‘เจ้าเมืองดาบสั้น’ สู้ ‘ศึกโควิด’-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
“เจ้าเมืองดาบสั้น” สู้ “ศึกโควิด”
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดุจพายุ ลุกลามไปทั่วโลก โดยที่มนุษย์ยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างแท้จริงในขณะนี้
ตราบใดที่ยังไม่มีการคิดค้น วัคซีนฉีดสร้างภูมิต่อสู้ได้ จะทำให้ผู้คนทุกชาติทุกภาษาล้มตายกันมากมายไปเรื่อยๆ
จนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นในตัวเองสำหรับ คนที่เหลือ!
สำหรับประเทศไทย ขนาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ยังนั่ง ภาวนา ว่า การควบคุม แหล่งเสี่ยง รวมทั้งการ สร้างอุปสรรค ต่อการเดินทาง และ ความร่วมมือ ของประชาชนตาม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คงได้ผล จะสามารถลดจำนวนคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ในระดับหนึ่ง?
ซึ่งจะทำให้ไม่ส่งผลร้ายแรงถึงขนาดประเทศอิตาลีหรือสเปนแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ที่ติดเชื้อและล้มตายกันมากมายจนเกินความสามารถในการตรวจรักษาแต่ละวัน? ก็ต้องติดตามกันอย่าง ใจระทึก ต่อไปว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ออกมาแบบละล้าละลังและสร้างความงุนงงให้ประชาชน เมื่อวันที่ 26 มี.ค.
หลัง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น “โรคติดต่อร้ายแรง” ซึ่งทำให้ผู้ว่าราชการ กทม.และทุกจังหวัดมีอำนาจตามกฎหมายปกติในการประกาศปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ กว่า 26 ประเภท 14-21 วัน ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมโรคกรุงเทพมหานคร รวมทั้งอีกสี่ห้าจังหวัดใหญ่
แต่สถานการณ์กลับ เอาไม่อยู่!
ซ้ำความที่ ไม่ได้คิดให้รอบคอบ ก่อน รีบออกประกาศเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลส่วนกลาง! โดยไม่ได้มีการแจ้งให้ประชาชนทราบถึงมาตรการจ่ายเงินชดเชยรองรับสำหรับการดำรงชีพของผู้ที่ต้องว่างงานจากคำสั่งดังกล่าว
ทำให้ผู้คนจำนวนนับแสนนับล้านคน จำเป็นต้องเดินทางกลับบ้านกลับภูมิลำเนาไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายประจำวันและเก็บผักหญ้าหากินกันเพื่อความอยู่รอดในต่างจังหวัด จนสถานีขนส่งทุกภาคแน่นขนัดไปด้วยผู้คนล้นหลาม
ส่วนผู้เดินทางแต่ละคนจะติดเชื้อไปและอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ไม่มีใครตรวจสอบรับรองได้!
แต่อีกเพียงสองสามวันนี้ที่ ครบระยะฟักโรค คงรู้ผลว่าคนที่เดินทางออกไปได้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีจำนวนมากน้อยเพียงใด?
การบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมดของไทยที่ ผู้มีอำนาจหลายคนภูมิใจตลอดมา กำลังได้รับการพิสูจน์ว่า
จะสามารถแก้ปัญหามหันตภัยที่ร้ายแรงยิ่งของชาติครั้งนี้ได้หรือไม่?
โดยมีชีวิตคนไทยนับร้อยนับพันหรืออาจนับหมื่นหรือถึงแสนเป็นเดิมพัน!
ถ้าสุดท้ายสามารถแก้ได้อย่างแท้จริง ชาติต่างๆ ที่ล้วนมีระบบการปกครองและการบริหารงานแบบประชาธิปไตยคือ การกระจายอำนาจสู่จังหวัด
ก็คงต้องมาดูงานที่ประเทศไทย และนำกลับไปใช้วิธีบริหารแบบรวมศูนย์เช่นเดียวกัน
ในข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความยาว ถึง 7 หน้ากระดาษ มีข้อห้าม คำแนะนำ และข้อควรปฏิบัติสารพัดที่อ่านแล้ว “น่าเวียนหัว” ในเรื่องนี้
มีปรากฏอยู่ในข้อ 7 มาตรการเตรียมรับสถานการณ์ ว่า
“ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผู้กำกับการบริหารสถานการณ์ในทุกมิติในท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ หากมีปัญหาให้รายงานกระทรวงมหาดไทย”
ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการผู้เกี่ยวข้องและประชาชนหลายคนอ่านแล้ว ล้วนแต่ไม่เข้าใจว่ามีความหมายอย่างไรกันแน่?
ตั้งแต่คำว่า กำกับการบริหารในทุกมิติ และ หากมีปัญหาให้รายงานกระทรวงมหาดไทย นั้น
หมายถึงให้มี “อำนาจสั่งการ” หัวหน้าหน่วยงานและข้าราชการทุกคนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอะไรด้วยหรือไม่?
รวมทั้งการให้รายงานเมื่อมีปัญหา จะ ทันกินทันการณ์ กับสถานการณ์ในการจัดการในการควบคุมและทำลายโรคร้ายในแต่ละพื้นที่หรือไม่?
ยังไม่พูดถึงว่าเมื่อรายงานไปแล้ว ปลัดกระทรวงหรือแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะจัดการแก้ปัญหาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้จริงหรือไม่อีกด้วย?
หรือต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบเพื่อสั่งการแก้ปัญหาอีกทอดหนึ่ง!
โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติของตำรวจที่ปัจจุบันมีข้ออ้างในการทำงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอสารพัด!
แค่สั่งให้จับบ่อนการพนันและแหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย ตำรวจก็ยังไม่ทำเลย!
ฉะนั้น ต่อการแก้ปัญหาโรคระบาดร้ายแรงครั้งนี้ ปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะจัดการแก้ไขอะไรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้อย่างแท้จริงหรือไม่?
เนื่องจากปัจจุบัน แม้กระทั่งรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเหมือนเมื่อครั้งเป็น กรมตำรวจ อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด
ต่างจากอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยลิบลับ
ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีอำนาจสั่งหัวหน้าหน่วยงานและเจ้าพนักงานทุกกระทรวงทบวงกรมในจังหวัดและอำเภอได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยพิบัติได้
ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนถือว่าผิดกฎหมายและวินัยราชการอย่างร้ายแรง มีโทษไล่ออกปลดออกจากราชการ
การใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.บรรเทาสาธารณภัยนี้ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คือ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร สามารถควบคุมสถานการณ์และบริหารจัดการงาน รวมทั้ง ใช้งบประมาณพิเศษในสถานการณ์ภัยพิบัติจำนวน 50 ล้านบาท ช่วยชีวิตทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำขุนน้ำนางนอนให้อยู่รอดปลอดภัยออกมาได้ เลื่องลือไปทั่วโลก
ดังนั้น ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ถือได้ว่า มีความร้ายแรงต่อชาติและประชาชนกว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติ หมูป่าติดถ้ำ นับพันนับหมื่นเท่า
แม้ไม่เอา พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมาใช้ แต่เหตุใดจึงไม่กำหนดลงไปท้ายประกาศให้ชัดเจนว่า
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งหน่วยงานและเจ้าพนักงานทุกกระทรวงทบวงกรมเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงครั้งนี้ได้
มอบทั้งความรับผิดชอบและดาบอาญาสิทธิ์ให้เด็ดขาดชัดเจนไป
ไม่ใช่ขู่แต่ว่า ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องย้าย
แต่ให้แค่ ดาบสั้น ไปใช้ในการควบคุมข้าราชการทุกหน่วยในจังหวัดท่ามกลางสถานการณ์ที่ถือว่าเป็นภัยพิบัติใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติทั่วโลกในรอบร้อยปี
จึงไม่น่าแปลกใจที่การปฏิบัติแค่เรื่อง “ตั้งด่าน” เพื่อสร้างอุปสรรคในการสัญจรต่อประชาชนตามถนนหนทางต่างๆ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและในฐานะที่เป็น ผอ.ศอช.
ได้ปรากฏคลิปตำรวจยศ พันตำรวจเอกในพื้นที่ แห่งหนึ่ง ต่อปากต่อคำเรื่องกลัวติดโรคและกลายเป็นตัวล่อเป้า ไม่คุ้มค่า รวมทั้งได้พูดจาแนะนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาตรวจสอบการปฏิบัติของตำรวจตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้น!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 30 มี.ค. 2563