ไอ้คล้าว กับ 56 ดาราสาว กับปัญหาความล้าหลังของกระบวนการยุติธรรมไทย
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

           

กรณี นายสุรัตน์ แผ้วเกตุ หรือ “ไอ้คล้าว” หนุ่มชาวนา ต.สุขเดือนห้า อ.หันคา จ.ชัยนาท ถูกตำรวจ สน.คันนายาว แจ้งข้อหาว่า นำความเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์  ฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน และเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต!

รวมสี่กระทง โดยมีพฤติการณ์คือ ได้โพสต์เฟซบุ๊กขอรับบริจาคเงินจำนวน 100,000 บาท เพื่อนำไปซื้อ เจ้าทองคำ ที่นายบุญเลิศ การภักดี นายก อบต.สุขเดือนห้าเอามาฝากเลี้ยงไว้และภายหลังได้นำกลับไป

ทั้งที่ตามข้อเท็จจริง ระหว่างรับฝาก นายสุรัตน์ได้เกิดความผูกพันและประทับใจในรูปร่างหน้าตาของเจ้าทองคำ  จึงถ่ายรูปและนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า อยากได้ไปเลี้ยงไว้  ใครมีกำลังก็ขอให้ช่วยกันบริจาคซื้อจากเจ้าของให้หน่อยเท่านั้น

แต่ได้ใช้ถ้อยคำแบบชาวบ้าน กลายเป็นให้ช่วยกัน   “ไถ่ชีวิตเจ้าทองคำ”

เดือดร้อนถึงเจ้าของควายออกมาโวยวายว่า ไม่ได้มีเจตนานำเจ้าทองคำกลับไปฆ่า จึงไม่จำเป็นที่ใครต้องใช้เงินมาไถ่ชีวิตแต่อย่างใด

เลยเกิดปัญหาทำให้บางคนที่บริจาคเงินไปแล้วเข้าใจผิดคิดว่าโดนหลอก ถูกไอ้คล้าวฉ้อโกง ทำให้ได้เงินไปกว่าแสนบาท จึงไปแจ้งความว่าไอ้คล้าวนำความเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์ ฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน แม้กระทั่งเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต!

ตำรวจรีบรับลูก ประเคนข้อหาชุดใหญ่ ให้ “หนุ่มรักควาย” ผู้โพสต์ภาพยืนถ่ายรูปคู่ยิ้มกับควายแบบใสซื่อประสาคนชนบททันที

หลังแจ้งข้อหา ตำรวจได้ ยึดเจ้าทองคำเป็นของกลางตามกฎหมายฟอกเงิน เพราะไอ้คล้าวได้นำเงินที่ประชาชนบริจาคไปซื้อไว้จูงไปเก็บรักษาไว้ให้และเล็มหญ้าอยู่หลังโรงพัก!

เมื่อเป็นข่าวให้ผู้คนเมาธ์กันสนั่นเมืองว่า เรื่องแค่นี้ ไอ้คล้าวถูกดำเนินคดีอาญาสารพัดข้อหาได้อย่างไร

การอธิบายกันแต่ว่า เมื่อมีผู้กล่าวหาก็จำเป็นต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาแจ้งข้อหา ไม่ทำไม่ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไป

เป็นความจริงหรือไม่?

ในการแจ้งข้อหาคดีอาญากับบุคคลนี้ ป.วิ อาญา มาตรา 134 วรรคสอง ได้บัญญัติว่า

          ” …..จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่า ผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดตามข้อหา”

คำถามก็คือ อะไรคือพยานหลักฐานตามสมควร ที่ตำรวจรวบรวมได้จากการสอบสวนตามคำกล่าวหา แล้วนำมาใช้ในการแจ้งข้อหากับนายสุรัตน์ทั้งสี่ข้อหาดังกล่าว แม้กระทั่ง “ฟอกเงิน”

แจ้งข้อหาไอ้คล้าวได้รับความเดือดร้อนจนนอนแทบไม่หลับแล้ว สุดท้าย ตำรวจผู้รับผิดชอบบางคนกลับบอกในเวลาต่อมาว่า ได้สอบสวนพบหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อคดี!

จับเสียงได้ว่า สุดท้ายตำรวจน่าจะสรุปสำนวนส่งให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง

ปัญหาก็คือ หากการสอบสวนเป็นเช่นนั้น ใครบ้างที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดกับไอ้คล้าวจากการถูกแจ้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรมดังกล่าว?

          นี่คือปัญหาความล้าหลังของระบบการสอบสวนประเทศไทย ที่ “รัฐ” ปล่อยให้ตำรวจมีอำนาจออกหมายเรียกประชาชนไปแจ้งข้อหากันง่ายๆ โดยไร้การตรวจสอบจากพนักงานอัยการว่า

          เมื่อแจ้งข้อหาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องคดีให้ศาลพิพากษาลงโทษได้หรือไม่สอดคล้องกับหลักสากล

          ทำให้ผู้คนทั้งไทยและต่างชาติได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลังนี้กันมากมาย!

แม้กระทั่งศิลปินและดาราสาวผู้เป็นที่ชื่นชมและนิยมของประชาชนกว่าห้าสิบคน เมื่อสามวันที่ผ่านมาก็มีข่าวว่า  กำลังจะถูกเรียกไปแจ้งข้อหากรณีไปรับรีวิวสินค้าไม่ได้มาตรฐานเครื่องสำอางเมจิกสกิน นางเอกนางร้ายหลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เสียชื่อเสียงกันย่อยยับอยู่ขณะนี้

เรื่องความรับผิดในทางอาญา มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 บัญญัติเป็นหลักว่า

          “บุคคลจักต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิด หรือกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

          กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกัน ผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

          ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้”

สรุปก็คือว่า ความผิดอาญาทุกกรณีล้วนแต่ต้องมีเจตนาในการกระทำนั้นด้วยกันทั้งสิ้น ยกเว้นเฉพาะที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ต้องรับผิดแม้ไม่เจตนา เช่น ความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 367-398  ตามที่มาตรา 104 บัญญัติไว้

การออกข่าวว่าศิลปินและดาราสาวร่วมกันกระทำความผิดในคดีเมจิกสกินดังกล่าวและจะเรียกมาแจ้งข้อหานั้น ขณะนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะเป็นข้อหาใดแน่?

มีตั้งแต่ “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” กับเจ้าของบริษัทและผู้เกี่ยวข้องที่ถูกออกหมายจับไปแล้ว มีโทษจำคุกถึงเจ็ดปี

หรือเป็นกรณี “โฆษณา โดยเจตนา ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณภาพหรือสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า  หรือรู้หรือควรรู้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 มีโทษจำคุกถึงหกเดือน หรือข้อหาอื่น

ซึ่งถ้าอัยการจะฟ้องคดีว่า ศิลปินและดาราสาวเหล่านี้  กระทำความผิดอาญาตามที่ตำรวจแจ้งข้อหามีความเห็นส่งให้อัยการสั่งฟ้องไม่ว่ากรณีใด

          อัยการก็ควรต้องมั่นใจว่า เมื่อสั่งฟ้องแล้ว จะสามารถพิสูจน์การกระทำผิดของแต่ละคนให้ศาลรับฟังจนสิ้นสงสัย (Proof to beyond reasonable doubt) ได้ว่า

          ทุกคนไม่ว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังและมีรายได้แต่ละเดือนมากมายแค่ไหน รู้ข้อเท็จจริงอยู่แล้วอย่างแน่ชัดว่า สินค้าเมจิกสกินที่รับรีวิวโฆษณาให้ดังกล่าว ไม่ได้มีคุณภาพจริงตามที่โฆษณา หรือว่าเป็นสินค้าปลอม หรือไม่ได้มาตรฐาน

          แต่ก็ยัง “รับงาน รับจ้าง” โฆษณาให้

          กระบวนการยุติธรรมทางอาญาประเทศไทยต้องถูกยกระดับสู่มาตรฐานสากล การพิสูจน์ความจริง  ต้องให้สิ้นสงสัยในชั้นอัยการ

ไม่ใช่เอะอะอะไรก็บอกให้ผู้ต้องหา “ไปว่ากันที่ศาล” เช่นทุกวันนี้.

About The Author