‘ตำรวจกับสิทธิมนุษยชน’หนังสือที่เปิดโปงตำรวจกับการปฏิบัติหน้าที่ที่เกินขอบเขตไม่เข้าใจสิทธิเสรีภาพของประชาชน
หน่วยงานรัฐทุกแห่งจะสามารถลดสถิติความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ ลดการถูกวิพากษ์ วิจารณ์ลงได้ หากยอมติดอาวุธทางความคิดสร้างสำนึกให้กับเจ้าหน้าที่หรือพนักงานทุกคนในทุกระดับซึมซับการทำงานตามหลักสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามหลักการสากล มีความรอบคอบ ไม่ผิดพลาด จริงจังกับการให้ความเป็นธรรม ไม่ใช้ความรุนแรงตามอำเภอใจ ไม่เอารัดเอาเปรียบราษฎร หรือทำให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือดร้อน
การทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน รัฐบาลและผู้บริหารระดับสูงสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง ข้ามพ้นความเคยชินแบบเก่าๆ เลิกล้มข้ออ้างเดิมๆ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชนน้อยลง ไม่เห็นการละเมิดฯเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ต่อไป เพราะการละเมิดที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายกับประชาชน เป็นตราบาปให้ประเทศชาติมามากเกินพอ
เนื้อหาในหนังสือ “ตำรวจกับสิทธิมนุษยชน” เล่มนี้ได้กล่าวถึงสถานการณ์ตำรวจกับการปฏิบัติหน้าที่ที่เกินขอบเขตและหลายกรณีไม่ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็น โดยไม่เข้าใจว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน นั้นมีความหมายที่อาจหมายถึงชีวิต ทรัพย์สิน และอนาคตที่ล่มสลาย พฤติกรรมตำรวจทั้งสองอย่าง คือการปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขต และหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ล้วนเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับคำร้องทุกข์จากประชาชน การไม่จับกุมบ่อนการพนันที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอาชญากรรม การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุมสถานบันเทิงเถื่อนหรือเปิดเกินเวลา และพฤติกรรมการใช้อำนาจเกินขอบเขต
เนื้อหาต่อจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างคดีที่ตำรวจละเมิดสิทธิประชาชนที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอตรวจค้นประชาชนโดยไม่มีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมาย การละเมิดสิทธิจากการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด ตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ การตั้งด่านตรวจค้ายานพาหนะและประชาชน การแจ้งข้อหาประชาชนโดยมิชอบ
รวมไปถึงประเด็นที่นักวิชาการและนักกฎหมายตั้งคำถามมาตลอด ถึงการพิมพ์ลายนิ้วมือบันทึกประวัติอาชญากรรม การนำตัวผู้ต้องหาออกแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หรือการทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพ และประการสุดท้ายของเนื้อหาต่อไปนี้ยังชี้ให้เห็นถึงการไม่อนุญาตประกันตัว ผู้ต้องหาจำนวนมาก กับการคัดค้านการประกันตัวในชั้นศาลอยู่เรื่อยมา จึงเห็นว่าประเด็นต่างๆดังกล่าวควรได้รับการทบทวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใต้บรรยากาศที่เรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ปฏิรูปตำรวจมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ)
สมศรี หาญอนันทสุข
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.)
ดาวโหลดเอกสารได้ที่นี่
ตำรวจกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน