ปัญหาตำรวจเปิดบ่อน อบายมุข ตู้ม้า นายกรัฐมนตรีต้องจัดการ -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

 

 ก่อนที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ “ผู้บัญชาการทหารบก” จะ สั่งใช้กำลัง ทหารเข้ายึดอำนาจ “ยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ในวันที่ ๒๒ พ.ค.๒๕๕๗

ปัญหาสังคมเรื่องหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนทั้งหญิงชายอย่างร้ายแรง

รวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องยึดอำนาจเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศด้วยก็คือ

ปัญหาแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายทำลายความสงบสุขและศีลธรรมของสังคม

 ทั้งบ่อนการพนัน ตู้ม้า สถานบันเทิงเถื่อน เปิดเกินเวลา ค้ายาเสพติด มีเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วไทยมากมาย!

สาเหตุสำคัญก็เนื่องจากหัวหน้าตำรวจผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ ไปจนกระทั่งส่วนกลาง “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” และมี “พฤติกรรมทุจริต” “รับส่วยสินบน” จนเป็นนิสัย!ทำให้ไม่ได้ดำเนินการ “รักษากฎหมายป้องกันอาชญากรรม” ที่สำคัญอย่างจริงจังตามหน้าที่ของตน

หลังยึดอำนาจ พลเอกประยุทธ์จึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในฐานะหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งหลายฉบับในการปราบปรามแหล่งอบายมุขเหล่านี้

ฉบับแรก ได้ออกหลังยึดอำนาจ เพียง ๔ วัน ก็คือ

ฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ย.๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามมิให้มีการเล่นการพนันผิดกฎหมาย มีใจความสำคัญว่า

๑.ให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มมาตรการและความเข้มข้นในการกำกับดูแลมิให้มีการเล่นการพนันที่ผิดกฎหมายทุกประเภทในพื้นที่รับผิดชอบ  โดยเฉพาะบ่อนการพนัน ตู้ม้า สลากกินรวบ ฯลฯ

 ๒.กรณีที่มีการปล่อยปละละเลย หรือมีข้าราชการผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบให้มีการเล่นการพนันผิดกฎหมายในพื้นที่รับผิดชอบ จะต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาจนถึงที่สุด!

๓.ให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานผลการปฏิบัติงานประจำวันตามข้อ ๑ ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบอย่างต่อเนื่อ

คำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลให้หน่วยทหารและฝ่ายปกครองไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ หรือกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีทั้ง “หน้าที่” และ “อำนาจ” ในการตรวจตราจับกุมบ่อนการพนัน คู่ขนานไปกับตำรวจ ในทุกพื้นที่ขึ้นมาทันที

แต่ที่ขาดและมีปัญหาคาราคาซังยังไม่มีใครแก้ไขอยู่ก็คือ”อำนาจสอบสวนดำเนินคดี”

หลังออกคำสั่ง ทหารรวมทั้งฝ่ายปกครองได้มีผลงานการจับบ่อนพนันขนาดใหญ่และตู้ม้าทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ได้ผู้กระทำผิดและของกลางมากมาย

รวมเฉพาะตู้ม้าก็มากกว่าหนึ่งหมื่นตู้! อุปกรณ์การพนันอีกจำนวนหนึ่ง

ซึ่งทั้งหมดได้ถูกนำไปทำลาย โดยใช้รถแบ็กโฮทุบให้เสียหายเพื่อให้นำกลับไปใช้อีกไม่ได้

แต่ความที่การสอบสวนถูกผูกขาดด้วยอำนาจของตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ไม่เคยมีการขยายผลไปถึง ตัวการใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังไม่ว่าจะเป็นคนนอกเครื่องแบบ หรือ “ในเครื่องแบบ” แต่อย่างใดอย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นปัญหาบ่อนการพนันและตู้ม้าทั่วไทยจึงเงียบสงบ  หายไปจากสถานบันเทิงและชุมชนต่างๆ พักใหญ่

อาจจะเรียกว่า “แทบจะสูญพันธุ์” ไปเลยก็ได้

ทำให้สังคม โดยเฉพาะในชุมชนที่ยากจนต่างๆ เกิดความสงบสุขขึ้นอย่างมาก

และต่อมาอีกประมาณปีเศษ ก็ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ ๒๒/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๒ ก.ค.๒๕๕๘ กำชับให้ผู้รับผิดชอบปราบปราม สถานบันเทิงเถื่อน หรือเปิดเกินเวลาฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นแหล่งขายและเสพยาเสพติดสารพัด

มีความใน ข้อ ๗ ตอนท้าย “ขู่” เอาไว้ว่า

“…………ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทำการหรืองดเว้นการกระทำตามกฎหมาย ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางอาญาและทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว”

“กรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้นำคำสั่ง คสช.ที่ ๖๙/๒๕๕๗ เมื่อ ๑๘ มิ.ย.๕๗ เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบมาใช้บังคับ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า

ข้อ ๑ ให้ทุกส่วนราชการ กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในหน่วยงาน โดยมุ่งเน้นสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้

ข้อ ๒ ในการมีการกล่าว หาหรือเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบ……ให้บังคับใช้มาตรการทางวินัย ทางปกครอง และกฎหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว

ข้อ ๔ กรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย  ไม่ดำเนินตามตามข้อ ๒ ให้ถือเป็นความผิดวินัยหรืออาญาแล้วแต่กรณี

คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ ได้ทำให้ฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจจับกุมสถานบันเทิงผิดกฎหมายอย่างสมบูรณ์ขึ้นเช่นเดียวกับการจับกุมบ่อนการพนันด้วยเช่นกัน

และทำให้ปัญหาทั้งบ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายในทุกพื้นที่ทั่วไทย ปิดสนิทกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา

จนเวลาผ่านไปประมาณ ๔ ปี ในช่วงปลายปี ๒๕๖๑

 ทุกอย่างได้กลับสู่สภาพเดิม โดยเฉพาะสถานบันเทิงผิดกฎหมายได้เริ่มก่อน

ตำรวจผู้ใหญ่ถือหลักว่า ฝ่ายปกครอง “มีปัญญาจับ จับไป”

เมื่อมีการจับในพื้นที่ใดแล้ว ผบช.พื้นที่ ก็จะออกคำสั่งให้หัวหน้าตำรวจระดับสถานีและรองฯ ผู้รับผิดชอบสี่ห้าคนไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการภาคและจังหวัด

เล่นละครตบตานายกรัฐมนตรี” รวมทั้ง “สื่อมวลชน” และประชาชนกันระยะหนึ่ง

เมื่อผู้คนลืมเลือนก็ค่อยสั่งให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง

เดิม หรือรอย้ายเพื่อไป “หากิน” ที่ใหม่ต่อไป

สำหรับ บ่อน และตู้ม้า ได้กลับมาเกือบเต็มรูปเหมือนเดิมตั้งแต่ ช่วงกลางปี ๒๕๖๒

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการเลือกตั้ง ที่ฝ่ายทหารได้ลดบทบาทในการตรวจจับแหล่งอบายมุขทุกประเภทไปอย่างสิ้นเชิง

เหลือแต่ฝ่ายปกครอง ซึ่งตำรวจเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอนั้น  ไม่ได้น่ากลัวอะไร!

เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในสภาพ ไม่อยากมีปัญหากับฝ่ายตำรวจ

เพราะรัฐบาลไม่ได้มอบหมายหรือแม้กระทั่งสั่งการให้มีอำนาจปกครองบังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนเงินเดือน แต่งตั้งโยกย้ายหรือลงโทษทางวินัยอะไร ตำรวจคนใดในจังหวัดอย่างแท้จริง

อะไรพอทนได้ก็พยายาม “หลับหูหลับตา ทนๆ ไป”!

เว้นแต่เรื่องใดได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจนทนไม่ไหว ก็ใช้วิธีแอบโทรศัพท์แจ้งให้ชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง ไปจับแทนเป็นคราวๆ ไป!

อย่างกรณีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายสิริ  เจนจาคะ ส.ส.เขต ๙ กรุงเทพมหานคร นำประชาชนอาสาสมัครจำนวนหนึ่งไปตรวจจับตู้ม้าตามที่ประชาชนร้องเรียนให้ข้อมูลมาว่ามีอยู่ในแต่ละอำเภอมากมาย

แค่อำเภออุทัยอำเภอเดียว พบตู้ม้าในซอยแห่งหนึ่งถึง ๗ ตู้

สื่อรายงานข่าวว่า เป็นบ่อนตู้ม้าของ “นายพลตำรวจ” คนหนึ่ง ซึ่งแผ่ขยายไปหลายจังหวัด โดยเฉพาะเขตปริมณฑล

ซึ่งประชาชนทั้งในจังหวัดและอีกหลายพื้นที่รู้กันดีมานานแล้วว่า คือใคร?

 เรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรีควรสั่งให้ “อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ” ใช้อำนาจตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา ๒๑ (ก) และ (จ)

เร่งสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานนำมาประกอบการดำเนินคดีอาญา

 และลงโทษทางวินัย “ไล่ออก ปลดออก” จากราชการไปให้จงได้.

 

ปัญหาตำรวจเปิดบ่อน
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 20 ม.ค. 2563

About The Author