‘พ.ต.อ.ไพรัตน์’ยื่นฟ้อง’พ.ต.อ.กฤษณะ’หมิ่นประมาทกล่าวหาปลุกปั่นไม่ให้ตัดผมสั้นตามระเบียบ ยันจเรตำรวจมีภาพถ่ายเป็นหลักฐานว่าตัดทรงผมเรียบร้อย

เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2563 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์  รองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9  (รอง ผบก.อก ภ.9) อดีตรอง ผบก.ภ.จว.เพชรบุรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้โจทก์เคยรับราชการอยู่ในตำแหน่งรองผู้บังคับการวิทยาลัยการตำรวจ กองบัญชาการศึกษา ในห้วงตั้งแต่ 16 พ.ค. 2560 -15 มี.ค. 2561 มีหน้าที่ความคุมกำกับดูแล ปกครองข้าราชการตำรวจ ที่เข้ามารับการอบรมในหลักสูตรผู้กำกับการ หลักสูตรสารวัตร หลักสูตรอำนวยการ ซึ่งจะเข้ามาฝึกอบรมที่วิทยาลัยตำรวจประจำแต่ละปี โดยโจทก์ได้ทำหน้าที่ควบคุมในห้วงเวลาดังกล่าว ขณะเกิดเหตุจำเลยชื่อ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ เป็นรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่ให้ข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวกับกิจการตำรวจ นำเสนอเรื่องราวที่สื่อและประชาชนให้ความสนใจ

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 เวลากลางวัน หลังจากจำเลยได้ดูได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของโจทก์กับรายการทีวี ที่โจทก์ให้สัมภาษณ์ว่าถูกย้ายจากภาค 7 ไปอยู่ภาค 9 จึงจะไปดำเนินคดีกับ ผบ.ตร.ที่กลั่นแกล้งย้ายโจทก์ โดยมีเหตุจูงใจโกรธเคืองว่าโจทก์ไม่ไว้ทรงผมให้ถูกระเบียบ ก็ได้มีนักข่าวมาสัมภาษณ์จำเลย เพราะจำเลยเป็นรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงกรณีที่โจทก์ถูกย้าย จำเลยได้ยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความโจทก์โดยการโฆษณาว่าจำเลยทั้งในฐานะรองโฆษกและในฐานะส่วนตัวได้บังอาจใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณา ให้สัมภาษณ์ออกสื่อหลายช่องทาง ทั้งหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์และสถานีโทรทัศน์ อีกทั้งช่องทางกลุ่มไลน์ทั่วๆ ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยยืนยันข้อเท็จจริงกับสื่อมวลชนกรณีที่โจทก์ถูกย้ายจากภาค 7 ไปอยู่ภาค 9 ว่า”…ต้องย้อนกลับไปดูว่าตัวเอง (หมายถึงโจทก์) ที่ถูกโยกย้ายไปตัวเอง (หมายถึงโจทก์) มีพฤติกรรมอย่างไรไปดูสิ่งที่ผ่านมานั้นมันมีปัญหาอะไร… เขาสั่งให้ตัดผมจนมีคำสั่งออกมาเป็นระเบียบการที่ตัวเอง (หมายถึงโจทก์) ไปพูดปลุกปั่นให้กับนักเรียนที่เข้าอบรมหลักสูตรผู้กำกับที่วิทยาลัยการตำรวจนั้น ไปปลุกปั่นว่าไม่ต้องไปตัดผมตามระเบียบมันใช้ได้หรือไม่อย่างไร มีวินัยหรือเปล่า คุณต้องไปดูด้วย..” ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น  ซึ่งความจริงคือโจทย์ไม่เคยปลุกปั่นให้นักเรียนที่เข้าอบรมผู้กำกับ หรือหลักสูตรใดๆ ที่เข้ามารับการอบรมและอยู่ในความปกครองโจทก์แต่อย่างใด

ในห้วงเวลาดังกล่าว ที่โจทก์ดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการวิทยาลัยการตำรวจนั้น คำสั่งที่ออกมาเป็นระเบียบตามที่จำเลยยืนยันในข้อเท็จจริงใส่ความโจกท์ นั้น คือ วิทยุในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด่วนที่สุดที่ 0007/01 ลงวันที่ 15 พ.ย.2560 ความว่า “ผบ.ตร. จึงแจ้งให้กำชับข้าราชการตำรวจฝ่ายปฏิบัติการพื้นที่ทุกนาย ต้องแต่งกายและตัดผมสั้นเรียบร้อย…..โจทก์ก็ชี้แจงให้ ผู้รับการอบรมขณะนั้นปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวคือ “ตัดผมสั้นเรียบร้อย” และโจทก์เองก็ตัดผมสั้นเรียบร้อย หลักฐานที่ยืนยันได้ว่าโจทก์และนักเรียนที่เข้ารับการอบรมทั้งหลักสูตรผู้กำกับและหลักสูตรต่างๆ รวมจำนวนทั้งสิ้นที่อยู่ในความปกครองของโจทก์จำนน 859 นาย ได้ถูกตรวจสอบโดยคณะกองตรวจสอบราชการ2  ที่จเรตำรวจแห่งชาติส่งเข้ามาทำการสุ่มตรวจในวันที่ 7 ก.พ.2561 คณะตรวจสอบของจเรตำรวจได้ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานว่า 859 นาย ทรงผมเรียบร้อย และคณะตรวจสอบก็ถ่ายภาพไว้ รวมทั้งถ่ายภาพทรงผมของโจทก์ในวันดังกล่าวด้วยและแจ้งว่าทรงผมโจทก์สั้นเรียบร้อยเป็นไปตามระเบียบ รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือระเบียบคำสั่งและบันทึกประจำวัน เอกสารท้ายคำห้องหมายเลข3

การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง ถูกเพื่อนข้าราชการตำรวจและประชาชน รวมทั้งหน่วยงานราชการอื่นๆ สื่อมวลชน อีกทั้งเพื่อนนักเรียนนักศึกษา วปอ. รุ่นที่ 62 ที่โจทก์ร่วมศึกษาอยู่ดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมความนิยม โจทก์เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ของการเป็นข้าราชการ ถูกมองว่าเป็นคนไม่มีวินัย กระด้างกระเดื่อง ทำผิดระเบียบ อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา

ต่อมาศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.94/2563 นัดไต่สวนมูลฟ้องว่าจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้หรือไม่ ในวันที่ 30 มี.ค.เวลา 13.00 น.

ทางด้านพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว ว่า เพิ่งทราบเรื่องดังกล่าวจากสื่อมวลชน เป็นเรื่องปกติและเป็นสิทธิ์ของเขาที่สามารถทำได้ คงไม่ได้ไปตอบโต้อะไร ทั้งนี้ตนไม่มีความกังวลกับเรื่องดังกล่าว ก็ยังคงทำหน้าที่ปกติ

About The Author