไม่ฟ้อง อัยการจึงกลายเป็นแพะจริงไอ้โม่งที่อยู่หลังพนักงานสอบสวนเขารู้อยู่แล้ว ว่าอัยการฟ้องไม่ได้เพราะถ้าตำรวจสั่งไม่ฟ้องมันน่าเกลียดจึงใช้มืออัยการแทน ทุกอย่างถูกกำหนดจากการสอบสวน ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปตำรวจ”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว
พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และอดีตเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานขณะเกิดเหตุ กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุ ยศ. “ร.ต.อ.” อยู่ที่หน่วยกลุ่มงานตรวจทานเคมีฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐาน หลังเกิดเหตุมีการระดมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ 2 ประเด็นคือชนกันในลักษณ์ไหน ความเร็วเท่าไหร่ ได้ตรวจสอบร่องรอบต่าง เพราะพยานที่น่าเชื่อถือมากกว่าคือวัตถุพยาน บางร่องรอยสามารถชี้ข้อเท็จจริงได้ พบว่าการชนเป็นลักษณะตรงไม่ได้เฉียง ความเร็วรถจากกล้องวงจรปิดก่อนถึงจุดเกิดเหตุ 100 เมตร หลักฐานนี้ไม่ว่าจะให้ใครตรวจสอบหรือคำนวณใหม่สามารถตรวจสอบความเร็วซึ่งเป็นตัวพยานหลักฐานไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้
“ซึ่งการคำนวณของชุดทำงานผมได้ใช้ฟิสิกส์พื้นฐานอัตราความเร็วเคลื่อนที่หารด้วยเวลา และไปวัดระยะทางในที่เกิดเหตุ เมื่อมาคำนวณเวลาก็ได้ความเร็วที่ 177 กม.ต่อชั่วโมง ส่วนการแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรม ต้องกระจายอำนาจสายการบังคับบัญชาให้สั้นลง ประชาชนสามารถตรวจสอบได้สามารถกำจัดทุจริตคอร์รัปชัน หรือวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งได้”พ.ต.ต.ชวลิต กล่าว
นายรณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า หลังจากอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีบอส ซึ่งเป็นคดีจราจร ได้มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีประมาทร่วมและพบว่าอัยการสั่งฟ้องหมดเลยจึงย้อนถามว่าคดีบอสทำไมไม่ฟ้อง มันเกิดอะไรขึ้น คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการครั้งนี้ต้องกระทบกับคนที่จะต้องถูกติดคุก คนที่ถูกฟ้อง แล้วทำไมคนเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์แบบคุณบอส บ้าง
” เดิมทีคนไทยก็รู้สึกถึงคนรวยและคนจนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่แตกต่างกันอยู่แล้ว นี้ยังไม่นับประเด็นเรื่องความเร็วผ่านไปไม่กี่ปีความเร็วลดลง พยานใหม่โผล่ รวมทั้งที่ ผกก.สน.ทองหล่อระบุ ไม่มีความผิดเสพโคเคนแล้วขับรถทั้งที่มี พ.ร.บ.ยาเสพติดอยู่ กระบวนการยุติธรรมต้องเสมอภาคสังคมรับไม่ได้อย่างมาก ในส่วนที่คณะกรรมการตั้งกันขึ้นมา ตำรวจสอบตำรวจ อัยการสอบอัยการ มันจะได้อะไร และที่นายกฯสั่งส่วนกลางเข้ามาสอบมันจะได้อะไรเพิ่มขึ้น ต่อจากนี้ไม่อยากไม่มีเฟอร์รารี่ชนตำรวจตายอีกครั้ง ยิ่งเมื่อจะมีการไปตรวจสอบประจักษ์พยานและพยานกลับมาเสียชีวิตกะทันหันมันทำให้กระบวนการหาความจริงหายไปอีก ไม่ว่าจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือมีคนทำให้เสียชีวิตภาครัฐต้องหาคำตอบให้ได้ เรื่องนี้สำคัญมากหากพยานปากนี้ไม่ตายเชื่อว่าคนไทยจะรู้ความจริงเป็นพยานเท็จหรือไม่เท็จ”นายรณรงค์ กล่าว