รัฐจะบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยได้อย่างไร?-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

                              รัฐจะบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยได้อย่างไร?

 

                                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

มนุษย์ทุกคนบนโลกที่เกิดมาใน พุทธศักราช นี้และอาจต่อไปอีกหลายปี ถือว่ามี ชะตากรรม ร่วมกันจากสถานการณ์ถูกโจมตีจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปอย่างร้ายแรง

ส่งผลให้ผู้คนล้มตายกันมากมายไป กว่าแสนคน!

ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ไม่รู้ว่ามันจะหมดฤทธิ์ลงด้วย   วิถีของธรรมชาติ

 หรือ ความสามารถในทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ด้วย ยา หรือ “วัคซีน” เมื่อไร?

จะทำให้ผู้คนไม่ว่าชนชั้นใดต้องอยู่ในสภาพทุกข์ทรมาน ทั้งกายใจ จากการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและประเทศที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างมากมาย

ซ้ำหลายคนทุกชาติภาษาอาจโชคร้ายถึงขั้น เสียชีวิต ลงจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครสามารถคาดคะเนได้ว่าจะมากเท่าใด?

มาตรการต่างๆ ที่แต่ละประเทศนำมาใช้กันอย่างเข้มข้น ก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

ทุกประเทศหวังเพียงเพื่อยับยั้ง ความตาย ของประชาชนให้น้อยลงที่สุดเท่านั้น

ประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์รวมทั้งไทยยังโชคดีที่อยู่ใน เขตร้อน ทำให้การแพร่ระบาดไม่รุนแรงเท่าประเทศในเขตหนาวหรือเย็น แม้กระทั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกามหาอำนาจของโลกที่ตายกันเป็นเบือในแต่ละวันอยู่ขณะนี้

รวมทั้งเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมใน การจับมือหรือสัมผัสตัวกัน แบบคนชาติตะวันตกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประเทศขณะนี้ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องกันหลายวัน ไม่ได้หมายความว่า น่าจะชนะศึกโควิด แล้ว แต่อย่างใด?

เนื่องจากยังต้องใช้เวลาอีกยาวไกลในการสรุปเช่นนั้น

มาตรการหลายอย่างที่ผู้ว่าราชการหลายจังหวัดใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 35 (1) สั่งปิดธุรกิจห้างร้านและการค้าที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ กว่า 26 ประเภท

แม้กระทั่งการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน ของนายกรัฐมนตรี

ในการสั่งปิดสนามบินและการเดินอากาศจากต่างประเทศ

รวมทั้งการตั้งด่านตรวจ สร้างอุปสรรค ในการเดินทางของประชาชน และเพื่อคัดกรองคนติดเชื้อตามถนนหนทางต่างๆ ทั่วประเทศ เกือบหนึ่งพันจุด 

หรือแม้กระทั่งการห้ามออกนอกบ้านในเวลา 22.00–04.00 น.

อาจถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ได้ผล สามารถลดอัตราการแพร่เชื้อลงได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งก็ต้องแลกกับปัญหาเศรษฐกิจที่ธุรกิจการค้าสารพัดดำเนินไปตามปกติไม่ได้

ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะ คนยากจนผู้หาเช้ากินค่ำ” จำนวนมากมายมหาศาล!

และรัฐก็ไม่มีเงินมากพอที่จะชดเชยให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบแม้กระทั่งโดยตรงเหล่านี้ได้

 ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ไม่รู้ว่าจะต้องใช้มาตรการนี้ไปอีกนานเท่าใด ใช้เงินอีกมากเพียงใด?

การออกกฎหมายโอนงบประมาณ ปี 2563 จากหน่วยราชการต่างๆ เข้าเป็นงบกลาง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ อาจมากกว่า จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรีบกระทำอย่างยิ่ง

รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณของชาติปี 2564 และต่อไปในอนาคต ต้องได้รับ การปฏิรูปครั้งใหญ่          

อาจปรับลดลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่เห็นแก่หน้าผู้ใดทั้งสิ้น

หน่วยงานและตำแหน่งราชการ โดยเฉพาะ กลุ่มทหารและตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลต่างๆ ที่เป็น ส่วนเกินในแต่ละองค์กร 

เกษียณแล้ว ต้องยุบลงให้หมด!

สำหรับสถานการณ์ศึกระหว่างนี้ ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด

ในฐานะ ผู้กำกับการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติ ตามข้อกำหนดท้ายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรี

แต่ละคนก็พยายามใช้อำนาจเท่าที่มีอยู่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34

ออก ประกาศโน่นนี่ เพื่อที่จะเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเข้ามาในจังหวัดมากมาย

แต่หลายเรื่องก็ก่อให้เกิดปัญหาความชอบตามกฎหมายตามมาสารพัด

เช่น บางจังหวัดประกาศห้ามคนเข้า-ออกเขตจังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาต มีอำนาจทำได้หรือไม่ ก็ยังมีปัญหา?

หรือการประกาศให้ผู้ออกไปในที่สาธารณะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกคน!

ประชาชนผู้ฝ่าฝืน มีโทษอาญาตามมาตรา 51 ปรับถึงสองหมื่นบาท

หลายจังหวัดมีการจับกุมส่งอัยการฟ้องศาลพิพากษาลงโทษไปจำนวนหนึ่ง

ซึ่งผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคน ล้วนให้การ รับสารภาพ

โดยศาลได้พิพากษาปรับเป็นเงิน 2,000 บาท รับสารภาพลดเหลือ 1,000

แต่มีอยู่คดีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นที่ อ.เบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ วันที่  14 เม.ย.63  เวลา 10.00 น.

ศาลจังหวัดกันทรลักษ์กลับพิพากษาให้ “ยกฟ้อง”

ทั้งที่จำเลยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหน้ากากอนามัยได้ให้การรับสารภาพ?

ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเช่นนั้นได้

การออกประกาศดังกล่าวโดยอ้างอำนาจ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34 (6) ที่บัญญัติว่า

“ห้ามผู้ใดกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป”

ถือเป็นการตีความและใช้กฎหมายอย่างไม่ถูกต้อง

เนื่องจากใน วรรคแรก กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจ

“ออกคำสั่งเป็นหนังสือ” ให้ ผู้ใด ดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคติดต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่เท่านั้น

 ไม่ได้ให้อำนาจ ออกคำสั่งเป็นการทั่วไปใช้บังคับกับประชาชนทุกคน แต่อย่างใด

โดยกฎหมายจึงถือว่าการวินิจฉัยของศาลจังหวัดกันทรลักษณ์เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สอดคล้องกับตัวบทกฎหมายและหลักนิติธรรมเรื่องความรับผิดทางอาญา               สำหรับการแก้ปัญหาของรัฐ ในกรณีมีความจำเป็นต้องบังคับให้ประชาชนในบางพื้นที่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 คือการประกาศให้โรคระบาดโควิด-19 เป็น  “สาธารณภัย” ประเภทหนึ่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 

โดยมาตรา 21 (5) ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดและอำเภอจะมีอำนาจสั่งห้ามบุคคลใดเข้าหรือออกจากพื้นที่ อาคารหรือสถานที่ที่กำหนด

เช่น อาจห้ามเข้าเฉพาะพื้นที่ตลาด ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องประชุม หรือสถานที่เป็นห้องปรับอากาศและรถโดยสารสาธารณะ ฯลฯ  

สำหรับการสวมใส่ตลอดเวลาแม้กระทั่งเดินหรือขับรถตามถนนหนทาง ท้องไร่ท้องนา และป่าเขาลำเนาไพรต่างๆ ก็ควรเป็นเรื่องของ คำแนะนำ หรือ การรณณรงค์ มากกว่า

เว้นแต่ตำบล อำเภอ หรือจังหวัดใดมีการระบาดร้ายแรง คนตายเป็นเบือ ก็อาจกำหนดเพิ่มเติมตามความจำเป็นได้

ผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมีโทษตามมาตรา 49 จำคุกถึงสามเดือน

รวมทั้งจะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการบริหารและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างสมบูรณ์มากขึ้น 

สามารถสั่งให้ข้าราชการพลเรือนทุกหน่วยโดยเฉพาะ “ตำรวจ” ให้ปฏิบัติการต่างๆ เพื่อร่วมกันยับยั้งป้องกันสาธารณภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นด้วย.

บังคับสวมหน้ากากอนามัย

 ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 20 เม.ย. 2563

About The Author